ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รายงานการวิจัย เรื่อง สภาพปัญหาและความต้องการการใช้สื่อการศึกษาของครูและนักเรียนหูหนวกระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนโสตศึกษา

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการใช้สื่อการศึกษาของครูและนักเรียนหูหนวกระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนโสตศึกษาที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 16 แห่งทั่วประเทศ โดยกลุ่มตัวอย่างประชากรในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย ครูผู้สอนนักเรียนหูหนวกระดับมัธยมศึกษาประจำแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระ จำนวน 104 คนและนักเรียนหูหนวกระดับมัธยมศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย จำนวน 137 คน แบบสอบถามที่ใช้มีลักษณะเป็นข้อคำถามแบบเลือกตอบและข้อคำถามปลายเปิด นำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่และค่าร้อยละ รวมทั้งการจัดกลุ่มข้อมูลอย่างเป็นระบบ ผลการวิจัยพบว่า สื่อวีดิทัศน์เป็นสื่อที่ครูและนักเรียนหูหนวกระดับมัธยมศึกษาใช้ในการเรียนการสอนมากที่สุด เมื่อเทียบกับการใช้สื่ออื่นๆ เช่น บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) และอินเตอร์เน็ตประกอบการเรียนการสอน โดยที่ครูประมาณร้อยละ 50 มีทักษะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตระดับพอใช้เท่านั้น ขณะที่นักเรียนหูหนวกระดับมัธยมศึกษาไม่ถึงร้อยละ 40 มีทักษะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตระดับพอใช้ ประมาณร้อยละ 47 มีทักษะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ระดับดีถึงดีมาก และประมาณร้อยละ 36 มีทักษะความรู้ด้านอินเตอร์เน็ตในระดับดีถึงดีมาก และแม้ว่านักเรียนหูหนวกระดับมัธยมศึกษาจำนวนถึงร้อยละ 36.49 ยังอ่านหนังสือเข้าใจได้น้อย สื่อสิ่งพิมพ์เสริมการเรียน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ยังเป็นที่ต้องการมากเป็นอันดับหนึ่ง ด้านสภาพปัญหาและอุปสรรคที่ครูและนักเรียนหูหนวกระดับมัธยมศึกษาพบในการใช้สื่อการศึกษา คือ การขาดเครื่องมืออุปกรณ์ (Hardware) การขาดสื่อการเรียนการสอน (Software) ที่ผลิตเฉพาะสำหรับนักเรียนหูหนวก ทั้งสื่อวีดิทัศน์และบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) การขาดหลักสูตรและหนังสือเรียนเฉพาะสำหรับคนหูหนวก การขาดทักษะความรู้และความพร้อมในการใช้สื่อทั้งด้านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต การขาดความเข้าใจภาษามือไทยที่เป็นสากล และปัญหาที่เป็นกลไกสำคัญของปัญหาทั้งหมด คือ การขาดการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้สื่อการศึกษาจากผู้บริหาร ด้านสภาพความต้องการใช้สื่อการศึกษา พบว่า นักเรียนมากกว่าร้อยละ 85 ต้องการใช้สื่อการศึกษาประกอบการเรียนเพิ่มขึ้นทั้ง 4 รูปแบบ คือ วีดิทัศน์ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) อินเตอร์เน็ตและสิ่งพิมพ์ ขณะที่ครูต้องการใช้สื่อวีดิทัศน์ (ร้อยละ 92.31) มากกว่าสื่ออื่นๆ (CAI ร้อยละ 73.08, Internet ร้อยละ 75) ส่วนความต้องการด้านเนื้อหาในสื่อการศึกษาทั้ง 4 รูปแบบนั้น ครูผู้สอนต่างระบุความต้องการด้านเนื้อหาที่ใกล้เคียงกันในทุกสื่อ ยกเว้นสื่อสิ่งพิมพ์ ที่ครูผู้สอนประจำแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ระบุว่า ต้องการทุกเนื้อหาตามหลักสูตรการสอนในรูปสิ่งพิมพ์
ข้อมูลงานวิจัย: 
ชื่อบท: 
คำนำ
เนื้อหา: 

 
ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา  สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นหน่วยงานหลักในการผลิต พัฒนาและเผยแพร่สื่อการศึกษารูปแบบต่างๆ เพื่อเสริมการเรียนการสอนและการเรียนรู้ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย สำหรับคนพิการทุกประเภท  รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการนับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา  เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายคนพิการมีความหลากหลาย  และมีความต้องการเนื้อหาและรูปแบบสื่อการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาพความพิการของตนแตกต่างกันไป  ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาจึงจำเป็นต้องศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการใช้สื่อการศึกษาของกลุ่มเป้าหมาย  ทั้งนี้เพื่อการเลือกสรรและผลิตสื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายต่อไป
รายงานการวิจัยฉบับนี้  เป็นการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการใช้สื่อการศึกษาของครูและนักเรียนหูหนวกระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนโสตศึกษา  ซึ่งข้อมูลและข้อคิดเห็นที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้  ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาจะได้นำมาพัฒนาการผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษาเพื่อกลุ่มเป้าหมายครูและนักเรียนหูหนวกซึ่งศึกษาอยู่ในโรงเรียนโสตศึกษาทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษายังคาดหวังว่า ข้อมูลจากการวิจัยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนหูหนวกเพื่อในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากสื่อการศึกษาสำหรับนักเรียนหูหนวกได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น

ผู้แต่ง/แหล่งที่มา: 
ส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181