ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“สรุป 5 ข่าวที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ

บทสัมภาษณ์ : บรรยายโดย สว่าง ศรีสม ออกอากาศ : วันเสาร์ที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ รายการรวมใจเป็นหนึ่ง

๑.รายงานการดำเนินงานว่าด้วยสิทธิคนพิการอนุสัญญาคนพิการที่กรุงเจนิว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์

          หัวหน้าคณะผู้แทนไทย (นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ได้กล่าวถึง (1) สถานการณ์คนพิการในไทย สถิติ กฎหมาย และโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิคนพิการที่สะท้อนพัฒนาการจากการมองเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องการกุศลมาเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมและสิทธิมนุษยชน (2) สิ่งท้าทาย และข้อจำกัดต่างๆ (อาทิ การจดทะเบียนคนพิการที่ยังไม่ทั่วถึงส่งผลต่อการเข้าถึงการให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ จากภาครัฐ ระบบการศึกษาแบบเรียนร่วม การส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ การขจัดการเลือกปฏิบัติ กลไกการติดตามการประเมินผลการดำเนินการต่างๆ สำหรับคนพิการที่ยังไม่เพียงพอ) (3) การดำเนินการตามพันธกรณีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการและเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) (4) การพิจารณาเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (OP-CRPD) และสนธิสัญญามาร์ราเกช

          คณะกรรมการ CRPD ได้แสดงความชื่นชมไทย ในเรื่องการมีกรมส่งเสริมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นการเฉพาะ (ซึ่งมีไม่กี่ประเทศในโลกที่มีกรมเฉพาะสำหรับเรื่องนี้) การถอนถ้อยแถลงตีความข้อ 18 ของอนุสัญญาฯ (เรื่องเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานและการถือสัญชาติ) การพัฒนากฎหมายและโครงสร้างกลไกส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิคนพิการ และความร่วมมือระหว่างประเทศของไทยเรื่องสิทธิคนพิการโดยเฉพาะกรอบภายใต้ทศวรรษคนพิการของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

          คณะผู้แทนไทยได้ตอบข้อซักถามและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติด้านต่าง ๆ กับคณะกรรมการ อาทิ การบังคับใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนพิการและองค์กรคนพิการ การบริหารจัดการกองทุน การเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิคนพิการ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ การจัดการศึกษาระบบเรียนร่วม ปัญหาการตัดสินใจแทนในเรื่องสำคัญ และการจัดเก็บข้อมูลและสถิติคนพิการโดยแยกประเภทที่แม่นยำและได้มาตรฐาน โดยคณะผู้แทนได้เรียนรู้และรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิคนพิการให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอนุสัญญาฯ ต่อไป

๒. การจัดทำชุมชนต้นแบบเกาะเกร็ด

          วันนี้ (26 พ.ค.) พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดเกาะเกร็ด (Grand opening) : ชุมชนต้นแบบเพื่อทุกคน โดยมีผู้แทนหน่วยงาน องค์กรในจังหวัดนนทบุรี ผู้แทนหน่วยงานพื้นที่ขยายผล 33 จังหวัด ผู้แทนองค์กรคนพิการ ผู้แทนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้นำชุมชน และประชาชนร่วมงานกว่า 300 คน

         พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการเสริมสร้างให้ผู้สูงอายุ คนพิการ และ ผู้ด้อยโอกาสมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดการเหลื่อมล้ำ การสร้างโอกาส ในการเข้าถึงบริการของรัฐ อันเป็นสิทธิพื้นฐาน และเครื่องหมายแสดงความเท่าเทียมของสังคม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้ร่วมกับจังหวัดนนทบุรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์กรคนพิการ เทศบาลนครปากเกร็ด องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการชุมชนต้นแบบอารยสถาปัตย์เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี (Universal Design Community Model) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดต้นแบบชุมชนที่คนพิการ และทุกคนในสังคม สามารถดำรงชีวิตและเดินทางได้อย่างอิสระ สะดวก ปลอดภัย รวมทั้ง เพื่อให้เป็นรูปแบบตัวอย่างที่สามารถนำไปขยายผลยังชุมชนต่าง ๆ ของประเทศไทยและประชาคมอาเซียน โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จำนวน 8,670,000 บาท แบ่งเป็นสนับสนุนเทศบาลนครปากเกร็ด จำนวน 3,886,200 บาท เพื่อสำหรับปรับปรุงป้ายรถเมล์ ทางเดินทางเท้าเชื่อมระหว่างป้ายรถเมล์และท่าเรือ ทางลาด ที่จอดรถ ห้องน้ำ ป้ายสัญลักษณ์ ป้ายแผนผังต่างสัมผัส ทางลาดลงเรือ โป๊ะเทียบเรือท่าปากเกร็ด และเรือต้นแบบที่เอื้อต่อคนพิการ รวมปรับปรุงทั้งสิ้น 55 จุด และสนับสนุนองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด จำนวน 4,783,800 บาท เพื่อสำหรับปรับปรุงโป๊ะเทียบเรือท่าครูทิว ป้ายสัญลักษณ์ ทางลาด ป้ายแผนผังต่างสัมผัส ห้องน้ำคนพิการ จุดแวะพักเก้าอี้นั่งพัก ทางเดินทางเท้า และปิดท่อระบายน้ำ รวมปรับปรุงทั้งสิ้น 90 จุด

           พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการปรับปรุงสภาพแวดล้อม บริการขนส่งสาธารณะ ให้คนพิการและทุกคนในสังคม สามารถเดินทางออกจากบ้าน ไปใช้บริการสถานที่ต่างๆ ได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปในสังคม โดยใช้พื้นที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดนนทบุรี เป็นต้นแบบ ในการสร้างชุมชนอารยสถาปัตย์ และขยายผลออกไปอีก 33 จังหวัด รวมทั้งติดตามการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกของคนพิการ ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งต้นทาง กลางทาง และ ปลายทาง ของระบบการใช้ชีวิตประจำวัน และในปี 2559 จังหวัดนนทบุรีได้มีการขยายพื้นที่การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน โดยปรับปรุงเส้นทางรอบสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง 16 สถานี เช่น ทางลาด ทางเดินเท้า เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนและเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการชุมชนต้นแบบอารยสถาปัตย์ เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเผยแพร่แนวคิดการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการและทุกคนในสังคม สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

๓. คนพิการในกรุงเทพ

โครงการบริหารทดลองเดินรถแท็กซี่รับคนพิการและผู้สูงอายุ

           เนื่องจากปัจจุบันระบบขนส่งมวลชนยังไม่เอื้อต่อการเดินของผู้พิการ และผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น (Wheelchair) ดังนั้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในเรื่องการเดินทางของผู้พิการและผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็นให้เกิดความเท่าเทียมกันกับคนทั่วไป กรุงเทพมหานครจึงจัดให้มี "โครงการบริหารจัดการทดลองเดินรถแท็กซี่สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ" เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้เข้าถึง ระบบขนส่งสาธารณะที่จำเป็นต่อการเดินทางในเขตตัวเมืองโดยโครงการดังกล่าว บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ถือโอกาส สนับสนุนกรุงเทพมหานครโดยจัดเป็นกิจกรรม CSR ของบริษัท โครงการเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา

บริษัทฯจะดำเนินการให้บริการรถบริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นให้ได้รับความสะดวกในการเดินทาง

และสามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน กรุงเทพมหานคร ตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯโดยวางแนวทางและ จัดลำดับ ความสำคัญ ในการให้บริการ ดังนี้

กลุ่มลำดับที่ 1 . ให้บริการสำหรับผู้โดยสารที่ประสงค์จะเดินทางไปโรงพยาบาล เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก

กลุ่มลำดับที่ 2 . ให้บริการสำหรับผู้โดยสารที่ประสงค์จะไปติดต่อสถานที่ราชการ สมาคม มูลนิธิ เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายรอง

กลุ่มลำดับที่ 3 . ให้บริการสำหรับผู้โดยสารที่ประสงค์จะเดินทางไปทำกิจธุระส่วนตัวนอกเหนือจากกลุ่มที่ 1,2 โดยนำผู้โดยสารไปยังยังสถานที่ต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ

๔. มีการจ้างงานคนพิการ 10,000 อัตรา 6 องค์กรวิชาชีพ บริษัทเอกชนชั้นนำกว่าร้อยองค์กรร่วมสานพลังประชารัฐจ้างงานคนพิการ

          6 องค์กรวิชาชีพ-บริษัทเอกชนชั้นนำกว่า 200 องค์กร ร่วมสานพลังประชารัฐจ้างงานคนพิการ 10,000 อัตรา โครงการ “สานพลังสู่มิติใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพคนพิการ 10,000 อัตรา” ภายในปี 2559 “กระทรวงแรงงาน-พม.”  ยืนยันเอกชนมั่นใจจ้างได้โดยมีกฎหมายรองรับ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและยังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจคิดเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ด้าน “สสส.-มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม” เร่งสร้างความร่วมมือทั้งฝั่งผู้จ้างและคนพิการให้เกิดการขยายผล ชูคำขวัญ “ทำได้ ทำง่าย ไม่ต้องรอ” คาดว่าจะเกิดโอกาสจ้างคนพิการในงานนี้ไม่น้อยกว่า 3,000 อัตรา

          เมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม 2559 ที่หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรชัย ชั้น 7 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมเป็นประธานงานประกาศความร่วมมือ โครงการ “สานพลังสู่มิติใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพคนพิการ 10,000 อัตรา”

          จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ในฐานะองค์กรตัวกลางที่สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการ และภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านคนพิการอีกกว่า 20 องค์กร โดยมีภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการในงานนี้กว่า 200 องค์กร
          จากความร่วมมือของ 6 องค์กรวิชาชีพชั้นนำของประเทศ ได้แก่ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย รวมทั้งบริษัทเอกชนที่มาร่วมงานในวันนี้กว่า 200 องค์กร ทำให้สามารถคาดหวังเป้าหมายในเบื้องต้น ว่าจะเกิดโอกาสการจ้างงานและส่งเสริมอาชีพคนพิการในงานนี้ไม่น้อยกว่า 3,000 อัตรา จาก 10,000 อัตราที่เป็นเป้าหมายร่วมภายในสิ้นปีนี้ 

๕. Thailand Friendly Design Expo 2016

          เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม ณ ฮอลล์ 6 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรีงานไทยแลนด์เฟรนลี่ดีไซน์

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทย และอาเซียน ที่จะมีการจัดงานมหกรรมอารยสถาปัตย์ครั้งยิ่งใหญ่สำคัญที่สุด ในภูมิภาคนี้ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2559 รวม 4 วันเต็ม ที่ฮอลล์ 6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยงานนี้มีชื่อเต็มๆว่า Thailand Friendly Design Expo 2016 : มหกรรมอารยสถาปัตย์ และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 1 จัดโดยมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ร่วมกับองค์กรมหามิตรอารยสถาปัตย์ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนทั่วไทย

วัตถุประสงค์หลักของการจัดงานครั้งยิ่งใหญ่สำคัญนี้ มี 5 ประการ คือ

(1) เพื่อร่วมรณรงค์ ส่งเสริม และขับเคลื่อนประเทศไทย มุ่งสู่เป้าหมาย เมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล และเมืองศูนย์กลางอารยสถาปัตย์แห่งประชาคมอาเซียน

(2) เพื่อนำเสนอสินค้า ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงธุรกิจบริการ และการออกแบบที่เกี่ยวกับอารยสถาปัตย์ หรือ Friendly Design และนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ทุกรูปแบบ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

(3) เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ นำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ในเรื่องอารยสถาปัตย์ หรือ Friendly Design เพื่อสังคม และประเทศชาติ ทั้งทางด้านกฎหมาย ข้อบังคับ หลักการ และแนวคิดการออกแบบที่เป็นสากล เป็นธรรม และเป็นมิตรกับคนทั้งมวล

(4) เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้สังคมไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญจำเป็นในการออกแบบและสร้างทำอารยสถาปัตย์ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ และการส่งเสริมสิทธิความเสมอภาค ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

Rounded Rectangle: บทสัมภาษณ์  :  บรรยายโดย สว่าง  ศรีสม 
ออกอากาศ     :  วันเสาร์ที่  ๓๑  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๕๙ รายการรวมใจเป็นหนึ่ง
(5) เพื่อเป็นเวทีกลางในการจัดแสดงผลงาน ความก้าวหน้า และการพัฒนาทางด้านอารยสถาปัตย์ และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ของกระทรวง องค์กร หน่วยงาน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

รายการรวมใจเป็นหนึ่ง ออกอากาศทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 18.30-19.00 น. ทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 kHz

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก