ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เปิดเวทีคลุกวงใน "ประชากรกลุ่มเฉพาะ" ได้โปรดฟังเสียงพวกเขาอีกครั้ง..

วันที่ลงข่าว: 13/06/19
          "คนในสังคมเรายืนไม่เท่ากัน ยังมีคนที่เป็นผู้แพ้ คนที่เข้าไม่ถึงอะไรเลย ถ้าคุณคิดว่าคุณสบายแล้วจะลอยตัวเฉพาะกลุ่มตัวเอง โดยที่ไม่มองคนข้างหลัง หรือชายตามองว่าพวกเขาจะเป็นอย่างไร ปล่อยให้ไร้การศึกษา ไม่มีบ้าน หลังชนฝาหมาจนตรอก พวกเขาจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาสังคมมันก็จะกลับมาหากลุ่มคนที่คิดว่าฉันเหนือกว่า" นี่คือปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความน่าเป็นห่วงที่ "ภรณี ภู่ประเสริฐ" ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ฉายให้เห็นภาพ ก่อนจะสะท้อนผลที่ตามมา หากสังคมไทยยังเต็มไปด้วยทัศนคติไม่เป็นมิตรต่อคนกลุ่มนี้
คนพิการตาบอดวิ่ง โดยมีไกด์รันเนอร์คอยช่วยเหลือ
          "ถ้าคนทั่วไปยังมีทัศนคติที่ไม่ดีกับพวกเขา ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำมันขยายกว้างขึ้น ยกตัวอย่างผู้มีปัญหาสถานะบุคคล แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ถ้าพวกเขากลับประเทศ ใครจะทำงานบ้าน ใครจะขายของให้ คนไทยแรงงานไทยไม่พอแล้ว ประเทศไทยอยู่ไม่ได้แล้วถ้าไม่มีคนกลุ่มนี้ เราจะปล่อยให้คนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่โดยที่ไม่ให้การศึกษาก็คงไม่ได้ เราถึงต้องทำงานกับพวกเขา ต้องให้การศึกษาเพื่อให้มีความรู้ นั่นเพราะเราหลายคนต้องฝากลูก ฝากท้องไว้กับพวกเขา"
          ไม่เพียงแต่ประชากรกลุ่มนี้ ยังมีประชากรกลุ่มเฉพาะอีกหลายกลุ่มที่ต้องเผชิญกับปัญหาหลากหลาย และซับซ้อน โดยที่ผ่านๆ มา หลายภาคส่วน รวมไปถึงสำนักงานสนันสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พยายามเข้ามาช่วยลดภาระ ด้วยการคิด และแก้ปัญหาที่ละเปราะ เพื่ออุดช่องว่างในหลายๆ เรื่อง เพื่อให้เกิดการรับลูกของหน่วยงานที่ควรจะทำ หรือเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนนโยบาย
การประชุมวิชาการที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ก็เช่นกัน ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. บอกว่า เป็นการประชุมกึ่งวิชาการในชื่อ "เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ (Voice of the voiceless : the vulnerable populations)" เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนรู้ชุดประสบการณ์ร่วมกันระหว่างเครือข่ายที่ทำงานกับสสส. พร้อมกับเปิดหู เปิดใจฟังรับฟังปัญหาจากคนตัวเล็กใน 8 ประชากรกลุ่มเฉพาะ ได้แก่ คนไร้บ้าน คนพิการ แรงงานนอกระบบ ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล และประชากรข้ามชาติ ผู้สูงอายุ ผู้ต้องขัง ผู้หญิงกลุ่มเปราะบาง และมุสลิม เพื่อเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนข้อเสนอนโยบาย หรือข้อเสนอแนวทางให้เกิดการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะ
          "เราเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายได้คุยกัน แลกเปลี่ยนกัน ให้กำลังใจกัน แต่ในขณะเดียวกันเสียงที่เราพยายามจะบอกมาตลอด เราไม่อยากได้ยินกันเองแล้ว เราอยากจะบอกกับสังคม คนที่เป็นเจ้าของเรื่อง ผู้กำหนดนโยบาย รัฐบาล สังคม คนทั่วไป ใครทำอะไรได้บ้าง รัฐ หรือเจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาจัดการเรื่องนี้ เวลามันผ่านไป 10 ปี เปลี่ยนคน เปลี่ยนนโยบาย ภารกิจของแต่ละหน่วยงาน พวกเขายังคงรับรู้หรือเปล่าว่าเราเคยส่งเสียงถึงปัญหาของเราไปแล้ว เช่น รถเมล์ชานต่ำที่เราเคยพูดไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว พอเปลี่ยนทีมจะบอกว่าไม่เคยได้ยินมันมาก่อน ใช่เหรอ หรือว่าสิทธ์สถานะที่เราเคยเรียกร้องมาตั้งกี่สิบปีแล้ว คุณลืมมันไปหรือยัง พวกนี้เป็นก้อนหินในรองเท้า ไม่มีใครอยากฟังมันเท่าไร มันเป็นปัญหาที่ซับซ้อน"
          อย่างไรก็ดี การทำงาน และแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายเดียว คนทำงาน หรือหน่วยงานในแต่ละพื้นที่ก็มีความสำคัญเช่นกัน
"เรื่องต่างๆ นี้ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่รัฐ ในระดับพื้นที่ก็มีปัญหาเช่นกัน ถ้าดึงทรัพยากรในพื้นที่มาช่วยกัน มันจะช่วยผลักเรื่องนี้ให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อไปได้ เราเชิญท้องถิ่นมากกว่า 30-40 แห่ง เราคิดว่าทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะมันเกินเลยจากบทบาทของสสส.ไปเยอะ ซึ่งเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ภาวะการจ้างงาน ต้องช่วยกันแก้จากหลายๆ ฝ่าย สสส.ก็เชิญหลายฝ่ายเข้ามาในการประชุมครั้งนี้" ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.บอก และเผยต่อไปว่า
          "ปัญหาพวกนี้ไม่ใช่เรื่องฉาบฉวย การเปิดพื้นที่ครั้งนี้จะช่วยวิเคราะห์ให้เห็นลึกไปกว่านั้นว่าสถานการณ์แต่ละเรื่องเป็นอย่างไร ความพยายามที่แต่ละคนพยายามเคลื่อนคืออะไร มีเครือข่ายที่เขาทุ่มเท่ทั้งชีวิต ตอนนี้มีอยู่ 8 กลุ่มประชากรที่จะมีทีมงัดสถานการณ์ปัญหาของพวกเขาให้เห็นชัดขึ้น พูดถึงแนวทางแก้ปัญหา และการมีส่วนร่วมของคนในสังคมว่าจะช่วยแก้ปัญหาอะไร เราไม่อาจจะบอกได้ทุกอย่างว่าคนในสังคมต้องมาช่วยอะไร อย่างน้อยเขาจะเข้าใจ และมีทัศนคติเชิงบวกมากขึ้น ไม่อคติกับคนกลุ่มนี้ 
          ยกตัวอย่าง คนไร้บ้าน หากเปิดโอกาสให้กับพวกเขา เขาก็อาจจะมีที่ยืนในสังคม เช่นเดียวกับผู้ต้องขัง เราบอกว่าเรือนจำไม่ใช่ที่กุมขัง และทำให้เขากลายเป็นนักโทษซ้ำแล้วซ้ำอีก หากคนในสังคมไม่เปิดพื้นที่ เปิดใจ เปิดโอกาสให้กลับคืนสู่สังคม ยากมากที่เขาจะไม่กลับเข้าไปอีกครั้งหนึ่ง" ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. บอก
          สำหรับงานประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 12-13 มิถุนายน 2562 ณ อิมแพค เมืองทองธานี โดยไฮไลท์วันแรกอยู่ที่กิจกรรมในช่วงเช้า "ปิดตาฟังเสียงของคนที่ยังไม่เคยได้ยิน" ส่วนรอบบ่ายจะแบ่งห้องตามประเด็นสังคมที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน เปิดโอกาสให้ทุกคนได้สัมผัสตัวจริงเสียงจริง และโลกอีกใบของคนกลุ่มนี้, นานาทัศนะต่อคุกไทย : สิ่งที่เห็น กับสิ่งที่ควรจะเป็น และความสำคัญของเรือนจำสุขภาวะ, Self-defense Lab ปฎิบัติการเผือก ตอบโต้การคุกคามทางเพศ เป็นต้น
"ประเด็นคุกคามทางเพศ ทางทีม JDT จะมาสอนวิธีการป้องกันตัวเมื่ออยู่ในภาวะเสี่ยงต้องประเมินความเสี่ยงอย่างไร การต่อสู้ทำอย่างไรได้บ้าง ส่วนอีกห้องจะเป็นปักหมุดจุดเผือก มีที่ไหนบ้างที่ผู้หญิงเคยประสบเหตุถูกคุกคามทางเพศมากกว่าที่อื่นๆ เป็นการช่วยกันคุย ช่วยกันคิด และเปิดใจเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อีกเรื่องคือการถูกบูลลี่ทางโซเชียลฯ หลังจากการถูกคุกคามทางเพศ การใช้คำพูดเสียดสี ด่าทอ พวกเขาผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร ซึ่งสังคมจะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน" ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ยกตัวอย่างกิจกรรมที่ผู้หญิงไม่ควรพลาด
         ส่วนไฮไลท์ในวันที่ 13 มิ.ย. คือการมอบรางวัล 'ภาครัฐขวัญใจประชาชน' โดยภาคประชาสังคมช่วยกันเลือกมามอบให้ 11 รางวัล เพื่อเป็นการขอบคุณที่ทำงานมาด้วยกัน นอกจากนั้นยังมีการเปิดห้อง "ทำวาระกรุงเทพฯ” เพื่อคุยความทุกข์ที่คนเมืองพบเจอร่วมกัน โดยเฉพาะประเด็น "รถสาธารณะ" ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแพง ไม่ทั่วถึง และคนพิการเข้าไม่ถึง เป็นต้น
         ทั้งนี้ นอกจากนิทรรศการ การสาธิต และการเสวนาในห้องต่างๆ แล้ว ภายในงานยังเสิร์ฟความสนุกด้วยวงดนตรีหลากหลาย เช่น คอนเสิร์ต "สินเจริญ" กับ "ผู้ต้องขัง", วงดนตรีผู้สูงอายุที่คัดเลือกในแต่ละภาคมาจัดแสดงมากกว่า 10 วง และที่น่าสนใจคือวงดนตรี "เบเน็ตตี้" วงดนตรีร็อกรุ่นปู่ที่จะมาปลุกความเฟี้ยวฟ้าว พร้อมเปิดตัว "เบเน็ตตี้ 2 (ผู้หญิง)" ในงานนี้ด้วย
ที่มาของข่าว https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000055416
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก