ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รางบัวโมเดล มจธ.ราชบุรี จุดเริ่มต้นการสร้างชุมชนเข้มแข็ง

วันที่ลงข่าว: 01/07/19

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) หรือ มจธ.ราชบุรี ได้ดำเนินการโครงการรางบัวโมเดล โดยการนำเอาความรู้ ความสามารถของบุคลากร ร่วมกับนักศึกษาของมจธ.เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนในพื้นที่ ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เพื่อเป็นโมเดลการทำงานในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ในอนาคตรางบัวโมเดลจะเป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อขยายไปยังชุมชนพื้นที่อื่นๆ ด้วยการพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวมใน 5 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสังคม สร้างชุมชนต้นแบบให้พื้นที่อยู่ด้วยตนเองได้

          ผศ.ดร.มนัญญา เพียรเจริญ อาจารย์ประจำมจธ.ราชบุรี  เล่าให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นของรางบัวโมเดลนั้น เริ่มในปี 2560 โดยนำเอาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ในแบบองค์รวมของช่องสาริกาโมเดล อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ของเครือเบทาโกรที่ดำเนินการอยู่แล้วมาเป็นระยะเวลานาน โดยคุณวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือเบทาโกร ได้ให้คำปรึกษา และทางมจธ. ราชบุรี ได้นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่รางบัวโมเดล จังหวัดราชบุรี งานในพื้นที่ตำบลรางบัว เรามุ่งเน้นเรื่องชุมชนเป็นหลัก การพัฒนาส่งเสริมอาชีพหลักและอาชีพเสริมของชุมชน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย การทำบัญชีครัวเรือน สุขภาพของคนในครอบครัว สิ่งแวดล้อมบริเวณบ้าน เป็นอย่างไร รวมทั้งชุมชนมีผู้พิการ จำนวนมากน้อยเท่าไหร่ การส่งเสริมการศึกษาตามช่วงวัย การจัดการขยะให้ถูกวิธี การให้ความรู้เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่ดีเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหาความยากจน สร้างความรู้ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชุมชน

ด้านการเกษตร อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล และส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกตามกระบวนการขั้นตอนตามมาตรฐานทางวิชาการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มผลผลิต รวมถึงมองหาเกษตรกรต้นแบบ A “หัวไว ใจกล้า พร้อมถ่ายทอดความรู้” เป็นเกษตรกรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อถ่ายทอดให้เกษตรกรคนอื่น รวมถึงการผลักดันให้เกิดการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ผ้าทอตีนจกสินค้าโอทอปขึ้นชื่อของหมู่ 1 รางอาว และหมู่ 6 รางบัว เพื่อออมเงินและกู้ยืมได้เมื่อสมาชิกขาดเงินทุนหมุนเวียน

          รางบัวโมเดล เป็นโครงการมหาวิทยาลัยกับชุมชนของ มจธ. หรือ Social Lab เพื่อสร้างการเรียนรู้นักศึกษา บุคลากร อาจารย์ และนักวิจัย ร่วมกับชาวบ้านในชุมชน ให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่การทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อพัฒนาโจทย์และแก้ปัญหา เช่น การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งพบว่ามีจำนวนประมาณ 350 คน นักศึกษาจะได้รับโจทย์ในการให้ประดิษฐ์ผลงานนวัตกรรม เพื่อช่วยเหลือในภาคการศึกษานี้  เป็นต้น

ที่มาของข่าว https://www.banmuang.co.th/news/education/155482
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก