ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

AD System เทคโนโลยีช่วยคนตาบอดดูหนัง"

           ท่ามกลางการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาล อันเกิดพัฒนาการแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสื่อสารในยุค 3.0 กลับมีคนอีกหนึ่งกลุ่มที่ไม่อาจเสพรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างเท่าเทียม จากความพิการหรือผิดปกติทางร่างกายในบางส่วน อันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึง "สุนทรียภาพ" จากสื่อบางชนิด โดยเฉพาะ "ภาพยนตร์" ที่จำเป็นต้องใช้ "ตา" และ "หู" ช่วยซึมซับ "ภาพ" และ "เสียง" ทำให้ "ผู้พิการทางสายตา" และ "ผู้พิการทางหู" สนุกไม่เต็มร้อย

           "ต่อพงษ์ เสลานนท์" นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย บรรยายความรู้สึกที่มีต่อการดูหนังหลังตนเองต้องพิการทางสายตาให้ฟังว่า การมองไม่เห็นทำให้อารมณ์ร่วมที่มีต่อหนังหายไปเกินกว่าครึ่ง เข้าใจหนังแบบไม่สมบูรณ์เต็มร้อย

           "ปกติคนตาบอดสามารถดูหนังในโรงได้เหมือนกัน แต่ต้องมากับใครสักคนหนึ่งที่ช่วยอธิบายเรื่องได้ เพราะบางเรื่องมีส่วนที่ไม่มีบทพูดเต็มไปหมด ทำให้เราไม่เข้าใจในหนังและรู้สึกค้างคาอารมณ์ ซึ่งปัญหาของวิธีนี้อยู่ที่ไม่มีใครมานั่งเล่าให้เราฟังในโรงหนังได้ทั้งเรื่องหรอก" นายกสมาคมคนตาบอดฯ อธิบาย

          จนกระทั่งการเข้ามาของเทคโนโลยี "Closed Caption (CC)" หรือ "ข้อความบรรยายภาพ" และ "Audio Description (AD)" หรือ "เสียงบรรยายภาพ" ในวงการภาพยนตร์ ได้ช่วยเติมเต็มอารมณ์ร่วมแก่ผู้มีปัญหาทางสายตาและหู ให้สนุกกับหนังไม่ต่างจากการดูหนังของคนธรรมดาทั่วไป

เพียงแต่ระบบรองรับการชมภาพยนตร์ของผู้มีปัญหาทางร่างกายข้างต้น ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากในเมืองไทย มีเพียง Closed Caption เท่านั้นที่คนไทยคุ้นตากันบ้างจาก "ยูทูบ" และ "โฮมดีวีดี" ในช่วง 3-4 ปีหลัง

           ส่วนระบบ AD เพิ่งจะมีขึ้นจริงจังกับอุตสาหกรรมหนังไทยแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น โดยเรื่องแรกที่มีให้เห็นชัดเจนเกิดขึ้นในโครงการ "บอดเห็นผี" ของสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา ได้นำ "นางนาก" ของผู้กำกับ "นนทรีย์ นิมิบุตร" กลับมาฉายอีกครั้งพร้อมระบบเสียงบรรยายภาพ ณ โรงหนัง House RCA เมื่อ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา

          ถัดจากนั้นอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ "จีทีเอช" ได้เปิดตัวดีวีดีภาพยนตร์ "คิดถึงวิทยา" ตัวแทนหนังไทยบนเวทีออสการ์ ปี 2015 ซึ่งเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่นำระบบ AD เข้ามาใช้ เพื่อรองรับคนดูกลุ่มผู้มีปัญหาทางด้านสายตาในเมืองไทย โดยมี "เอไอเอส" เข้ามาช่วยให้การสนับสนุนอีกแรง

         "จินา โอสถศิลป์" กรรมการผู้จัดการของจีทีเอช กล่าวถึงการเพิ่มระบบเสียงบรรยายภาพลงไปในดีวีดีคิดถึงวิทยาว่า เกิดจากการพูดคุยกับเพื่อนร่วมรุ่นนิเทศฯ จุฬาฯ คนหนึ่งที่มีปัญหาทางด้านสายตา เกี่ยวกับการทำหนังไทยในระบบ AD เหมือนที่เมืองนอกทำกันอย่างแพร่หลาย จึงได้นำประเด็นดังกล่าวเข้ามาพูดคุยในบริษัทถึงงบประมาณการทำ ถ้าไม่สูงมากเกินไปก็น่าจะเป็นการแบ่งปันความสุขให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง

            "นอกจากหนังสำหรับผู้พิการทางสายตาแล้ว ก็มีคนถามกันเข้ามามากเหมือนกันเรื่องผู้พิการทางหู แต่ตอนนี้เราทำได้เพียงแค่ทีละอย่างเท่านั้น ซึ่งระบบของผู้พิการทางหูเรากำลังศึกษาอยู่ หากสามารถทำออกมาได้ควบคู่กันจริง ๆ จีทีเอช ก็ยินดีที่จะทำ เพราะถึงค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นมาอีกสัก 5-6 แสน (ต่อเรื่อง) แต่ถ้าผลตอบรับกลับมามันคุ้มค่าทางความรู้สึก เราก็จะทำ" จินาอธิบาย

           นอกจากเรื่องคิดถึงวิทยาแล้ว จีทีเอชมีแผนนำระบบ AD ใส่เข้าไปในหนังของค่ายอีกหลายเรื่อง เพียงแต่ต้องดูความเหมาะสมของหนังแต่ละแนวว่าทำได้หรือไม่ ยกตัวอย่าง หนังผีคงทำได้ยาก เพราะอาจจะทำให้ความสนุกและอรรถรสของความน่ากลัวเสียไป ต่างจากหนังรัก, ดราม่า หรือตลก ที่มีศักยภาพพอทำเสียงบรรยายภาพออกมาได้

ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากระบบเสียงบรรยายภาพจะเป็นที่แพร่หลายในวงการภาพยนตร์ บางประเทศยังได้ตัดสินใจสร้างโรงหนังพิเศษสำหรับคนตาบอดขึ้นมา เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้มีปัญหาทางสายตาโดยเฉพาะ

แต่ในมุมมองของต่อพงษ์ โรงหนังเฉพาะผู้พิการกลับไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะเขาไม่ต้องการให้คนตาบอดถูกแยกออกมาจากสังคมปกติ

           "เราไม่ต้องการให้แยกคนตาบอดออกมาจากคนทั่วไป เพราะคนตาบอดก็เป็นคนทั่วไปเหมือนกัน เพียงแค่วิธีการเสพภาพยนตร์อาจจะต่างกันนิดหน่อย ตรงที่ใช้หูในการชมภาพยนตร์เท่านั้นเอง ขอเพียงค่ายหนังผลิตหนังที่มีระบบ AD ออกมาอย่างต่อเนื่องก็พอ ส่วนทางโรงหนังอาจจะมีหูฟังแจกเฉพาะคนตาบอดก็ได้" นายกสมาคมคนตาบอดฯกล่าว

          นอกจากนี้ ต่อพงษ์ได้เพิ่มเติมว่าแก่นของการมีระบบ AD คือเรื่องของข้อมูลข่าวสาร เพราะยังมีคนอีกเป็นล้าน ๆ คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น หากเป็นไปได้ก็อยากให้ข้อมูลข่าวสารแบบภาพบรรยายเสียงเกิดขึ้นในโทรทัศน์ ด้วย 

"ต่อไปเป็นเรื่องของการสร้างความรู้พัฒนาต่อยอดระบบ AD อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตภาพยนตร์รายอื่น มองเห็นกลุ่มผู้ชมอีกกลุ่มที่ต้องการโอกาส ส่วนภาครัฐนอกจากเสียเงินไปกับการสร้างหนังแล้วก็น่าจะมองตรงนี้ด้วย ส่วนโรงหนังหากศึกษาการสร้างโรงหนังระบบ AD เป็นสากลว่าทำกันยังไง ซึ่งทั้งหมดนี้มีเป้าหมาย เพื่อให้คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข" ต่อพงษ์กล่าว

          ในอนาคตหากอุตสาหกรรมภาพยนตร์หรืออาจรวมถึงวงการสาระบันเทิงอื่น ๆ สามารถเพิ่มการสื่อสารประเภท Closed Caption และ Audio Description เข้าไว้ด้วยกันกับรูปแบบปกติได้จริง กำแพงความต่างทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของเมืองไทยก็คงจะหมดไปในสักวันหนึ่ง

http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1412140166

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก