ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“นักเขียนปิดตา” ศิลปินยอดนักสู้ที่สายตาพิการ แต่ความฝันไม่พิการ!!

วันที่ลงข่าว: 23/05/19
          เธอคือนักเขียนปิดตายอดนักสู้ ผู้ฟันฝ่าเอาชนะความอ่อนแอของร่างกาย จนเขียนหนังสือเป็นของตัวเองถึง 2 เล่ม และมีรางวัลการันตีอีกด้วย ใครจะคิดล่ะว่าคนที่พิการทางสายตาจะเก่งรอบด้านขนาดนี้ ทั้งเขียนหนังสือ - เล่นดนตรี - แต่งเพลง จนใครหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่เขาทำยิ่งกว่าเป็น “แรงบันดาลใจ” อย่างแท้จริง
ไม่ท้อ! มุ่งสู่เป้าหมายคว้า “เกียรตินิยมอันดับ 1”
“พลอยว่ามันค่อยเรียนรู้มาเรื่อยๆ มากกว่าว่าเราจะอยู่กับมันยังไง จะไม่มองว่าเป็นปมหรือว่าอะไรนะ แต่ว่าเป็นสิ่งที่เราต้องอยู่กับมัน สิ่งที่มันเป็นเรา ถามว่ามันจะมีบางเรื่องมั้ยที่มันยากลำบาก มันก็มี มันจะมีบางเรื่องมั้ย ที่เรารู้สึกว่าทำได้ตามปกติมันก็มีเหมือนกัน แต่ว่าเราต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่กับมันยังไง”
          นี่คือคำพูดของ “พลอย - สโรชา กิตติสิริพันธุ์” นักเขียนของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ซึ่งใครจะรู้ล่ะว่าเธอเป็นสาวที่ดวงตามองไม่เห็น แต่ก็เป็นเจ้าของหนังสือ “จนกว่า เด็กปิดตา จะโต” และ “ก ไก่เดินทางนิทานระบายสี” รวมทั้งคว้ารางวัลมาแล้วอีกด้วย และบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะทำให้รู้ เรื่องราวความคิด และเปิดมุมมองอีกหลายๆ ด้านมากยิ่งขึ้น
          ผู้หญิงตัวเล็กๆ รายนี้ได้ย้อนชีวิต และการใช้ชีวิตให้ฟังอีกครั้งว่า เธอเป็นผู้สูญเสียตาทั้งสองข้างจากโรคมะเร็งจอประสาทตาจนมองไม่เห็นตั้งแต่วัยเด็ก โดยเริ่มจากดวงตาข้างซ้าย ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดนำลูกตาออก หลังจากคลอดมาได้เพียง 3 เดือน ทำให้พลอยมองไม่เห็นตั้งแต่ยังไม่รู้ความ อาจเพราะตัดสินใจรักษาช้าเกินไป ทำให้เชื้อมะเร็งลุกลามไปที่ดวงตาข้างขวา พยายามจี้รักษา แต่ก็ไม่หายสุดท้ายเธอต้องเสียดวงตาขวาไปในวัยเพียง 2 ขวบ
แต่การมองไม่เห็นของเธอไม่ได้เป็นอุปสรรค หรือกำแพงขวางกั้นการเรียนรู้ แต่กลับทำให้จิตใจแข็งแกร่ง สามารถประสบความสำเร็จ 
         “ถ้าแบ่งว่าแบบนี้คือคนปกติ แบบนี้คือคนพิการ มันฟังดูคนละอย่างกัน แต่ว่าถ้าเรามองดูดีๆ มันก็คือคนๆหนึ่งที่เกิดมา เสร็จแล้วก็ดำเนินชีวิตไป อาจจะสั้น อาจจะยาว อาจจะมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ แล้ววันหนึ่งมันมีอวัยวะบางส่วนที่มันใช้การไม่ได้เท่านั้นเอง 
          ทุกๆอย่างมันก็เหมือนเดิม มันก็ดำเนินชีวิตไปตามปกติ อย่างของพลอยอาจจะมีไปเจออวัยวะที่ใช้การไม่ได้เร็วกว่าคนอื่นหน่อย เกิดมาปุ๊บเจอเลย เราก็ปกติก็อยู่ไป”
นักเขียนรายนี้ต้องใช้ความพยายามมากกว่าเด็กปกติทั่วไปในการปรับตัว เรียนรู้ และเธอสอบชิงทุนเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรียนจบเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทองจากที่นั่น ด้วยความมุ่งมานะ และตั้งใจ
          “ตอนที่พลอยอยู่ม.ปลาย พี่สาวของพลอยก็เริ่มจะเข้าปี 1 มันก็เริ่มเป็นความกดดันมาที่เราแล้วว่า แล้วเราล่ะเราจะเลือกอะไร พลอยมานั่งคิดว่าพลอยสนใจอะไรบ้าง อันดับแรกมีภาษาไทย 2 .ด้านดนตรี เป็นสิ่งที่เรียนมา อย่างเปียโน เราก็อยากจะเรียนต่อเหมือนกัน 3.ปรัชญาชีวิต เรารู้สึกว่าวิชาที่เราเรียนมาตอนมัธยม ไม่มีอะไรที่เป็นปรัชญาตรงๆ เลย เราไม่มีความรู้ และ 4.เป็นเรื่องของจิตวิทยา ที่รู้สึกว่าสนใจ แต่ว่าไม่มีความรู้ว่าทฤษฎีเป็นยังไง ไม่รู้ว่าต้องหาหนังสืออะไรมาอ่าน พอเรามานั่งดู
         เราก็เลือกอะไรสักอย่างหนึ่ง รู้สึกว่าเลือกยากอยู่เหมือนกัน เราก็เริ่มหาข้อมูลว่า อยากจะเรียนอะไร แต่ตอนนั้นใจก็เริ่มเทมาที่ภาษาไทย หาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนเจอว่าที่คณะอักษรศาสตร์มีทุนสำหรับคนที่สนใจจะเข้าไปเรียนเอกภาษาไทยโดนเฉพาะเลย 
         พลอยมองเป็นแบบ Step ค่ะ ตอนแรกเมื่อพลอยไปเจอประกาศรับสมัคร พลอยก็นั่งดูแล้ว ว่ามันต้องใช้อะไรบ้าง ซึ่งมันก็ใช้เยอะมาก อย่างที่พลอยบอกว่าแบ่งเป็น Step พลอยรู้สึกว่าถ้าเราไม่ผ่าน Step แรก Step ถัดไปไม่ต้องพูดถึง Step แรก ที่ต้องผ่านก็คือต้องมีเกียรติบัตรก่อน ซึ่งตอนนั้นก็ ม. 5 แล้ว เรารู้สึกว่าเราต้องรีบหาเกียรติบัตรมาให้ได้ ซึ่งเราไม่เคยแข่งขันกับคนข้างนอก พลอยก็เลยเริ่มแบ่งเวลา
 
["หนังสือจนกว่า เด็กปิดตา จะโต"และ"หนังสือก ไก่เดินทางนิทานระบายสี" ที่พลอยเป็นผู้เขียน]
 
 
["หนังสือจนกว่า เด็กปิดตา จะโต"และ"หนังสือก ไก่เดินทางนิทานระบายสี" ที่พลอยเป็นผู้เขียน] 
         การแบ่งเวลาก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก พอว่างเมื่อไรก็ค้นหาว่าตอนนี้มีการประกวดอะไรบ้าง พอหามาได้อันนี้เราพอจะส่งได้ เราก็ส่ง อันไหนส่งได้เราส่งหมดเลย พอเริ่มแบ่งเวลาแบบนี้ เราก็เริ่มเตรียมภาษาอังกฤษด้วย เพราะว่าพอเราส่งไปแล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้หลังจากนั้น ก็ได้นั่งรอผลว่าประกาศเมื่อไหร่ เวลาพลอยว่างก็โหลดหาว่ามีบทเรียนอะไรบ้างที่เขาสอน มีแนวข้อสอบอะไรบ้าง บางทีก็ดูแนวข้อสอบภาษาอังกฤษ ดูแนวข้อสอบภาษาไทยไปเรื่อยๆ”
 
การเดินทางสู่เป้าหมายของพลอยไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เพราะต้องผ่านการฝึกฝน เตรียมพร้อมหลายด้าน เพื่อแข่งขันกับคนที่ต่างมีความฝันเหมือนกัน แต่ไม่ได้พิการทางสายตาเหมือนกับเธอ จนในที่สุดพลอยได้ผ่านการคัดเลือกเป็น 1 ใน 15 คนที่ติดในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวทีแข่งขันระดับประเทศตามที่เธอตั้งใจไว้สำเร็จ รวมทั้งการได้เป็นนักเขียนโดยไม่รู้ตัว
 
“พลอยอ่านหนังสือเยอะ จริงๆจะเรียกว่าเยอะก็ไม่ถูก พอดีว่ามีคนที่อ่านหนังสือให้เราฟังเยอะ มีพ่ออ่าน พี่อ่าน ซึ่งแต่ละคนก็อ่านหนังสือที่ตัวเองชอบแตกต่างกันไปให้เราฟัง เราเลยได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่มันหลากหลายแนว
 
เราเห็นว่าในหนังสือมันมีจินตนาการนะ มันมีอารมณ์ ความรู้สึก มันอ่านแล้วมันหัวเราะได้ มันร้องไห้ได้ ตัวหนังสือมันเป็นอย่างนั้น แล้วก็มันมีความรู้อยู่ข้างใน มีภาพบางอย่างที่เราไม่สามารถเห็นได้ในชีวิตในประจำวัน เพราะว่าเรามองไม่เห็น อย่างเช่นการยักไหล่ การพยักหน้า
 
คือเวลาอยู่ในชีวิตประจำวันเราไม่เห็นว่าเขาทำกิริยาอะไร แล้วหมายความว่ายังไง เพราะเราไม่ได้มองมันด้วยสายตา แต่ว่าเวลาเราอ่านหนังสือ คนเขียนเขาก็จะสื่อสิ่งเหล่านี้ออกมาด้วยภาษามันทำให้เราเริ่มเห็นว่า เวลาเขามองค้อนแปลว่าเขาเริ่มงอน เริ่มไม่พอใจอะไรแบบนี้
 
เราเริ่มจินตนาการท่าทางของคน พอมันเกิดขึ้นบ่อยๆ มันเริ่มรู้ว่าหนังสือมันสนุก แล้วตอนม.ปลายพลอยชอบอ่านวรรณคดี สนใจวรรณคดีมาก ตอนนั้นได้อ่านคำฉันท์ จะมีคำว่าคำแปลกๆ พอม.ปลายเราจะเริ่มเจอคำฉันท์ เจอโคลง เราเริ่มรู้สึกว่า เสียงที่มันคล้องจองกันมันน่าฟัง แล้วความหมายของมันตีได้กว้างกว่าที่เราพูดกันปกติ เราก็เลยเริ่มสนใจวรรณคดีเยอะขึ้น และอยากที่จะเรียนต่อทางด้านนี้ อยากจะเขียน ถ่ายทอดความคิดของเรา อยากเรียนอะไรก็ได้ที่ได้อ่านหนังสือวรรณกรรมเยอะๆ”
 
 
พิสูจน์ให้เห็นจนได้เป็น “นักเขียน” ยอดฝีมือ!!
“การบ้านของพลอยจะเป็นการบ้านที่สมบูรณ์แบบ คือไม่เคยขาดสักวันเดียว บันทึกทุกวัน และเป็นบันทึกที่ดี ทัศนคติที่ดีต่อชีวิต มีความเห็นในเรื่องต่างๆที่ดี พอสอนไปได้สักประมาณ 2 สัปดาห์ ผมอ่านบันทึก
 
ทุกวัน ก็รู้แล้วล่ะว่าการบ้านที่ส่งมันจะเป็นหนังสือได้ พอสัปดาห์ที่ 3 ก็ได้ประกาศหน้าชั้นเลยว่านี่คือนักเขียนคนต่อไป”
 
อ.มกุฏ อรฤดี อาจารย์พิเศษวิชาบรรณาธิการศึกษาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิลปินแห่งชาติ ผู้สอนพลอย ก็ช่วยเล่าให้ฟังว่า ได้เคยฝึกคนมองไม่เห็นเขียนหนังสือมาบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีเวลาพัฒนามาก เพราะต้องไปประกอบอาชีพอื่นๆ แต่สำหรับพลอยใช้เวลาเพียงไม่นาน ก็มองเห็นว่าสามารถเขียนบทความที่น่าสนใจ พอจะนำมาเป็นหนังสือได้ จึงเป็นที่มาของหนังสือเล่มแรกของพลอย ที่ชื่อว่า จนกว่าเด็กปิดตาจะโต
แน่นอนว่าเมื่อพลอยได้เข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามที่ปรารถนาแล้ว เธอต้องเจอบททดสอบของการเป็นนักเขียน คือการเขียนหนังสือ ซึ่งสำหรับเธอแล้วการมองไม่เห็นไม่ใช่อุปสรรคที่ยากเกินความสามารถ 
 
“หลังจากจบเทอมแรก เราก็พยายามรวบรวมต้นฉบับ ในปีการศึกษาใหม่พลอยก็ได้ลงทะเบียนเรียนอีกวิชาหนึ่ง เพราะฉะนั้นพอเรียนได้ครบ 2 เทอม ต้นฉบับมากพอที่จะเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง จึงได้รวบรวมเป็นหนังสือ พิมพ์เสร็จก็ส่งเข้าประกวด ก็ได้รับรางวัลในปีนั้น
 
พลอยเขียนโดยฐานะคนตาบอด ในฐานะคนมองไม่เห็น เพราะฉะนั้นเราไม่รู้เลยว่าคนมองไม่เห็นที่เราพบปะทุกวันเขาคิดอะไรบ้าง เขาใช้ชีวิตอย่างไร เขาได้ดำเนินชีวิตอย่างไร ยากลำบากหรืออะไรยังไง
 
คือเอาแค่เด็กเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย การที่เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยที่ถือว่ามีชื่อเสียงที่สุดในประเทศก็ถือว่ายากอยู่แล้ว แต่นี่คือเด็กซึ่งมองไม่เห็นอีก แล้วเรียนภาษาไทยอีก ซึ่งภาษาไทยเป็นวิชาที่คนอื่นเขาหวาดกลัวกัน แต่พลอยก็เรียน
 
เพราะฉะนั้นจุดเด่นก็คือความสามารถที่จะแสดงออกในฐานะคนมองไม่เห็น คนที่ด้อยกว่าคนอื่นทั้งหมด โอกาสที่จะมาอยู่แนวหน้าได้นั้นคิดว่ามันลำบากมาก ความพิเศษคือเป็นตัวอย่างของความเพียรพยายาม อดทน นี่เป็นจุดเด่นมาก
 
เรามองเห็น เรามีการบ้านเยอะ เราบ่น แต่นี่เขาไม่เคยบ่นเลย เราคุยกันหลายเรื่องนะครับ นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ผมสอนคนมองไม่เห็น และไม่ใช่สอนคนมองไม่เห็นเพื่อที่จะให้มีความรู้ สอนชั้นประถม สอนมัธยม หรือมหาวิทยาลัยด้วยวิชาอื่นๆ แต่สอนคนมองไม่เห็นเพื่อที่จะออกไปเป็นคนทำหนังสือ ยังไม่มีใครทำเรื่องเหล่านี้”
 
จากการเขียนบันทึกประจำวันสู่งานเขียนของตัวเอง 2 เล่ม คือ หนังสือ “จนกว่าเด็กปิดตาจะโต” พร้อมทั้งเป็นผู้วาดภาพประกอบเอง และ “ก ไก่ เดินทางนิทานระบายสี” ได้รับรางวัลชมเชย ในการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2560 ประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี (บทร้อยกรอง) จากคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นหนังสือดีเด่น รวมทั้งเริ่มเขียนหนังสือเอง โดยไม่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์
 
“หนังสือเล่มแรกรวบรวมมาจากการบ้านที่พลอยเขียน เพราะฉะนั้นตอนที่เราเขียนไม่ได้คิดว่าจะกลายเป็นหนังสือเล่มนี้ หรือจะกลายเป็นอะไรเลย ไม่คิดว่าจะให้ข้อคิดกับคนอื่น หรือว่ามันต้องมีประโยชน์อะไรกับใคร เราคิดแค่ว่าวันนี้เราแค่รู้สึกแบบนี้ เราเจอเรื่องนี้มา แล้วเราคิดอย่างนี้นะ เราอยากจะบอกกับตัวเองแบบนี้
 
พลอยไม่ได้โยงระหว่างถ้อยคำไม่เข้าท่า ประโยคคิดเอง กับเรื่องราวเข้าด้วยกัน แต่พลอยจะมองว่า อันนี้อยากเล่ายาว เพราะฉะนั้นพลอยจะเขียนยาวๆ ส่วนเรื่องนี้พลอยจะคิดเขียนสั้นๆพอ เรื่องนี้พลอยมองแค่นี้พอ พลอยอยากเขียนคำไม่เข้าท่า ซึ่งในแต่ละวันถ้าเราสังเกตดีๆ มันมีหลายๆ เรื่องเกิดขึ้นในชีวิตเรา แล้วมันขึ้นอยู่กับว่าเราจะหยิบมุมไหนมาเล่า เราจะหยิบไหนมาเป็นเรื่องที่เราอยากจะจำเอาไว้ อันไหนอยากจะเขียนยาว อันไหนอยากจะเขียนสั้น”
 
แน่นอนว่าเมื่อหนังสือเล่มแรกประสบความสำเร็จ ก็ย่อมมีเล่มที่ 2 ตามมา พลอยเลือกที่จะทำหนังสือที่เด็กอ่านได้ และเป็นการสอนก.ไก่-ฮ.ฮูกไปด้วย โดยภาพประกอบเล่มนี้พลอยเป็นผู้วาด โดยใช้ลูบคำเพื่อที่จะเห็นโครงสร้างของมันแล้ววาดออกมา
 
“พลอยคุยกับอ.มกุฏ อาจารย์บอกว่าอยากให้มีหนังสือที่เด็กอ่านได้ และเป็นการสอนก.ไก่-ฮ.ฮูกไปด้วย รวมถึงสอนเรื่องคำประพันธ์ พร้อมทั้งข้อคิดอะไรอยู่ข้างในด้วย พลอยก็เลยลองๆ เขียน หลายๆแบบ ปรากฏว่าพอลองไปลองมาก็เห็นว่าตัวเองน่าจะลองเขียนนิทานดีกว่า เป็นนิทานของก.ไก่ นิทานของข.ไข่ ไล่ไปเรื่อยๆ โดยที่สัมผัสมันจะร้อยกันหมดตั้งแต่ก.ไก่-ฮ.ฮูก แล้วสัมผัสตัวสุดท้ายฮ.ฮูก จะส่งกลับมายังก.ไก่เหมือนกัน มันไม่ใช่ให้จำอย่างเดียวค่ะ แต่ว่ามันให้เรื่องราวของตัวอักษรแต่ละตัวด้วยว่าแต่ละตัวไปเจออะไรมาบ้าง”
 
ดูเหมือนความสามารถของพลอยยังไม่หยุดแค่การเป็นนักเขียน หรือจิตรกรเท่านั้น ความสามารถดนตรีเป็นอีกหนึ่งทักษะที่พลอยใช้ถ่ายทอดจินตนาการของเธอด้วยเช่นกัน
 
“ตอนที่อยู่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ เราจะคุ้นเคยกับเครื่องดนตรีที่เป็นเปียโนอยู่แล้ว เพราะว่าก็จะมีเปียโนตั้งอยู่ที่โรงเรียน แล้วตอนที่อยู่ประถม 3 พลอยไปเที่ยวเซนทรัลฯกับพ่อ พ่อได้บอกว่าตรงนี้มีโรงเรียนดนตรีสอนเปียโนด้วยอยากเรียนมั้ย เราก็สนใจ เลยบอกพ่อว่าอยากเรียน พ่อก็เลยชวนเข้าไปดู ไปลองคุยกับครูดูว่าถ้าเกิดจะสอนพลอย ครูจะพอจะสอนได้ไหม ครูก็เห็นว่าเราอยากเรียน ก็ตกลงลองสอนดู ก็ได้เรียนมาตั้งแต่ตอนนั้น”
 
ทั้งนี้ ครูยังช่วยสนับสนุน ทั้งเดินทางไปตามหาโน้ตอักษรเบรลล์ และศึกษาด้วยว่าถ้าหากคนที่มองไม่เห็น จะเรียนดนตรีได้อย่างไรบ้าง ครูผู้สอนไม่แบ่งแยกคนที่พิการทางสายตา ทั้งให้ออกคอนเสิร์ต แข่งเปียโน และสอบเกรดตามคนอื่นๆ จนเธอได้พัฒนาตัวเอง และเมื่อได้เข้ามหา’ลัยจึงได้เข้าไปเป็นนักเปียโนวงดนตรี CU Band 
 
“เป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ที่ทำให้พลอยเริ่มทำกิจกรรมกับมหาวิทยาลัย นอกจากการเรียนอย่างเดียว เพราะว่าตอนที่พลอยอยู่มัธยมพลอยเป็นเด็กเรียนมาก เรียนอย่างเดียวไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมอะไรกับโรงเรียน แต่พออยู่มหา’ลัยแล้ว เราชอบดนตรี เราก็อยากที่จะทำกิจกรรมอื่นๆควบคู่กับการเรียนไปด้วย เพราะเรารู้สึกว่าเรียนอย่างเดียวดูไม่ค่อยมีประสบการณ์เท่าไหร่
 
เราอยากมีประสบการณ์ใหม่ๆ อยากมีเพื่อนใหม่ๆ พอได้เริ่มต้นตรงนั้นแน่นอนเราได้เริ่มรู้จักเพื่อนที่สนใจในสิ่งเดียวกัน คือดนตรี 2.ทักษะดนตรีเราได้เรียนรู้แนวการเล่นแบบใหม่เพิ่มขึ้น ตอนมัธยม พลอยได้เรียนคลาสลิกมา พลอยก็ไม่รู้ว่าเมื่อเล่นเพลง Pop หรือว่าเล่นเพลง Jazz มันจะเล่นยังไง แต่พอได้เข้าไปชมรมจะมีรุ่นพี่คอยแนะนำ เราก็มีความรู้เพิ่มขึ้นในด้านที่เราสนใจ
 
พลอยเล่นเปียโน พลอยไม่ได้เล่นเพื่อจะแสดง หรือเพื่อซ้อมให้เก่ง แต่จริงๆถ้ามันเก่ง หรือแสดงได้ก็ดี แต่จุดประสงค์ของพลอยคือพลอยเล่นเพื่อจะคลายเครียด เล่นเพื่อความบันเทิง”
 
เส้นทางนักดนตรีของพลอย แม้เธอจะบอกว่าการเล่นกนตรีเป็นกิจกรรมยามว่าง หรือผ่อนคลายความเครียดของตัวเองเท่านั้น แต่ด้วยความสามารถทางด้านดนตรี พลอยยังเคยแต่งเพลงให้กับโครงการฝึกฝนผู้ดวงตาพิการให้เขียนหนังสือด้วย
 
“พลอยแต่งไว้ 2 เพลง ค่ะ 1.ฝึกใจ 2.เพื่อนฝัน แต่งให้โครงการฝึกฝนผู้ดวงตาพิการที่เขียนหนังสือ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่อ.มกุฏ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ มูลนิธิวิชาหนังสือ และกรมส่งเสริมวัฒนธรรมทำร่วมกัน คือชวนคนที่มองไม่เห็นมาเขียนหนังสือ เพื่อนฝันเป็นเพลงแนวอบอุ่นเหมือนการที่เราเดินทางมา แล้วเราพยายามทำตามความฝันของตัวเองอยู่คนเดียว บางครั้งมันก็เหนื่อย รู้สึกว่าเส้นทางนี้มันไกล แต่ถ้าวันหนึ่งเรามีเพื่อนที่สนใจสิ่งเดียวกันกับเรา มีความฝันแบบเดียวกัน แล้วได้เดินทางไปพร้อมๆกัน ในเส้นทางที่ไกล มันรู้สึกว่าไม่ไกล เพราะเรามีเพื่อนร่วมทาง มันมีความสนุก มีสีสัน”
 
โดยกิจกรรมทุกอย่างที่ทำ เธอหวังจะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มองไม่เห็นคนอื่นๆ ได้ลุกสู้ เพื่อเปิดโอกาสตัวเองได้พบความมหัศจรรย์ของตัวเองเช่นเธอ และอาจเกิดอาชีพใหม่ๆ ของคนในโลกมืดนี้ได้ 
 
และเธอได้ทิ้งท้ายให้ฟังอีกว่า ถ้ายังคงกลัว ชีวิตคงไม่มีทางมีความสุข เธอเข้าใจดีว่าคนที่มองไม่เห็นนั้น ภายในโลกมืดต้องต่อสู้กับความกลัวในเรื่องต่างๆ มากมาย และคนที่มองไม่เห็นด้วยกัน ย่อมเข้าใจกันได้ดี
 
“พลอยจะบอกทุกคนว่าเรารู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่มันถูกต้องมันคืออะไร รู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่เป็นความดีมันคืออะไร แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะหนักแน่นที่จะทำตามสิ่งที่เรายึดถือได้ดีแค่ไหน
 
ถ้ายังคงกลัวอยู่แบบนี้ เราก็ไม่มีทางมีความสุข เพราะว่าทั้งชีวิตนี้เราต้องไปทำสิ่งที่เราไม่อยากทำตลอดไปเลยนะ และเราจะไม่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำเลย เพราะว่าเวลามันมีจำกัด”
 
 
สัมภาษณ์: รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “Medploy Kittisiripan”
ที่มาของข่าว https://mgronline.com/live/detail/9620000047342
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก