ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สธ.สตูล เตือนเข้าสู่ฤดูฝนระวังโรคไข้เลือดออก แนะมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค และร่วมสร้างความตระหนักอย่างจริงจัง เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน 15 มิถุนายนของทุกปี

วันที่ลงข่าว: 13/06/19
          สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล เตือนเข้าสู่ฤดูฝนระวังโรคไข้เลือดออก แนะมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค และร่วมสร้างความตระหนักอย่างจริงจัง เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน 15 มิถุนายนของทุกปี
 
          วันที่ 12 มิ.ย. 62  นายแพทย์สมบัติ ผดุงวิทย์วัฒนา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้มีมติร่วมกันกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในประเทศตระหนักในการป้องกันและร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง สำหรับโรคไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะ เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มักพบบ่อยในเด็ก ช่วงอายุ 5-14 ปี อาการของโรคสังเกตุได้ คือ มีไข้สูงลอย ไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียสระยะ 2-5 วัน หน้าแดง ปวดเมื่อยตามตัวและปวดศรีษะ มีอาการเลือดออก เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด มีจุดเลือดออกตามตัว มีภาวะตับโต สังเกตุได้จากการกดเจ็บใต้ชายโครงด้านขวา และภาวะช็อก ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด มักจะเกิดขึ้นในช่วงไข้จะลด ผู้ป่วยมีอาการกระสับกระส่าย ซึม มือเท้าเย็น ความดันต่ำ
 
          ดังนั้นหากรู้ก่อน รู้ทันจะสามารถรักษาโรคไข้เลือดออกได้ ด้วยการเช็ดตัวช่วยลดไข้เป็นระยะ ๆ รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล (ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน หรือไอบรูโปรเฟน เนื่องจากจะทำให้เกล็ดเลือดผิดปกติและระคายกระเพาะอาหาร) ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีภาวะขาดน้ำ และหากผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที นอกจากนี้ภายใน 24-48 ชั่วโมง หากผู้ป่วยมีอาการไข้ลดลง เริ่มรับประทานได้ ไม่ซึม แสดงว่าอาการพ้นขีดอันตรายแล้ว
 
          ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิด 3 โรคซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ ทั้งโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สามารถป้องกันได้ด้วยวิธี 3 เก็บ คือ เก็บบ้าน ให้เป็นระเบียบร้อยทำให้บรรยากาศมีความปลอดโปร่ง เพื่อยุงลายมีที่หลบซ่อน เก็บขยะ เพราะเมื่อฝนตกลงมาอาจเกิดน้ำขังและกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ และเก็บน้ำ เพราะแหล่งน้ำในบ้านอาจกลายเป็นที่ที่ยุงลายใช้แพร่พันธุ์ได้ หากไม่ดูแลให้ดีโดยเฉพาะแหล่งน้ำนิ่งที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ต้องปิดให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำอย่างสม่ำเสมอ หรือเลี้ยงปลาหางนกยูงในแหล่งน้ำเพื่อกำจัดลูกน้ำยุง
 
          นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังมีแอปพลิเคชั่น "พิชิตลูกน้ำยุงลาย" โดยมีฟังก์ชันที่สามารถประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคไข้เลือดออกได้ พร้อมแจ้งผู้ป่วยไข้เลือดออกแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งดาวน์โหลดได้ในระบบปฏิบัติการ Android
 
การปฏิบัติตนและการสังเกตุอาการเมื่อเป็นโรคไข้เลือดออก
ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก