ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รายงานการศึกษาสภาพและความต้องการใช้สื่อการศึกษาของนักเรียนตาบอดระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนเรียนร่วมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ สำรวจสภาพและความต้องการใช้สื่อการศึกษาของนักเรียนตาบอดในโรงเรียนเรียนร่วม ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กลุ่มตัวอย่างประชากรในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย ครูเสริมวิชาการ 6 คน และนักเรียนตาบอดระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 38 คนในโรงเรียนเรียนร่วมทั้งหมด 5 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยใช้แบบสอบถามด้วยวิธีการสัมภาษณ์ นำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยคำนวณความถี่และร้อยละ ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนตาบอดระดับมัธยมศึกษาตอนต้นทุกคนเคยใช้หนังสืออักษรเบรลล์ประกอบการเรียนการสอนในหลักสูตรและการศึกษาตามอัธยาศัยตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ขณะที่นักเรียนตาบอดร้อยละ 60.53 เคยใช้หนังสือเสียงเมื่อเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และร้อยละ 13.16 ไม่เคยใช้หนังสือเสียงเลย ด้านทัศนคติต่อการใช้สื่อการศึกษา นักเรียนตาบอดระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 92.11 เห็นว่า สื่อการศึกษามีความจำเป็นมากขึ้นเมื่อเข้าเรียนในโรงเรียนเรียนร่วมในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยที่นักเรียนตาบอดร้อยละ 81.58 เห็นว่า หนังสืออักษรเบรลล์และหนังสือเสียงยังมีจำนวนไม่เพียงพอ และนักเรียนตาบอดร้อยละ 57.89 ชอบใช้หนังสืออักษรเบรลล์มากกว่าใช้หนังสือเสียง และร้อยละ 86.84 เห็นว่า หนังสืออักษรเบรลล์มีประโยชน์ในระดับมากถึงมากที่สุด โดยสื่อทั้งรูปแบบนี้จะช่วยให้นักเรียนตาบอดเรียนได้เท่าเทียมนักเรียนปกติ ด้านพฤติกรรมการใช้สื่อการศึกษา นักเรียนตาบอดร้อยละ 90 ใช้หนังสืออักษรเบรลล์อ่านประกอบในขณะเรียนเป็นสื่อหลัก และร้อยละ 55.26 ใช้หนังสือเสียงทบทวนหลังเรียน โดยภาษาไทย คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ เป็น 3 อันดับแรกที่นักเรียนตาบอดเห็นความจำเป็นในการใช้หนังสืออักษรเบรลล์มากที่สุด ขณะที่สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ภาษาอังกฤษและวิทยาศาสตร์เป็น 3 อันดับแรกที่นักเรียนตาบอดเห็นความจำเป็นในการใช้หนังสือเสียงมากที่สุด ด้านสภาพและความต้องการใช้สื่อการศึกษา นักเรียนตาบอดร้อยละ 39.47 เห็นว่า สื่อที่มีจำนวนจำกัดเป็นปัญหาในระดับมากถึงมากที่สุด ส่วนกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เป็นปัญหามากที่สุดในการเรียนร่วมคือ คณิตศาสตร์ รองลงมาคือ วิทยาศาสตร์ ส่วนความต้องการใช้หนังสืออักษรเบรลล์เนื้อหาสาระในหลักสูตรในระดับมากที่สุดคือ ภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ ขณะที่ต้องการหนังสือเสียงภาษาอังกฤษและสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมเป็นอันดับแรก ส่วนความต้องการหนังสืออักษรเบรลล์และหนังสือเสียงตามอัธยาศัยนั้น เป็นประเภทนวนิยาย สารคดี และเรื่องสั้น เรียงลำดับกัน
ข้อมูลงานวิจัย: 
ชื่อบท: 
คำนำ
เนื้อหา: 

 
ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา  สำนักงาน กศน. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นหน่วยงานหลักในการผลิต พัฒนาและเผยแพร่สื่อการศึกษารูปแบบต่างๆ เพื่อให้ใช้เสริมการเรียนการสอนทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย สำหรับคนพิการทุกประเภทรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการนับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา
            เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายคนพิการและผู้ที่เกี่ยวข้องมีหลากหลาย  และมีความต้องการเนื้อหาและรูปแบบสื่อที่เหมาะสมกับสภาพความพิการของตนแตกต่างกันไป  ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาซึ่งรับผิดชอบต่อการผลิต พัฒนา และเผยแพร่สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ จึงจำเป็นต้องศึกษาสำรวจสภาพและความต้องการใช้สื่อ ทั้งนี้ เพื่อการเลือกสรรและพิจารณาการผลิตสื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายต่อไป
รายงานการศึกษาวิจัยฉบับนี้  เป็นการศึกษาสภาพและความต้องการใช้สื่อการศึกษาของนักเรียนตาบอดระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนเรียนร่วมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  ซึ่งข้อมูลและข้อคิดเห็นที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้  ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาจะได้นำมาพัฒนาการผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษาเพื่อกลุ่มเป้าหมายนักเรียนตาบอดซึ่งศึกษาอยู่ในสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่า ข้อมูลจากการวิจัยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนตาบอดเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาการใช้สื่อการศึกษาสำหรับนักเรียนตาบอดได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น

ผู้แต่ง/แหล่งที่มา: 
ส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก