ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: การจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA)

วันที่ลงข่าว: 23/05/19

           คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ได้พิจารณาศึกษา ติดตามการขับเคลื่อนการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคน เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA) หรือยุทธศาสตร์ AAA ของทุกหน่วยงาน ได้แก่ (๑) การกำหนด ให้ประเด็นการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้สำหรับทุกคน (Accessibility for All Act : AAA) หรือยุทธศาสตร์ AAA เป็นวาระแห่งชาติ (๒) การเร่งผลักดันให้มีกฎหมายด้านการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ หรือ กฎหมาย AAA (๓) การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA) (๔) การกำหนดมาตรการตรวจสอบ ติดตาม ส่งเสริมและสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย AAA ให้มีประสิทธิภาพ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน (๕) การส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ เรื่อง การจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและ ใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA) และ (๖) การรณรงค์เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึก ในประเด็น AAA ให้ทุกภาคส่วนในสังคม รวมทั้งส่งเสริม การมีส่วนร่วมของสังคมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ AAA ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม

           การจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA) มีหลักการสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) การออกแบบที่เป็น สากล เป็นมิตร และเป็นธรรมเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design : UD) (๒) การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกหรือ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology : AT) และ (๓) การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล (Reasonable Accommodation : RA) ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ AAA ถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและเป็นปัจจัยแห่ง ความสำเร็จต่อการขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Inclusive Society) และสอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิ คนพิการ เรื่องความเสมอภาคของคนพิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสภาพแวดล้อม โดย "สภาพแวดล้อม" นอกจากจะหมายถึงอาคาร สถานที่ หรือสิ่งที่จับต้องได้เป็น รูปธรรมแล้ว ยังหมายรวมถึงบริการ การสื่อสาร ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ด้วย

          คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการจึงได้พิจารณาศึกษาสถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรคการดำเนินงาน AAA ในประเด็นเฉพาะ ๕ ด้าน ได้แก่

(๑)ด้านระบบขนส่งมวลชน ยังมีปัญหาการขาดกลไกการควบคุมมาตรฐานการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility Standard) ในระบบขนส่งสาธารณะ

(๒)ด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology : AT) ยังมีปัญหาด้านการบริหารจัดการเกี่ยวกับ การให้บริการอุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก และเครื่องช่วยความพิการที่ยังไม่ครอบคลุมความต้องการของคนพิการ และไม่ตรงตามความต้องการจำเป็นของ คนพิการ

(๓)ด้านระบบดิจิทัล ยังมีปัญหาด้านการส่งเสริม สนับสนุน และการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลยังไม่ครอบคลุมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ของทุกคนรวมถึงคนพิการ

(๔)ด้านอาคารสถานที่ ยังมีปัญหาความล่าช้าในการประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกและสภาพแวดล้อมของอาคารที่คนพิการ ผู้สูงอายุ และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งมีการยกร่างแก้ไขปรับปรุง กฎกระทรวงเดิมให้กว้างขวางครอบคลุมทุกกลุ่มคน รวมทั้ง มีมาตรการออกใบอนุญาต ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญ ในการบังคับใช้ประเด็นการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility) และ

(๕)ด้านการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล (Reasonable Accommodation : RA) ยังมีปัญหาการขาด ความรู้ความเข้าใจและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อ การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลเพื่อให้คนพิการ เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้กับสภาพแวดล้อมต่างๆ โดยมัก เข้าใจว่ามาตรการเชิงบวกหรือการให้แต้มต่อเป็นเรื่องเดียวกัน กับการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล ทั้งที่ตามหลักการสากลแล้ว RA เป็นมาตรการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม กล่าวคือ การไม่อำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความพิการ

          ดังนั้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการจัดสภาพแวดล้อม สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA) เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ มากขึ้น คณะกรรมาธิการการสังคมฯ จึงมีข้อเสนอแนะต่อ การดำเนินงาน AAA ดังนี้

          ๑.ด้านระบบขนส่งมวลชน

๑)คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาแต่งตั้ง "คณะกรรมการเพื่อการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชน/ขนส่งสาธารณะแห่งชาติ" โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายหรือกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายหรือแผนงาน ให้ข้อเสนอแนะต่อการแก้ไข/ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการ/แนวปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชน/ขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อเป็น "กลไกหลัก" ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ การเข้าถึงระบบขนส่งมวลชน/ขนส่งสาธารณะในภาพรวมของประเทศ รวมทั้งกำกับติดตามหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับบริการขนส่งมวลชน/ขนส่งสาธารณะ พิจารณากำหนด "บทลงโทษ" ที่เหมาะสมสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้ที่ละเมิดสิทธิหรือเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลในการเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะ ตั้งแต่การ ว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือ การพักใช้/ระงับใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา ไปจนถึงขั้นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ ขนส่งสาธารณะ เป็นต้น เพื่อป้องปรามผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่

๒)คณะรัฐมนตรีควรมีมติให้ โครงการก่อสร้าง/โครงการจัดซื้อ/เช่าซื้อ ระบบขนส่งมวลชน/ขนส่งสาธารณะ ที่มีมูลค่าเงินลงทุนรวมเกิน ๑ พันล้านบาททุกโครงการ ทั้งโครงการ ที่ภาครัฐหรือภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบการเข้าถึง (Accessibility Impact Assessments) เพื่อสร้างหลักประกันด้านการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย

๓)กระทรวงคมนาคมควรจัดทำ "แผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะของประเทศ" เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุ และยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐) โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กับการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ

๔)สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ควรร่วมกันจัดทำ "มาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกในระบบขนส่งสาธารณะ" ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ที่เป็นมาตรฐานสากลและสอดคล้องกันในทุกระบบ ตั้งแต่การ เดินทางออกจากบ้าน การเข้าถึงยานพาหนะ การเข้าถึง ตัวสถานี/อาคารสิ่งปลูกสร้าง การเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะ ประเภทต่างๆ การเข้าถึงอุปกรณ์/สิ่งอำนวยความสะดวก การเข้าถึงบริการข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจุดเชื่อมต่อระหว่างระบบหนึ่งไปอีกระบบหนึ่ง ซึ่งเป็น ปัญหาที่ยากต่อการแก้ไขและนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

 

๕)กระทรวงคมนาคมควรเป็นเจ้าภาพในการจัดทำ "ฐานข้อมูลการตรวจสอบติดตามปัญหาอุปสรรคการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะแห่งชาติ" เพื่อกำกับ เร่งรัด ติดตาม การแก้ไข/ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน/ขนส่งสาธารณะ ทุกระบบ ทั้งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และ/หรือ อยู่ระหว่างก่อสร้าง/ ระหว่างปรับปรุง ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติต่อเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงอื่น

          ๒.ด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก

๑)การจัดทำบัญชีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการหลักแห่งชาติ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่การบริหารจัดการนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการกำกับติดตามการดำเนินงานตามกฎหมาย และนโยบาย ควรเป็นเจ้าภาพใน การจัดทำบัญชีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหลักแห่งชาติ เพื่อทำให้ เป็นบัญชีหลักบัญชีเดียวของประเทศในการจัดสวัสดิการเพื่อจัดสรรอุปกรณ์ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องช่วยความพิการ ให้แก่คนพิการ ดังนี้

(๑)ตั้งคณะทำงานศึกษาและยกร่างบัญชีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความ สะดวกหลักแห่งชาติ โดยให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่จัดสวัสดิการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน อาทิ สำนักงานหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง และสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น

(๒)แต่งตั้งคณะกรรมการบัญชีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหลักแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่พิจารณารายการอุปกรณ์ อุปกรณ์ เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องช่วยความพิการ รวมทั้ง รายการย่อย ข้อบ่งชี้ ราคากลาง และวิธีการจัดสรร โดยให้ศึกษาแบบอย่างจากแนวทางดำเนินงาน ของคณะกรรมการยาหลักแห่งชาติ

(๓) เสนอพระราชบัญญัติบัญชีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหลักแห่งชาติ เพื่อกำหนดให้ กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานใดๆ ที่ทำหน้าที่จัดสวัสดิการด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการ นำพระราชบัญญัตินี้ไปพิจารณาจัดสวัสดิการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ หรือเครื่องช่วยความพิการให้คนพิการ เพื่อให้บัญชีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหลักแห่งชาติดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับทุกหน่วยงาน

 

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

 

 

ที่มาของข่าว อ่านต่อได้ที่ : https://www.ryt9.com/s/nnd/2992182
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก