ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การป้องกันและแก้ไขปัญหาในการเขียนสำหรับเด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้(Prevention and Intervention of Writing Difficulties for Students with Learning Disabilities) ตอนที่ 4

Steven Graham, Karen R. Harris, and Lynn Larsen (2001)

ตารางที่ 2

ขั้นตอนการดำเนินการที่อาศัยการวิจัยเพื่อการสอนเรื่องการสะกดคำศัพท์แก่เด็กนักเรียนที่มีอาการของ LD
   
@ ก่อนเรียนการสะกดคำใหม่ๆ ให้เด็กทำการทดสอบก่อนเรียนเพื่อระบุคำต่างๆ ที่เด็กจำเป็นต้องเรียน
@ หลังจากเรียนรู้การสะกดคำใหม่ๆ เด็กควรทำการทดสอบหลังเรียน เพื่อระบุคำที่ควรรู้เป็นอย่างดี
@ ให้เด็กแก้ไขคำที่สะกดผิดต่างๆ ทันทีที่ทำบททดสอบเรื่องการสะกดคำเสร็จ
@ เด็กได้เรียนรู้เรื่องกลยุทธ์ในการเรียนการสะกดคำใหม่ๆ อย่างเป็นระบบและได้ผล
@ มีการเรียนและการทดสอบการสะกดคำใหม่ ๆ จัดขึ้นทุกวัน
@ เด็กได้ทำงานด้วยกัน มีการร่วมกันเตรียมการ เช่น การสอนโดยเพื่อนร่วมชั้น (Maheady, Harper, Mallette & Winstantley, 1991) เพื่อเรียนรู้การสะกดคำใหม่ๆ
@ จำนวนคำที่ต้องเรียนรู้ให้ได้ในหนึ่งสัปดาห์ เป็นคำที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ลดลงเป็น 6-12 คำ ขึ้นอยู่กับความสามารถของเด็ก
@ ขณะกำลังเรียน เด็กได้เฝ้าสังเกตพฤติกรรมขณะทำงานหรือจำนวนเวลาที่ใช้ไปในการฝึกสะกดคำจนประสบผลสำเร็จ
@ มีการทบทวนการสะกดคำที่สอนไปแล้วเพื่อให้มั่นใจว่าจำได้

หมายเหตุ ปรับปรุงจาก Graham (1999)

ปัจจุบัน การสะกดคำ การวางแผน และการทบทวน คือเรื่องที่เรารู้มากที่สุดในการปรับแต่งการสอนด้านการเขียนเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของเด็กที่มีอาการของ LD ตามความคิดของ Graham (1999) แผนงานด้านการเรียนรู้การสะกดคำสำหรับเด็กที่มีอาการของ LD ที่ได้ผล มีองค์ประกอบ 4 ส่วนด้วยกัน ส่วนที่หนึ่ง เด็กที่มีอาการของ LD จำเป็นต้องเรียนวิธีการสะกดคำที่พวกเขาใช้เป็นปกติในการเขียน กระบวนการในการสอนการสะกดคำศัพท์ให้กับเด็กนักเรียนเหล่านี้ ที่ได้รับการรับรองได้สรุปไว้แล้วในตารางที่ 2 ส่วนที่สอง เด็กที่มีอาการของ LD จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการทำให้สามารถสะกดคำที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนได้อย่างคล่องแคล่ว ครูสามารถช่วยให้พัฒนาการทางทักษะด้านนี้เกิดได้ง่ายขึ้นโดยการสอนด้วยการตระหนักรู้ในระบบเสียง (อ่าน O’Connor, Notari-Syverson, & Vadasy, 1998; Troia, Roth, & Graham, 1998) หลักการเรียงตามตัวอักษร (เช่น สอนเรื่องความเชื่อมโยงกันของหน่วยเสียงและหน่วยอักขระ แบบแผนของการสะกดคำ หลักเกณฑ์ในการสะกดคำ ฯลฯ) ทักษะในการใช้พจนานุกรม และกลยุทธ์ในการ ‘คิดให้ออก’ เพื่อใช้กับคำที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน อย่างเช่นการสะกดโดยอาศัยความคล้ายคลึงกัน (อ่าน Englert, Hiebert, &Stewart, 1985) ส่วนที่สาม เด็กนักเรียนที่มีอาการของ LD จำเป็นต้องรู้วิธีการตรวจและแก้ไขคำที่ตนเขียนผิด ซึ่งรวมถึงการเรียนรู้วิธีการใช้โปรแกรมตรวจตัวสะกดและอุปกรณ์ช่วยอื่นๆ เช่น พจนานุกรม ร้องขอความช่วยเหลือในการแก้ไขเรียบเรียงจากคนอื่น และการใช้กลยุทธ์ อย่างเช่นอ่านออกเสียงดังๆ เพื่อหาคำที่สะกดผิด ส่วนที่สี่ เด็กที่มีอาการของ LD จำเป็นต้องพัฒนาความต้องการที่จะสะกดคำได้อย่างถูกต้อง ครูสามารถส่งเสริมให้เกิดแนวโน้มนี้ได้โดยการเป็นต้นแบบของการแก้คำผิดเมื่อต้องเขียนเรื่องในชั้นเรียน และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมให้มากที่สุด จัดแสดงและพิมพ์งานเขียนของเด็ก (เพื่อส่งเสริมความสนใจในการแก้ไขการสะกดคำในสถานการณ์ที่ใช้ได้จริงและสถานการณ์ทางสังคม

ไม่น่าสงสัยเลยว่า การใช้ขั้นตอนแบบดั้งเดิม อย่างเช่น การเขียนเป็นกิจวัตรประจำวัน ที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ ต้องใช้ขั้นตอนการวางแผนและการทบทวน ที่จะเสริมงานเขียนให้แข็งแกร่ง (ดูตัวอย่างอื่นๆ ในตารางที่ 1) เพิ่มความเป็นไปได้ที่เด็กซึ่งมีอาการของ LD จะได้เข้าร่วมในกระบวนการต่างๆนี้เมื่อต้องเขียนหนังสือ อย่างไรก็ตาม เด็กเหล่านี้หลายคนได้รับประโยชน์จากการสอนที่ขยายวงกว้างและชัดเจน ทั้งในกลยุทธ์การวางแผนและการทบทวน (Englert, Raphael, Anderson, Anthony, Stevens & Fear, 1991; Graham & Harris, 1996; Harris & Graham, 1999; Wong, 1997) ตัวอย่างเช่น ในงานวิจัยของเรา (Graham, Harris, MacArthur, & Schwartz, 1991b; Harris & Graham, 1996) เราได้รับความสำเร็จในการสอนเด็กที่มีอาการของ LD ให้ใช้กลยุทธ์ในการวางแผนและทบทวนแบบเดียวกับที่นักเขียนที่มีทักษะเหนือกว่าใช้เวลาเขียนเรื่อง ด้วยวิธีการนี้ (ได้แก่ การพัฒนากลยุทธ์ในการควบคุมตนเอง หรือ Self-Regulated Strategy Development) เริ่มจากการที่ครูเป็นต้นแบบแสดงวิธีการใช้การวางแผนที่มีเป้าหมายหรือกลยุทธ์ในการทบทวน แล้วพยายามหาทางช่วยเหลือให้มากเท่าที่เด็กต้องการ เมื่อเด็กเริ่มรู้จักใช้กลยุทธ์ต่างๆ นี้ได้ด้วยตนเอง ขอบเขตของการให้ความช่วยเหลือนี้ นับตั้งแต่ครูทำงานเหมือนเป็นคู่คิดในการใช้กลยุทธ์กับเพื่อนๆ เพื่อช่วยกันใช้กลยุทธ์มาเป็นสิ่งช่วยเตือนความจำ ให้แต่ละคนนำกลยุทธ์นั้นๆ มาใช้บางส่วน หรือไม่ก็นำมาใช้ทั้งหมด เด็กก็จะได้เรียนรู้ความเป็นมาที่จำเป็นสำหรับการนำกลยุทธ์มาใช้ มาพัฒนานำไปสู่ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่ากลยุทธ์นั้นๆ สามารถช่วยตนในการเขียนได้อย่างไร และมีการตรวจสอบอย่างเป็นระบบว่าจะนำกลยุทธ์ไปใช้นอกเหนือจากการสถานการณ์การเรียนรู้ในเบื้องต้นได้ที่ไหน อย่างไร (ได้แก่ การรักษาสถานภาพ การเขียนในภาพรวม ฯลฯ) การเรียนรู้และวิธีการนำกลยุทธ์ไปใช้ได้รับการส่งเสริมมากยิ่งขึ้น โดยการใช้การสอนตนเอง การตั้งเป้าหมาย การเฝ้าสังเกตตนเอง และการประเมินตนเอง ยกตัวอย่างเช่น เด็กมักจะคิดและใช้ข้อความที่บอกถึงตัวเองโดยเฉพาะ เพื่อใช้ในการจัดการกับพฤติกรรมบางอย่างของตน (เช่น ความหุนหันพลันแล่น) ที่มาเป็นอุปสรรคของการใช้กลยุทธ์ เด็กจะถูกกระตุ้นให้ประเมินว่ากลยุทธ์นี้ได้ช่วยปรับปรุงการเขียนของตนอย่างไรบ้าง แล้วให้ตั้งเป้าหมายในการใช้กลยุทธ์ในสถานการณ์ใหม่ๆ ทั้งยังมีการเน้นความสำคัญของความเพียรพยายามและบทบาทของเด็กในฐานะของผู้ร่วมงานในกระบวนการเรียนรู้ ตลอดระยะเวลาของการสอนด้วย ท้ายที่สุดนั้น การสอนต้องอาศัยหลักเกณฑ์เป็นฐาน หากเด็กยังสามารถก้าวไปสู่ขั้นตอนต่อๆ ไปของการสอน (เช่น จากการใช้กลยุทธ์ที่ต้องมีการช่วยเหลือ ไปเป็นการใช้กลยุทธ์ได้ด้วยตัวเอง) จนกว่าพวกเขาจะสามารถผ่านหลักเกณฑ์ขั้นต้นได้เป็นอย่างน้อย

รูปแบบของกลยุทธ์ในการควบคุมตนเอง (Self-Regulated Strategy Model) นำมาใช้เพื่อสอนกลยุทธ์ที่หลากหลายในการวางแผนและการทบทวนสำหรับเด็กที่มีอาการของ LD (อ่าน Harris & Graham, 1999) ซึ่งประกอบด้วยการระดมความคิด การใช้แผนที่ความคิดแบบ Semantic Webbing (ความสัมพันธ์ของใจความสำคัญ หรือคำๆ หนึ่งกับคำอื่นๆ ในด้านความหมายทางภาษาศาสตร์) การแจกแจงความคิดและการจัดระบบการเขียนเนื้อหาโดยอาศัยการจัดโครงสร้าง (เช่น เรื่องราว ไวยากรณ์ ฯลฯ) การอ่านเพื่อกำหนดรายละเอียด การตั้งเป้าหมาย การทบทวนโดยอาศัยการติชมของเพื่อนๆ รวมทั้งการทบทวน ทั้งวิธีการเขียนและสาระสำคัญ การสอนโดยใช้กลยุทธ์เหล่านี้ นำไปสู่การพัฒนาความสามารถของเด็กได้ถึง 4 ด้าน คือ คุณภาพของการเขียน ความรู้เรื่องการเขียน วิธีการเขียน และประสิทธิภาพของการเขียน (Graham et al., 1991 b) สำหรับผู้อ่านที่สนใจเรื่องของกลยุทธ์ต่างๆที่ได้นำเสนอมา หรือรูปแบบของกลยุทธ์ในการควบคุมตนเอง(Self-Regulated Strategy Model) อย่างละเอียดกว่านี้ โปรดอ่าน Harris & Graham (1996)
 

แปลและเรียบเรียงจาก Prevention and Intervention of Writing Difficulties for Students with Learning Disabilities By: Steven Graham, Karen R. Harris, and Lynn Larsen (2001) โดยส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก