ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: ปัญหาและอุปสรรคการจัดตั้งและการดำเนินงานของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป

วันที่ลงข่าว: 10/06/19

          คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติ แห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ได้พิจารณาศึกษาติดตามการดำเนินงานของศูนย์บริการ คนพิการทั่วไป ผลการพิจารณาศึกษาและลงพื้นที่รับฟัง ความคิดเห็นของคณะอนุกรรมาธิการ พบปัญหาและอุปสรรคการจัดตั้งและการดำเนินงานของศูนย์บริการคนพิการทั่วไปดังนี้

          ๑.กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ๑) ศูนย์บริการคนพิการ ถือเป็นนวัตกรรม เป็นเรื่องใหม่ เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากหลาย หน่วยงาน ทั้งส่วนราชการ ภาคเอกชนหรือภาคประชาชนที่เข้ามาร่วมกันดำเนินงาน และการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการเป็นไปตามมาตรา ๒๐/๓ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยกำหนดให้ มีการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการทุกระดับให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และ ได้กำหนดประเภทของศูนย์บริการคนพิการไว้ ๒ ประเภท คือ (๑) ศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ดำเนินงาน ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับคนพิการทั้งจังหวัด อาทิ การออกบัตรประจำตัว คนพิการ การให้บริการข้อมูลข่าวสาร บริการผู้ช่วยคนพิการ บริการล่ามภาษามือ การซ่อมแซมและพัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นต้น ซึ่งจะให้บริการในพื้นที่ที่ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ยังครอบคลุมไม่ถึงในพื้นที่นั้นๆ แต่หากในพื้นที่ใดที่มีศูนย์บริการคนพิการทั่วไปแล้ว ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปก็จะทำหน้าที่ในการให้บริการคนพิการแทน และ (๒) ศูนย์บริการ คนพิการทั่วไป โดยราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ และองค์กรด้านคนพิการหรือองค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่ คนพิการซึ่งได้รับรองมาตรฐานตามมาตรา ๖ (๑๐) สามารถยื่นขอตั้งเป็นศูนย์บริการคนพิการทั่วไปได้ ตามสถานที่ตั้งของศูนย์บริการนั้น โดยกรุงเทพมหานครยื่นต่ออธิบดีกรมส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และในจังหวัดอื่นๆ ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปคล้ายเป็นการย่อขนาดของศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดกระจาย ลงไปเป็นศูนย์ย่อยๆ ภายในจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ให้บริการ อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ตามบทบาทหน้าที่ขององค์กรที่มี ความเชี่ยวชาญ และหน้าที่หลักของทุกศูนย์บริการคนพิการ คือ การให้บริการข้อมูลข่าวสาร การประสาน ส่งต่อคนพิการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คนพิการได้รับบริการตาม ความจำเป็นเฉพาะของคนพิการนั้น ซึ่งถือเป็นนวัตกรรม ที่ออกแบบมาเพื่อให้บริการและตอบสนองคนพิการที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถเดินทางเพื่อขอรับบริการที่ศูนย์บริการ คนพิการในระดับจังหวัดได้

           ๒) การจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการ มีการจัดตั้งศูนย์ บริการคนพิการระดับจังหวัดครบทุกจังหวัดแล้ว มีสถานที่ ตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดของทุกจังหวัด ศูนย์บริการคนพิการ ระดับจังหวัด ประกอบด้วย ผู้อำนวยการศูนย์บริการ คนพิการระดับจังหวัด ในเบื้องต้นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้มอบหมายให้บุคลากรของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเป็น ผู้อำนวยการศูนย์ และมีบุคลากรในตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ นักสังคมสงเคราะห์ นักพัฒนาสังคม นักกฎหมาย และการเงิน และบัญชี จำนวน ๔-๗ คน ตามขนาดของจังหวัด ในส่วนของการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ปัจจุบันได้มีการจัดตั้ง แล้ว จำนวน ๙๗ ศูนย์ แบ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน ของรัฐ จัดตั้ง จำนวน ๘๓ ศูนย์ และองค์กรด้านคนพิการ หรือ องค์กรอื่นซึ่งได้รับรองมาตรฐานตามมาตรา ๖ (๑๐) ขอจัดตั้ง จำนวน ๑๔ ศูนย์

          ๓) การสนับสนุนงบประมาณสำหรับศูนย์บริการ คนพิการทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันได้ใช้เงิน จากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อใช้สนับสนุนงบประมาณสำหรับศูนย์บริการคนพิการทั่วไป สำหรับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการภายในของศูนย์บริการคนพิการ อาทิ การประชุม และการให้บริการ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ จึงยังไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณให้เหมาะสมในทุกประเภทการให้บริการซึ่งมีความหลากหลายและแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ หรือ พก. ได้มี ความพยายามที่จะสนับสนุนงบประมาณในรูปแบบของค่าใช้จ่าย ต่อหัว

          ๔) หลักเกณฑ์การสนับสนุนด้านการเงินของกองทุน ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งจะสนับสนุนเป็นแผนงาน/โครงการ จึงไม่สอดคล้องกับกิจกรรมตามภารกิจการจัดบริการของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป

          ๕) องค์กรด้านคนพิการยังขาดความพร้อมที่จะจัดตั้งเป็นศูนย์บริการคนพิการทั่วไป เนื่องจากองค์กรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานตามมาตรา ๖ (๑๐) จำนวนทั้งสิ้น ๒๒๖ องค์กร ซึ่งเป็นองค์กรที่ยังอยู่ในอายุมาตรฐาน (๓ ปี) จำนวน ๑๕๖ องค์กร แต่องค์กรในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมด้านสถานที่ ด้านบุคลากร และด้านงบประมาณ

          ๖) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีความกังวลเกี่ยวกับ การใช้จ่ายเงินเพื่อดำเนินกิจกรรมของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบการใช้จ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          ๗) ประเด็นอำนาจหน้าที่ของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ซึ่งจัดตั้งโดยส่วนราชการท้องถิ่น จากการหารือร่วมกับผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ยืนยันว่าท้องถิ่นไม่มีความ เชี่ยวชาญความชำนาญการ ในการให้บริการคนพิการเช่นเดียวกับองค์กรคนพิการที่มีความชำนาญและสะสมประสบการณ์ มาเป็นเวลานาน และเห็นตรงกันว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นหน่วยงานพื้นที่ที่คนพิการรู้จักดี ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ ในการดำเนินงานด้านคนพิการ บริการหลักที่ท้องถิ่นจะให้บริการคนพิการ คือ การให้บริการข้อมูลข่าวสาร การประสาน ส่งต่อคนพิการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ท้องถิ่นจะเป็นหน่วยงานในการประสานงานและเป็นแหล่งบริการข้อมูล ข่าวสารให้กับคนพิการส่วนการให้บริการที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ในแต่ละด้านนั้นเป็นหน้าที่ขององค์กรด้านคนพิการ

         ๘) ประเด็นประเภทการให้บริการคนพิการ ได้ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่การยื่นเรื่องขอตั้ง เป็นศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ซึ่งทั้งส่วนราชการท้องถิ่นและองค์กรด้านคนพิการ ต้องยื่นแบบคำขอ ซึ่งระบุรายละเอียดต่างๆ อาทิ กลุ่มเป้าหมายในการให้ บริการ วัตถุประสงค์ในการจัดบริการ ขอบเขตของกลุ่มเป้าหมาย ในการให้บริการ ได้กำหนดไว้ ๓ กลุ่ม คือ คนพิการ ผู้ดูแล คนพิการ และผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะพิการ ดังนั้น ศูนย์บริการ คนพิการทั่วไป ที่เป็นของส่วนราชการท้องถิ่นหรือองค์การด้านคนพิการต้องจัดบริการตามที่ได้ระบุไว้ในระเบียบข้อบังคับฯ ที่ได้ยื่นขอจัดตั้งเป็นศูนย์บริการคนพิการทั่วไป

         ๙) ประเด็นองค์กรด้านคนพิการระดับชาติ อาทิ ศูนย์บริการคนพิการตาบอดแห่งชาติ ซึ่งได้ยื่นจัดตั้งในพื้นที่ของ กรุงเทพมหานครแล้ว การยื่นขอจัดตั้งต้องยื่นที่ พก. ตามพื้นที่ตั้งซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่การให้บริการสามารถ ให้บริการคนตาบอดในพื้นที่อื่นๆ ได้ กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่า จะต้องให้บริการเฉพาะในพื้นที่ที่ขอจัดตั้งเท่านั้น แต่กรณี เป็นศูนย์บริการของส่วนราชการท้องถิ่นจะถูกกำหนดพื้นที่ การให้บริการไว้ตามอำนาจการปกครองขององค์การปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ

         ๑๐) ประเด็นมาตรฐานของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป จะมีความแตกต่างกันเฉพาะขั้นตอนแรกในการขอตั้งเป็นศูนย์บริการคนพิการทั่วไป โดยองค์กรด้านคนพิการต้องได้รับการรับรองมาตรฐานองค์กรด้านคนพิการ ตามมาตรา ๖ (๑๐) ก่อน ส่วนราชการท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐ ไม่ต้องได้รับรองมาตรฐานองค์กร เนื่องจากเป็นส่วนราชการอยู่แล้ว สามารถขอตั้งเป็นศูนย์บริการคนพิการทั่วไปได้เลยแต่เมื่อได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์บริการคนพิการทั่วไปแล้ว ทุกศูนย์ต้องผ่านมาตรฐาน การดำเนินการและการให้บริการ ซึ่งถูกกำหนดไว้ใน "หมวด ๔ มาตรฐานการดำเนินการและการให้บริการแก่คนพิการของศูนย์บริการคนพิการ" ตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับศูนย์บริการคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๖

       ๑๑) จำนวนการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมีการจัดตั้งโดยส่วนราชการท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐมากกว่าองค์กรด้านคนพิการนั้น ในหลายจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้ความสนใจและสนับสนุน พร้อมทั้งได้มอบนโยบายลงไปยังท้องถิ่นให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการ คนพิการ จึงทำให้ท้องถิ่นมีการตื่นตัวขอจัดตั้งศูนย์บริการ คนพิการทั่วไปเป็นจำนวนมาก ส่วนองค์กรด้านคนพิการก็มี ความตื่นตัวเช่นเดียวกัน ซึ่งเริ่มมีการขอจัดตั้งแล้ว

 

 

ที่มาของข่าว https://www.ryt9.com/s/nnd/2997615
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก