ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การป้องกันและแก้ไขปัญหาในการเขียนสำหรับเด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Prevention and Intervention of Writing Difficulties for Students with Learning Disabilities) ตอนที่ 2

Steven Graham, Karen R. Harris, and Lynn Larsen (2001)

จัดการสอนด้านการเขียนที่มีประสิทธิผล

ในบทสนทนาของ Charlie Brown กับ Linus เพื่อนของเขา Charlie ถามขึ้นมาว่า ‘นายรู้ไหมว่าทำไมครูสอนภาษาอังกฤษถึงต้องเรียนมหาวิทยาลัยถึงสี่ปี” Linus คิดอยู่ราวหนึ่งนาทีแล้วตอบว่า

‘ไม่รู้สิ’ Charlie นั้นมีคำตอบอยู่ในใจของตัวเองแล้ว แต่ก็ยังส่งเสียงร้องแหลมออกมาว่า ‘ก็เพื่อที่จะได้ทำให้เด็กเล็ก ๆ เขียนเรียงความโง่ ๆ ว่าพวกเขาได้ทำอะไรไปบ้างในระหว่างปิดเทอมหน้าร้อนที่แสนจะบัดซบไงล่ะ’

แม้ว่าเราจะไม่มั่นใจว่า การคร่ำครวญของ Charlie Brown จะพุ่งเป้าไปที่การบ้านเรื่องนั้นของครูคนนั้นๆ หรือหมายถึงการสอนทั่วไป ยังคงมีข้อกังขาว่า ความสำเร็จของเด็กในการเป็นนักเขียนนั้นต้องยึดโยงอย่างใกล้ชิดกับคุณภาพของการสอนด้านการเขียนที่มีในโรงเรียนหรือไม่ ดังนั้น กลยุทธ์สำคัญในการป้องกันปัญหาทางด้านการเขียนไม่ให้เกิดขึ้น ทั้งสำหรับเด็กที่มีอาการของ LD และไม่มี คือการจัดการสอนด้านการเขียนอย่างมีประสิทธิผล โดยเริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาล และประถมปีที่ 1 ต่อเนื่องไปจนจบการศึกษา แม้ว่าวิธีนี้จะไม่ได้ช่วยขจัดปัญหาด้านการเขียนได้ทั้งหมด แต่ก็มีข้อดีถึง 3 ประการ คือ หนึ่ง การสอนดังกล่าวจะมาช่วยปรับปรุงการเขียนของเด็กโดยทั่วไปให้บังเกิดผลมากที่สุด สอง การสอนนี้ จะช่วยลดจำนวนเด็กที่ต้องประสบกับความล้มเหลวทางด้านการเขียนเนื่องมาจากการสอนที่ไร้คุณภาพ สาม การสอนนี้สามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขความรุนแรงของปัญหาทางด้านการเขียนที่เกิดขึ้นกับเด็ก ผู้ที่ปัญหาสำคัญของพวกเขาไม่ได้เกิดจากการสอน อย่างเช่นเด็กที่มีอาการของ LD เหล่านี้

การสอนด้านการเขียนที่มีประสิทธิผลเป็นอย่างไร? เรานำเอาแหล่งข้อมูลหลากหลายมาใช้ในการตอบคำถาม รวมทั้งการทบทวนผลงานวิจัยทางการสอนด้านการเขียนให้นักเรียนที่มีและไม่มีปัญหาด้านการเขียน คำแนะนำในการสอนการเขียนให้เด็กที่มีอาการของ LD และเด็กที่มีความต้องการพิเศษอื่นๆ และการศึกษาเกี่ยวกับการฝึกสอนของครูที่มีความสามารถในการอ่านและเขียนดีเด่น ผลของการวิเคราะห์ได้นำมาเสนอไว้แล้วในตารางที่ 1

The Early Literacy Project (โครงการอ่านออกเขียนได้ก่อนกำหนด หรือ ELP) ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดย Englert และเพื่อนร่วมงานของเธอ ได้จัดทำตัวอย่างของโครงการเพื่อการอ่านออกเขียนได้ที่รวบรวมเอาลักษณะสำคัญหลายประการดังที่นำเสนอไว้ในตารางที่ 1 โครงการนี้ได้นำไปใช้กับเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 ไปจนถึงประถมปีที่ 4 ที่มีความต้องการพิเศษเมื่อต้องเข้าเรียนในห้องเสริมวิชาการและห้องเรียน เด็กส่วนมากถูกระบุโดยทางโรงเรียนว่าเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้

ด้วยโครงการ ELP นี้ การเขียนและการอ่านถูกนำมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เป็นหน่วยการเรียนรู้หน่วยต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ในหน่วยการเรียนรู้เรื่องสุนัขป่า นักเรียนจะอ่านเอกสารที่อธิบายและเล่าเรื่องเกี่ยวกับสัตว์เหล่านี้ และใช้การเขียนเป็นหนทางในการตอบสนองเนื้อหานั้น รวมทั้งเป็นวิธีการในการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุนัขป่า ทั้งนี้ทั้งทักษะ (เช่น การสะกดคำ) และกลวิธีของการสอนเพื่อการวางแผนในการเขียนและทบทวนเนื้อหานั้นๆจะเกิดขึ้นภายในเนื้อหาของหน่วยการเรียนรู้เหล่านี้  และมีการสนับสนุนจากการเป็นต้นแบบของครู การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการฝึกฝนที่มีการชี้นำในการใช้กระบวนการเหล่านี้ โอกาสที่จะมีส่วนร่วมในการเขียนอย่างมีความหมายมีมากมายเหลือเฟือ เพราะว่าเด็กไม่เพียงแต่จะสนองตอบในการเขียนต่อข้อมูลที่ได้อ่านไปเท่านั้น แต่ยังสามารถเก็บวารสาร เรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ของบุคคลที่จัดทำขึ้น และเขียนรายงานร่วมกับเด็กคนอื่นๆ แล้วครูก็จะจัดหาสิ่งที่จะมาช่วยส่งเสริมเป็นการชั่วคราวเพื่อช่วยประคับประคองการเรียนรู้ของเด็ก ยกตัวอย่างเช่น ครูในโครงการ ELP ใช้ธนาคารคำ พจนานุกรมภาพ และเอกสารการวางแผน มาเป็นอุปกรณ์การสอนชั่วคราว เพื่อช่วยให้เด็กเขียนในยามที่เด็กไม่สามารถเขียนได้เมื่อปราศจากอุปกรณ์ช่วยดังกล่าว ต้องมีการสร้างชุมชนในชั้นเรียนที่ช่วยสนับสนุนขึ้นมา โดยการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการแบ่งปันและความร่วมแรงร่วมใจของนักเรียนในชั้น นักเรียนได้ทำงานร่วมกันในการใช้กลยุทธ์ที่มีครูเป็นต้นแบบ ส่วนมากมักเป็นการพูดคุยกันว่าแต่ละคนกำลังทำอะไรอยู่ และนำข้อเขียนของตนมาแบ่งปันกัน โดยการอ่าน หรือไม่ก็เป็นเอกสารที่เขียนด้วยลายมือ ท้ายที่สุด โครงการ ELP ได้รับการเสริมด้วยการสอนทักษะที่เป็นแบบธรรมดาทั่วไป ในขณะที่ผู้ร่วมกิจกรรมได้รับการสอน อย่างแจ่มแจ้งและเป็นระบบ เกี่ยวกับการรับรู้เรื่องหน่วยเสียง การสะกดคำ และทักษะเรื่องเสียงของศัพท์

ขั้นตอนการเขียนของเด็กในโครงการ ELP ถูกนำมาเปรียบเทียบกับการกระทำของเด็กที่มีความคล้ายกันในโรงเรียนประจำเขตเดียวกัน ในการเปรียบเทียบกับเด็กในความดูแลเหล่านี้ เด็กที่ถูกสอนโดยครูอาวุโสของโครงการ ELP จะได้รับประโยชน์อย่างมากในเรื่องของการเขียน กระดาษการบ้านมีคำที่เขียนผิดเพียงเล็กน้อย มีข้อความยาวขึ้น และเป็นระเบียบดีกว่าเดิม การปรับปรุงแก้ไขต่างๆ นี้ประสบความสำเร็จภายในเวลาเพียง 1 ปีของการเปิดสอน ถ้าหากมีการจัดให้มีการสอนเช่นนี้อยู่เป็นประจำอย่างสอดคล้องกันในแต่ละปีการศึกษาแล้ว ก็น่าจะเป็นไปได้ว่า เด็กๆในโครงการจะได้รับประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น หนังสือ Mariage รายงานว่า การสอนในโครงการ ELP ในระยะเวลา 2-3 ปี โดยเริ่มต้นจากระดับประถมศึกษานั้น เพียงพอสำหรับการนำพาเด็กนักเรียนบางส่วนที่มีความต้องการพิเศษให้พัฒนาก้าวไปสู่การสร้างผลงานที่มีการแบ่งตามระดับคะแนนได้

ปรับแต่งการสอนด้านการเขียนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กที่มีอาการของ LD
การปรับเปลี่ยน

หลังจากวางรายงานของเธอลงบนโต๊ะทำงานของครูแล้ว  Sally น้องสาวของ Charlie Brown หมุนตัวกลับไปยังที่นั่งของเธอ แล้วเธอก็บอกกับครูว่า กระดาษแผ่นนั้นคือสมุดรายงานและบอกเพิ่มเติมด้วยความละห้อยหาว่า ‘อะไรคือ ความแปลกประหลาดของความรักเล็ก ๆ กับความเข้าใจ?’

ครูสอนด้านการเขียนที่ดีเยี่ยมหลายๆ ท่าน ไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักในความสำคัญของ ‘ความรักเล็ก ๆ กับความเข้าใจ’ เท่านั้น แต่ท่านยังได้เน้นความสำคัญของการปรับแต่งการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะตัวของเด็ก ซึ่งมีปัญหาการเรียนรู้เรื่องการเขียน รวมทั้งเด็กที่มีอาการของ LD ด้วย จากรายงานการศึกษาของ Pressley et al. ที่ยกตัวอย่างของครูคุณภาพที่สอนตั้งแต่ระดับอนุบาลขึ้นไปจนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 2 รายงานว่า ได้จัดการสอนที่คล้ายกันในเชิงคุณภาพให้แก่เด็กนักเรียนทุกคน แต่ความที่เด็กมีปัญหาในด้านการรู้หนังสือจึงต้องการความช่วยเหลือจากครูเป็นพิเศษ ซึ่งรวมถึงการทุ่มเทความสนใจที่มากขึ้นต่อพัฒนาการของทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ  การสอนทักษะเหล่านี้ให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง และการให้ความช่วยเหลือโดยมีการชี้แนะให้มากขึ้น วิธีการนี้ได้อธิบายพร้อมยกตัวอย่างไว้ในรายงานการศึกษาเชิงคุณภาพของ Dahl และ Freepon กล่าวถึงการที่ครูคอยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นการส่วนตัวแก่ผู้อ่อนด้านการเขียน รวมถึงการประคับประคองและการให้คำชี้แนะที่มีการวางแผนไว้ก่อนเพื่อช่วยให้พวกเขารู้จักขัดเกลาและขยายทักษะด้านการเขียนให้กว้างกว่าเดิม ยกตัวอย่าง ผู้เขียนที่กำลังใช้ความพยายามอยู่ในชั้นเรียนของบรรดาครูเหล่านี้ ต่างได้รับการสนับสนุนการสอนเพิ่มเติมในเรื่องของการสะกดคำ โดยครูๆ ของพวกเขาได้จัดสรรเวลาพิเศษเพื่อสอนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตัวอักษรและเสียงอย่างละเอียดให้กับผู้เรียนเหล่านี้

ตารางที่ 1
ลักษณะของการสอนเรื่องการเขียนที่เป็นแบบฉบับ (Features of exemplary writing instruction)

  • สภาพแวดล้อมของชั้นเรียนเพื่อการเรียนรู้ที่งานเขียนของนักเรียนจะได้รับการนำไปจัดแสดงไว้อย่างเด่นสะดุดตา ห้องเต็มไปด้วยอุปกรณ์ในการเรียนรู้เรื่องการเขียนและการอ่าน รวมทั้งรายการคำต่างๆ ประดับไว้บนฝาผนัง
  • การเขียนในแต่ละวัน คือการให้นักเรียนทำงานเขียนอย่างกว้าง ๆ สำหรับผู้อ่านที่มีหลากหลาย รวมทั้งการเขียนเป็นการบ้านด้วย
  • ความพยายามที่ทุ่มเทลงไปอย่างอย่างกว้างขวางเพื่อทำให้การเขียนได้รับการกระตุ้นด้วยสภาพแวดล้อมที่น่าตื่นเต้น ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไร้ความเสี่ยง มีการยอมให้เด็กเลือกหัวข้อเรื่องที่จะเขียนเอง หรือปรับเปลี่ยนการบ้านที่ครูให้ทำ ปรับหัวข้อเรื่องที่ถูกกำหนดมาให้เข้ากับความสนใจของเด็ก ช่วยทำให้เด็กประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น มีการกำหนดเป้าหมายของแต่ละบทเรียน และกระตุ้นให้เกิดทัศนคติ ‘ฉันทำได้’ ขึ้น
  • การประชุมครู/นักเรียนเรื่องหัวข้อการเขียนเป็นประจำยังคงใช้ได้ผลอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายหรือหลักเกณฑ์ที่นำไปสู่ความพยายามในการเขียนและการทบทวนของเด็ก
  • การเขียนเป็นประจำทุกวันที่อาจคาดการณ์ได้ จะช่วยให้เด็กรู้จักคิด สะท้อนความคิดออกมา และมีการทบทวนในที่สุด
  • การให้ครูเป็นต้นแบบในขั้นตอนต่างๆของการเขียนให้ชัดเจนที่สุด รวมทั้งให้มีทัศนคติที่ดีต่อการเขียน
  • การตระเตรียมงาน ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของเด็กนักเรียน ที่มาช่วยวางแผน เขียนร่าง ทบทวน แก้ไขเรียบเรียง หรือพิมพ์งานเขียนของพวกตน
  • การแบ่งปันกันในระดับกลุ่มและรายบุคคล ที่เด็กจะนำเสนองานเขียนที่กำลังทำอยู่หรือรายงานที่เขียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เพื่อนวัยเดียวกันฟังเพื่อขอความคิดเห็นติชม
  • การสอนที่ครอบคลุมขอบข่ายที่กว้างขวางของทักษะด้านต่างๆ ความรู้ และกลยุทธ์ รวมทั้งการระมัดระวังเรื่องเสียงในภาษา การเขียนลายมือและการสะกดคำ ธรรมเนียมปฏิบัติในการเขียน ทักษะการเขียนในระดับการสร้างประโยค โครงสร้างเนื้อหา บทบาทของการเขียน การวางแผนและการทบทวน  
  • การติดตามผลการสอนเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถควบคุมทักษะการเขียน ความรู้ และกลยุทธ์ให้ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
  • การรวมกิจกรรมการเขียนเข้าในหลักสูตร และการใช้การอ่านสนับสนุนการเขียน
  • ให้โอกาสเด็กได้ควบคุมพฤติกรรมด้วยตนเองเสมอ ในระหว่างการเขียน รวมทั้งการทำงานเป็นเอกเทศ จัดที่ทางของตนเอง และแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่น
  • การประเมินผลครูและนักเรียนในความก้าวหน้า ความแข็งแกร่งและความต้องการของงานเขียน
  • การจัดการประชุมเป็นครั้งคราวกับผู้ปกครอง และติดต่อส่งข่าวคราวกับทางบ้านเกี่ยวกับแผนงานด้านการเขียน และความก้าวหน้าในการเขียนของเด็ก

 

แปลและเรียบเรียงจาก Prevention and Intervention of Writing Difficulties for Students with Learning Disabilities By: Steven Graham, Karen R. Harris, and Lynn Larsen (2001) โดยส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก