ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การจัดทำแผนการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านที่ไม่ใช่ภาษา (Nonverbal Learning Disabilities – NLD) ตอนที่ 4

Sue Thompson, M.A., C.E. (1998)

อาจได้รับการกระตุ้นทางประสาทสัมผัสต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

เด็กที่มีอาการของ NLD อาจต้องประสบกับภาวะที่ร่างกายตอบสนองจนมากเกินไปต่อการกระตุ้นทางประสาทสัมผัสต่างๆ (ทางการมองเห็น ทางการได้ยิน ทางการสัมผัส ทางการได้กลิ่น เป็นต้น) การรับข้อมูลเข้าสู่สมองโดยผ่านประสาทสัมผัสในระดับของคนปกติทั่วไป สำหรับเด็กที่มีอาการของ NLD แล้ว อาจนับอยู่ในระดับที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป นอกจากนี้ เด็กยังมีปัญหาในการสนองตอบการกระตุ้นทางประสาทสัมผัสหลายๆ ทาง คือ จะไม่อาจตอบสนองเมื่อได้รับข้อมูลทางการเห็นและทาง การได้ยินพร้อมๆ กัน เพราะความสามารถในการตอบสนองการกระตุ้นทางประสาทสัมผัสทั้งสองทางในเวลาเดียวกันนั้นขึ้นอยู่กับสมองซีกขวา เด็กมักชอบได้รับข้อมูลผ่านทางการฟังมากกว่าการมองเห็น (และมักจะไม่ยอมมองคนที่ตนพูดด้วย) จึงจำเป็นต้องจัดบรรยากาศของชั้นเรียนใหม่ โดยย้ายเด็กให้พ้นจาก ‘ภาพที่สับสนวุ่นวาย’ และใช้วิธีสลับสับเปลี่ยนที่นั่ง ในกรณีที่เด็กมีปัญหาจากสิ่งรบกวนทางประสาทสัมผัสอื่นๆ

เด็กที่มีอาการของ NLD อาจมีความกระวนกระวายตื่นเต้นจากสิ่งกระตุ้นและสิ่งรบกวนทางประสาทสัมผัสได้ถึงขีดสุด การกระพริบและเสียงที่ดังจากหลอดไฟเรืองแสงอาจรบกวนเด็กอย่างมาก และเป็นที่รู้กันดีว่า จะมีผลเสียหายต่อเด็กที่มีอาการของ NLD และเด็กเองก็อาจมีความรู้สึกไวมากจนเกินไปต่อเสียงดังหรือแหลมที่มากระตุ้น เช่น เสียงระฆังโรงเรียน ระบบเครื่องขยายเสียงในโรงเรียน เสียงออดของ บอร์ดคะแนนในโรงพลศึกษา และเสียงลากเก้าอี้ไปบนพื้น เด็กอาจพัฒนาเป็นความกลัวขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล เพราะกลัวว่าตนอาจถูกเป่านกหวีดที่เสียงแสบแก้วหูกลับผ่านทางเครื่องขยายเสียงในทันควัน ความรู้สึกไวมากจนเกินไปทางการได้กลิ่น อาจทำให้เด็กรู้สึกรำคาญเวลาต้องใช้สีน้ำมันหรือสีน้ำมาระบายสี หรือเมื่อใช้ปากกาทำเครื่องหมาย นอกจากนี้ เด็กอาจมีปฏิกิริยาตั้งรับต่อสิ่งที่เขาเห็นว่า ‘เข้ามาก้าวก่าย’ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจู่โจมทางประสาทสัมผัสที่ทำให้เกิดความไม่พอใจนี้ มีส่วนทำให้ความวิตกกังวลของเด็กเพิ่มมากขึ้นอีกตลอดทั้งวัน

การบำบัดทางการประมวลผลการรับความรู้สึก (Sensory Integration therapy) และการฝึกการผสมผสานของการได้ยิน (Auditory Integration Training) สามารถช่วยเด็กเล็กที่มีความหวั่นไหวง่ายจากการถูกกระตุ้นทางประสาทสัมผัสมากจนเกินไป กลายเป็นปกติได้ พร้อมๆกับการช่วยเหลือบำบัดเสริมต่างๆดังกล่าวนี้ ครูมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมสิ่งกระตุ้นหรือข้อมูลทางการรับความรู้สึกที่โรงเรียนด้วยความระมัดระวัง ซึ่งจะสามารถทำได้โดย:

  • เตรียมสภาพแวดล้อมสำหรับเด็ก (กำจัดสิ่งที่มากระตุ้นให้เกิดความตึงเครียดทางการรับความรู้สึกทั้งหลายออกไปให้หมด)
  • ลดสิ่งที่มารบกวนให้ไขว้เขวและเหตุการณ์ที่ส่งเสริมให้เกิดการรับความรู้สึกที่เกินกว่าแบกจะรับ
  • มุ่งเน้นที่การใช้วิธีบำบัดทางการรับความรู้สึกทีละอย่าง (หลีกเลี่ยงวิธีการใช้คำสั่งที่สร้างความรู้สึกหลาก หลาย)
  • ยอมให้มีการปรับเปลี่ยนตามความจำเป็นเพื่อจัดการกับปัญหาทางด้านความอ่อนไหวทางอารมณ์ (ป้องกันเด็กให้พ้นจากเสียงที่เป็นภัยกับหูของเขา หรือหลีกเลี่ยงการใช้ไฟแสงสว่างจากหลอดไฟ เรืองแสงในห้องเรียน)
  • พูดด้วยเสียงกระซิบแผ่วเบากับเด็กที่มีความอ่อนไหวในการรับรู้ของประสาทสัมผัสทางการได้ยินสูงมากๆ
  • ต้องแน่ใจว่า ได้จัดให้เด็กนั่งในตำแหน่งที่มีสิ่งรบกวนน้อยที่สุดในชั้นเรียน (ปกติมักเป็นหน้าชั้น ห่างจากสิ่งที่ทำให้มองเห็นภาพและได้ยินเสียงแห่ง ‘ความวุ่นวาย’)

อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาเพราะความตึงเครียดและความวิตกกังวล

นักวิชาการศึกษาส่วนใหญ่จะไม่สบายใจกับการที่เด็กซึ่งมีอาการของ NLD จะมีความวิตกกังวลในระดับสูงเกิดขึ้นเป็นประจำทุกวัน เด็กที่มีอาการเช่นนี้ จะมีความเครียดได้ง่ายจากความกดดันที่เกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายใน ทำให้เด็กมีความอ่อนแอทางอารมณ์สูง ความหวาดกลัวจนเป็นนิสัยแผ่ซ่านไปทั้งชีวิต และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปเป็นปัญหาพฤติกรรมแบบเก็บกดตามมา เด็กมีปัญหาอย่างยิ่งในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่และมีความซับซ้อน เด็กอาจถูกครอบงำด้วยความวิตกกังวลอย่างมากเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ตนไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร และไม่สามารถกำหนดได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ เด็กอาจกำหนดความต้องการเกี่ยวกับตนเองมากเกินไป เนื่องมาจากแนวโน้มของความเป็นคนสมบูรณ์แบบ ความภาคภูมิใจในตนเองตกฮวบลงไปในที่สุด และกลายเป็นคนชอบตำหนิตนเอง และไม่อาจทนต่อการทำผิดได้ ความเครียดที่เพิ่มขึ้น จะสะสมในสถานการณ์ที่เด็กรู้สึกหวั่นไหวไปกับสิ่งใหม่ๆ หรือการได้รับสิ่งกระตุ้นมากจนเกินกว่าที่เด็กจะรับได้ ความไม่แน่นอน ความเหนื่อยล้า ความชอกช้ำ การตำหนิตนเอง และภาวการณ์รับความรู้สึกเกินกว่าจะทนไหว ทั้งหมดนี้ ส่งเสริมให้เกิดความวิตกกังวลในระดับสูงกับเด็กที่มีอาการของ NLD

อย่างที่ข้าพเจ้าได้กล่าวย้ำมาแล้วหลายครั้งว่า การที่ครูและผู้ปกครองจะทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อลดความตึงเครียดที่เกิดกับเด็กซึ่งมีอาการของ NLD ลงให้ได้นั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และสามารถทำได้โดย:

  • คาดการณ์และเตรียมการล่วงหน้าสำหรับสถานการณ์และช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นมาใหม่  
  • จัดหากิจวัตรประจำวันที่มีความสม่ำเสมอและคาดการณ์ได้
  • ค่อย ๆ พาเด็กไปเปิดตัวกับกิจกรรมใหม่ๆ ครู ชั้นเรียน หรือโรงเรียนใหม่ เป็นต้น
  • แน่ใจว่า เด็กปลอดภัยจากการถูกทำร้ายทั้งทางกายและทางอารมณ์ หลีกเลี่ยงการสร้างความประหลาดใจในทันทีทันใด และไม่ได้คาดคิด
  • เตรียมตัวเด็กเป็นอย่างดีล่วงหน้าเมื่อจะต้องออกภาคสนาม ปรับตารางเวลา หรือการเปลี่ยน แปลงใดๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าจะต้องให้น้อยที่สุด
  • นำพาเด็กให้ผ่านพ้นสถานการณ์ตึงเครียด หรือ พาเด็กออกไปให้พ้นจากสถานการณ์ตึงเครียด(โดยไม่มีการทำโทษ)
  • จัดหาที่ว่างที่ให้เด็กใช้เป็นการส่วนตัวในห้องเสริมวิชาการ หรือที่ที่กำหนดให้อื่นๆ เพื่อการกลับเข้ากลุ่มและการผ่อนคลาย
แปลและเรียบเรียงจาก Developing an Educational Plan for the Student with NLD (Nonverbal Learning Disabilities) By Sue Thompson} M.A. C.E. (1998) โดย ส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก