ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

วันที่ลงข่าว: 01/07/19

          คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติ แห่งชาติ ได้พิจารณาศึกษาบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อเชื่อมโยงงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. อย่าง ไร้รอยต่อ และขับเคลื่อนให้มีบริการสำหรับคนพิการกระจายลงไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากที่สุด

          การปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การปกครองหน่วยย่อยของประเทศนอกเหนือจากรัฐบาลกลางเป็นรูปแบบของการ กระจายอำนาจที่เปิดโอกาสให้ประชาชนกลุ่มย่อยในแต่ละ ท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในการเลือกผู้นำของตน ให้เข้ามาทำหน้าที่ บริหารจัดการสนองความต้องการ พร้อมทั้งแก้ปัญหาของประชาชน สืบเนื่องจากปัญหาการทำงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งปัญหาการให้บริการคนพิการในรูปแบบต่างๆ รวมถึง การจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไปแล้วกว่า ๑,๙๓๙ แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒) แต่ยังพบปัญหาการเบิกจ่ายเงินของ อปท. ในการดำเนินงาน ด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไป เพื่อต้องการให้บริการคนพิการถูกกระจายออกไปในทุกพื้นที่ของประเทศ ดังนั้น จึงควรร่วมกันพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้การขับเคลื่อนกฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนดได้อย่างแท้จริง

อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีที่มาจากกฎหมาย ๓ ประเภท ได้แก่ (๑) กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (๒) กฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น และ (๓) กฎหมายอื่น ทั้งนี้ การดำเนินงาน ด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่น คือ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่ได้ให้อำนาจหน้าที่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ ดังนี้

          "มาตรา ๒๑ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้ราชการส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ ข้อกำหนด ระเบียบหรือประกาศ แล้วแต่กรณี ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

          ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ราชการส่วนท้องถิ่น อาจจัดสรรงบประมาณของตนเองเพื่อตั้งเป็นกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการส่วนท้องถิ่นได้ ทั้งนี้ การบริหารกองทุน การจัดการกองทุน และการอนุมัติการจ่ายเงิน ราชการส่วนท้องถิ่นอาจนำระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดมาใช้บังคับโดยอนุโลมก็ได้"

          พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖ ถือเป็นฐานอำนาจหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในส่วนของกฎหมายอื่น โดยองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นสามารถขอจัดตั้งเป็นศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ตามมาตรา ๒๐/๓ และรับเงินสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งในรูปแบบของเงินอุดหนุน รายหัวและเงินอุดหนุนรายโครงการ นอกจากนี้ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นยังสามารถออกข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ ข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนา คุณภาพชีวิตคนพิการ และสามารถจัดสรรงบประมาณของตนเอง เพื่อตั้งเป็นกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ส่วนท้องถิ่นได้ ตามวรรคสองของมาตรา ๒๑ ด้วย อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้แล้ว แต่การดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม กฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ยังพบ ประเด็นปัญหาในการดำเนินงาน ได้แก่

          ๑.ปัญหาระเบียบการเบิกจ่ายเงินขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการอุดหนุนจากกองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการกับการตรวจสอบการ ใช้จ่ายเงินของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ทั้งนี้ มีความ พยายามในการหารือร่วมกันเพื่อนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นควรเร่งออกระเบียบการใช้เงินสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความชัดเจนในการเบิกจ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในขณะรอการออกระเบียบดังกล่าว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นควรให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเงินอุดหนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหนังสือแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เบิกจ่ายเงินตามระเบียบเบิกจ่ายเงินของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงาน ด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและเป็นหลักฐาน ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน ของสำนักงานการตรวจ เงินแผ่นดินด้วย

          ๒.ปัญหาและอุปสรรคการใช้เงินงบประมาณของราชการส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการส่วนท้องถิ่น ตามวรรคสองของมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖ เพื่อรับเงินอุดหนุนที่เป็นเงินสมทบจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการกรณีดังกล่าว จึงควรติดตามเพื่อให้มีการปรับปรุงระเบียบปัจจุบันหรือ ออกระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนา คุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยการบริหารกองทุน การจัดการกองทุน การอนุมัติการจ่ายเงิน และการสมทบกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการส่วนท้องถิ่น ในขณะที่ยังไม่มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการนั้น

          คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติ แห่งชาติ ได้พิจารณาศึกษาสถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรค ของการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นว่าเพื่อผลักดัน การดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการให้กระจายตัวลงไปในพื้นที่ทั่วประเทศ และส่งเสริมกลไกการทำสิทธิให้เป็นจริงผ่านบริการในลักษณะต่างๆ รวมถึง การจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไปโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดขึ้นได้จริง เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่อบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ดังนี้๑.กระทรวงมหาดไทย๑.)ควรเร่งดำเนินการจัดทำ "ร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการตั้งงบประมาณขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นเพื่อสมทบกองทุน พ.ศ. ...." เพื่อใช้เป็นระเบียบ กลางสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน และการสมทบเงินกองทุนต่างๆ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาการเบิกจ่ายเงินขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในระยะยาว โดยเพิ่มเติมชื่อและสาระสำคัญของระเบียบดังกล่าวให้ครอบคลุมทั้งการสมทบกองทุนและการจัดตั้งกองทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกำหนดนิยาม "กองทุน" ให้หมายความรวมถึง กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

          ทั้งนี้ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการตั้งงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสมทบกองทุน พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งประกาศ ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๒ ได้กำหนดนิยาม "กองทุน" หมายถึง ทุนหมุนเวียนที่จัดขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ และมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการจัดบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ดังนั้น การออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว จึงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่อย่างใด จึงเห็นควรให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการออกระเบียบให้ครอบคลุมทั้งการจัดตั้งกองทุน การบริหารกองทุน การจัดการกองทุน การอนุมัติการจ่ายเงิน การสมทบกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้วย

 

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม  หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

 

 

ที่มาของข่าว www.ryt9.com/s/nnd/3008904
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก