ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: ปัญหาและอุปสรรคการจัดตั้งและการดำเนินงานของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป

วันที่ลงข่าว: 10/06/19

(ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว)

           ๑๒) ประเด็นการสนับสนุนงบประมาณสำหรับศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ซึ่งจะมีการสนับสนุนงบประมาณ ต่างกัน ศูนย์บริการคนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีการสนับสนุนตามขนาดของท้องถิ่น ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก และจะไม่ได้รับการสนับสนุน ค่าตอบแทนบุคลากร ซึ่งจะสนับสนุนงบประมาณเฉพาะในส่วนที่องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มี อาทิ เช่น การประชุมคณะทำงาน ส่วนองค์กรด้านคนพิการ จะมีการสนับสนุน วัสดุ อุปกรณ์ การปรับปรุงสถานที่ นอกจากนี้ ประเด็นการสนับสนุนค่าใช้จ่าย รายหัว สำหรับการจัดบริการให้คนพิการนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษา แต่ในบางบริการซึ่งมีระเบียบ กำหนดไว้แล้ว สามารถดำเนินการจ่ายค่าใช้จ่ายได้เลย อาทิ บริการล่ามภาษามือ บริการผู้ช่วยคนพิการ การปรับปรุง ที่อยู่อาศัยของคนพิการ เป็นต้น

          ๑๓) ประเด็นการมีส่วนร่วมของคนพิการแต่ละประเภทนั้น การดำเนินงานของ พก. ได้เชิญผู้แทนจากคนพิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมโดยตลอด ตั้งแต่การ กำหนดนโยบายไปจนถึงการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งถือเป็น ส่วนที่ดีที่ทำให้ได้รับข้อมูลประกอบการดำเนินงานที่รอบด้าน และเป็นการสร้างพลังให้เกิดความเข้มแข็งในการต่อรองสำหรับการดำเนินงานด้านคนพิการ

          ๑๔) ประเด็นหลักประกันสำหรับคนพิการเพื่อให้ได้เข้าถึงสิทธิ เนื่องจากปัจจุบันมี "ศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด" ครบทุกจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่ดูแลด้านคนพิการในทุกๆ เรื่องอยู่แล้ว ศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดยังต้องมีภารกิจหน้าที่ในการให้บริการคนพิการ จนกว่าจะมีศูนย์บริการคนทั่วไปครอบคลุมใน พื้นที่นั้นๆ อำนาจหน้าที่ของ "ศูนย์คนพิการระดับจังหวัด" ส่วนใหญ่ เป็นอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล หรือ Regulator แต่ได้เปิด ช่องไว้ใน "ข้อ (๖) ให้บริการความช่วยเหลือเพื่อให้คนพิการ เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด เฉพาะในกรณีไม่มีศูนย์ให้บริการในเรื่องนั้นๆ" ซึ่งต้องยอมรับว่าการ จะดำเนินการให้มีศูนย์บริการคนพิการทั่วไปให้เต็มพื้นที่ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้น การเปิดช่องให้ศูนย์บริการคนพิการประจำจังหวัดสามารถทำหน้าที่ให้บริการได้ เนื่องจากข้อจำกัดในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่มีศูนย์บริการคนพิการทั่วไปได้เต็มพื้นที่ เพื่อเป็นหลักประกันให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิคนพิการได้ โดยให้ศูนย์บริการคนพิการประจำจังหวัดได้จัดบริการในเรื่อง นั้นๆ ไปก่อน เมื่อในอนาคตมีศูนย์บริการคนพิการทั่วไปเต็มพื้นที่ และสามารถให้บริการคนพิการได้ครอบคลุมแล้ว ศูนย์บริการ คนพิการระดับจังหวัดก็จะสามารถทำหน้าที่กำกับดูแล Regulator ได้อย่างสมบูรณ์

          ๑๕) ประเด็นการโอนเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับการให้บริการกับคนพิการ จะมีการโอนงบประมาณไปให้จังหวัด และจังหวัดจะนำงบประมาณดังกล่าวไปยังหน่วยงาน ทั้งนี้ ในอนาคตเมื่อมีการจัดตั้งเป็นศูนย์บริการคนพิการ ขั้นตอนการโอนงบประมาณก็มีการดำเนินงานเช่นเดียวกัน คือ พก.โอนไปยังจังหวัด จากนั้นจังหวัดโอนไปยังศูนย์บริการคนพิการทั่วไป และศูนย์บริการคนพิการทั่วไปก็นำไปจ่ายเป็นค่าบริการสำหรับ คนพิการต่อไป โดยการสนับสนุนงบประมาณสำหรับศูนย์บริการคนพิการ เมื่อได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นศูนย์บริการคนพิการแล้ว ศูนย์จะต้องจัดทำแผนการให้บริการและงบประมาณที่ต้องใช้เสนอขึ้นมา ซึ่ง พก. ก็จะอนุมัติตามแผนค่าใช้จ่ายตามที่เสนอ สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับขั้นตอนการขอจดทะเบียนเป็นศูนย์บริการคนพิการของจังหวัดชลบุรี พก.จะรับข้อมูลดังกล่าวเพื่อเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป

          ๑๖) ประเด็นบริการจัดหางานให้แก่คนพิการ พก.ได้หารือกับกระทรวงแรงงานแล้วว่า ศูนย์บริการคนพิการสามารถให้บริการจัดหางานให้กับคนพิการได้ เนื่องจากถือเป็นบริการหนึ่งในหลายบริการของศูนย์บริการคนพิการ แต่การตั้งเป็น "ศูนย์จัดหางาน" ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากขัดต่อกฎหมายของกระทรวงแรงงาน แต่กรณีบริการจัดหางานที่เป็นบริการอย่างหนึ่งของศูนย์บริการ คนพิการสามารถให้บริการได้ แต่จะไปขอเงินสนับสนุนจากกระทรวงแรงงานตามกฎหมายจัดหางานไม่ได้

          ๑๗) ประเด็นการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการมีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารของคนพิการทางการได้ยินนั้น ปัจจุบัน พก. ได้เสนอให้ศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดทุกแห่ง ให้มี ระบบบริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) และในอนาคตจะขยายออกไปยังท้องถิ่นที่จัดตั้งเป็นศูนย์บริการ คนพิการต่อไป

          ๑๘) ประเด็นการให้บริการผู้ป่วยทางจิตที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการ และจำเป็นต้องได้รับบริการและการดูแล อย่างทันท่วงทีนั้น ศูนย์บริการคนพิการสามารถให้บริการได้ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของผู้รับบริการนั้นรวมถึงการดูแลคนพิการที่มีแนวโน้มที่จะพิการด้วย เพื่อให้บริการดูแลรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพ แต่จะต้องเป็นคนไทยที่มีบัตรประจำตัวประชาชน

          ๑๙) แบบการก่อสร้างศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด ซึ่งออกแบบโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อใช้แบบหลักในการก่อสร้าง ภายใต้กรอบวงเงิน ๓๐ ล้าน โดยใช้พื้นที่ ๕ ไร่ แบ่งเป็นตัวอาคารที่ใช้ประโยชน์ ๒ ไร่ อาคารเป็นรูปตัวแอล จำนวน ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นส่วนของการให้บริการคนพิการ เช่น การออกบัตรคนพิการ การให้บริการกู้ยืมเงิน และการให้คำแนะนำ เป็นต้น ส่วนชั้น ๒ เป็นห้องประชุมขนาดใหญ่และเล็ก และมีอาคารสำนักงานใหญ่รวมกัน อาคารหลังนี้เป็นอาคารที่ใช้ประโยชน์รวมกันซึ่งจะจัดสรรพื้นที่ให้กับทุกสมาคมองค์กรคนพิการ และมีพื้นที่เพียงพอในการ จัดสรรพื้นที่ให้แต่ละสมาคมและองค์กรมาใช้พื้นที่ร่วมกัน โดยแบบก่อสร้างนั้นได้ทำการศึกษาวิจัยมาแล้ว จึงขอยืนยันว่าเป็นแบบอาคารที่มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งจะเป็นต้นแบบด้านการออกแบบที่เป็นสากล (Universal Design : UD) และรองรับการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้สำหรับทุกคน

          ๒๐) การอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว ซึ่งมีระเบียบเกี่ยวกับ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายอุดหนุนรายหัว เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา แต่เนื่องด้วยเป็นช่วงเริ่มต้นที่มีความพยายามปรับค่าใช้จ่ายจากรายโครงการจึงยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ซึ่งมีความพยายามปรับแก้ไข ค่าใช้จ่ายรายหัวมาแล้วหลายครั้ง โดยบางรายการสามารถ ประเมินค่าใช้จ่ายเป็นรายหัวได้ เช่น การประเมินศักยภาพคนพิการ และทำแผนรายบุคคลก่อนจัดบริการ จำนวน ๒,๐๐๐ บาท ต่อคน และการฝึกทักษะการสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม จำนวน ๙,๐๐๐ บาทต่อคน เป็นต้น ทั้งนี้ ยังมีความพยามปรับค่าใช้จ่ายรายหัวให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในการให้บริการมากที่สุดต่อไป

          ๒๑) งบประมาณสนับสนุนศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ไม่สามารถเบิกจ่ายย้อนหลังได้ เนื่องจากเป็นเงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการซึ่งระเบียบของ กองทุนกำหนดไว้ไม่ให้ใช้เงินย้อนหลัง ในส่วนปัญหาการส่งเงิน งบประมาณล่าช้า สืบเนื่องมาจากการอนุมัติกรอบเงินของ กองทุนล่าช้า ซึ่งได้มีการหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว แล้ว ปัญหาความล่าช้าการส่งเงินสนับสนุนศูนย์บริการคนพิการทั่วไปนั้น พก.รับทราบและมีความพยายามแก้ไขปัญหา โดยเสนอกรอบวงเงินให้กรมบัญชีกลางอนุมัติมาให้เร็วขึ้น เพื่อแจ้งจังหวัดให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนต้นปีงบประมาณถัดไป

          ๒๒) ปัญหาการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของศูนย์บริการคนพิการทั่วไปที่จัดตั้งโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั้น กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างการออกระเบียบเพื่อแก้ไขปัญหาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้

          ๒๓) ประเด็นแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของศูนย์บริการคนพิการทั่วไปของแต่ละจังหวัด ที่ยังมีความแตกต่างกันนั้น พก. พร้อมรับประเด็นนี้ไปซักซ้อมการทำงานของจังหวัด ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตามข้อเท็จจริงเงินกองทุนไม่สามารถใช้ย้อนหลังได้ แต่มีพยายามแก้ไขความล่าช้า โดยอนุมัติกรอบวงเงินให้เร็วขึ้น ในอดีตแม้จะมีกรอบวงเงินลงไปที่จังหวัดแล้ว จังหวัดก็ยัง ไม่กล้าอนุมัติ ต้องการให้ส่งเงินลงไปก่อน แต่ต่อมาได้มีคำสั่งปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้จังหวัดอนุมัติจ่ายเงินเพื่อดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินที่ได้รับการจัดสรรประจำปีหรือที่ได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมได้เลย

          ๒๔) ประเด็นข้อเสนอให้มีการทบทวนปรับปรุงระเบียบเงินอุดหนุนนั้น พก.เห็นด้วย ต่อข้อเสนอแนะให้มีการทบทวนเงินอุดหนุนและกรอบการใช้จ่ายดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาเป็นช่วงเริ่มต้นรายการค่าใช้จ่ายใช้เทียบเคียงกับรายการค่าใช้จ่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ปัจจุบันหากมีหลักเกณฑ์ที่ใช้ยืนยันได้ ก็สามารถปรับปรุงให้สอดคล้องกับการให้บริการจริงและปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันได้ ทั้งนี้ พก. พร้อมจะรับเรื่องดังกล่าวไปหารือในแต่ละสมาคมคนพิการ และประสานให้แต่ละสมาคมทำแผนรายจ่ายการอุดหนุนรายหัวตาม ความต้องการจำเป็นตามประเภทความพิการ เพื่อนำมาทบทวนและขออนุมัติปรับปรุงแก้ไขระเบียบดังกล่าวต่อไป

 

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม  หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

 

 

ที่มาของข่าว https://www.ryt9.com/s/nnd/3000137
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก