ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การจัดทำแผนการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านที่ไม่ใช่ภาษา (Nonverbal Learning Disabilities – NLD) ตอนที่ 3

Sue Thompson, M.A., C.E. (1998)

ช่างถามจนเกินไป

เมื่อเด็กที่มีอาการของ NLD มีแนวโน้มที่จะถามคำถามซ้ำๆ และมีปัญหาในการปัดความคิดของตนออกไปจากสมอง และมักขัดจังหวะการเรียนอย่างไม่เหมาะสมอยู่เสมอ ด้วยคำถามนานัปการที่ผุดขึ้นมาในความคิดอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งเป็นเหตุให้ทั้งครูและเด็กคนอื่นๆ ในชั้นเรียนต้องอารมณ์เสีย ในขณะที่เด็ก NLD ผู้ที่ก่อปัญหายังคงไม่ได้รู้สึกตัวเลยว่ากำลังก่อกวนคนอื่นๆอยู่ โปรดระลึกไว้ว่า เด็กคนนี้จะเรียนรู้ได้ด้วยการใช้คำพูดที่ประนีประนอม เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่เด็กจะได้เก็บรวบรวมข้อมูลใหม่ๆ เด็กจะไม่เรียนรู้โดยใช้การสังเกตการณ์ หรือ ‘การลองผิดลองถูก’ การมองปัญหานี้ในแง่ดี คือ ถ้าเด็กไม่พูดออกมา เด็กก็จะไม่ได้เรียนรู้ ความเข้าใจในประเด็นนี้จะช่วยให้คุณยินดีกับการได้ยินเสียงถามซ้ำซากและการพูดคนเดียวของเด็ก

ในเมื่อเด็กต้องมีการถามคำถามซ้ำซากเช่นนี้ คุณจะต้องตรวจสอบถึงความจำเป็นของเด็กที่จะต้องได้รับการตอบสนองเป็นคำพูด (ประสาทสัมผัสอื่นๆ ของเด็กไม่อาจรับข้อมูลได้มากพอ) ในขณะเดียวกัน ต้องหาหนทางที่จะหันเหความสนใจของเด็กเมื่อมีการขัดจังหวะในชั้นเรียนตลอดเวลา  แล้วสอนเด็กถึงมารยาทสังคมที่ถูกต้องเหมาะสม การย้ำความมั่นใจโดยไม่ต้องอาศัยคำพูด เช่น การใช้เสียง  ฉุนเฉียวเพื่อแสดงความรำคาญ การเลิกคิ้วที่บ่งบอกความไม่พอใจ หรือแม้แต่การทำไม่รู้ไม่ชี้เมื่อเด็กถาม จะไม่ช่วยให้คุณก้าวข้ามปัญหานี้ไปได้ การตอบทุกคำถามของเด็ก ก็ยังไม่อาจช่วยอะไรได้มาก แล้วก็จะยังคงมีคำถามป้อนกลับมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเด็กไม่รู้จักว่า ‘พอแล้ว’ นั่นเอง

ในทางกลับกัน เด็กที่มีอาการของ NLD ที่ถูกตำหนิและถูกสั่งว่า ‘อย่าขัดจังหวะ’ บ่อยๆ นั้น จะเสี่ยงอันตรายจากการเลิกราไป เพราะเด็กไม่สามารถแยกแยะว่าเวลาใดเหมาะกับการตั้งคำถาม แล้วเด็กคนนี้ก็อาจจะเก็บปากเก็บคำและปิดปากสนิทไปในที่สุด ดอกเตอร์ Rouke ได้แนะนำให้นำการฝึกแบบพิเศษ เพื่อให้รู้ว่า ‘อะไรควรพูด’ ‘ควรพูดอย่างไร’ และ ‘ควรพูดเมื่อไร’ มาใช้กับเด็ก การจัดการกับสภาวะยากลำบากนี้ด้วยความละเอียดอ่อนสูงสุด ปัญหานี้สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ โดย:

  • ตอบคำถามของเด็กนักเรียนในชั้นทุกครั้งเท่าที่จะเป็นไปได้และทำได้ (เด็กคนอื่นๆ ในชั้นอาจมีคำถามเดียวกัน แต่มีความบกพร่องทางการพูด ไม่อาจถามเองได้)
  • เริ่มต้นด้วยการมอบงานให้เด็กคนอื่นๆ ก่อน แล้วจึงตอบคำถามเด็กส่วนที่เหลือแบบรายตัว
  • กำหนดเวลาตายตัวในระหว่างวัน ที่คุณจะร่วมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งจำเป็นต้องยุติลงตามเวลานั้น
  • บอกกับเด็กว่าคุณมีเวลาเหลือสำหรับการตอบคำถามเพียงสามข้อเท่านั้นในตอนนี้(จำเป็นต้องระบุตัวเลขด้วย อย่าบอกว่า ‘ไม่กี่นาที’) แต่คุณก็ยินดีจะตอบเขาอีกสามคำถามในช่วงหยุดพัก
  • เจาะจงสอนเด็กทุกครั้งที่มีเหตุสมควรร้องขอความช่วยเหลือ (เป็นต้นว่า กรณีที่เด็กทำแบบฝึกหัดต่อไม่ได้ จนกว่าจะมีคนอธิบายเรื่องที่ไม่เข้าใจให้ฟัง) และถามถึงวิธีทำ
  • สอนเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ ของการปฏิบัติตนในสังคมอย่างสุภาพให้กระจ่างชัด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องคอยขัดจังหวะการเรียนในชั้นด้วยการถามคำถามอีก

หวั่นไหวได้ง่าย

เด็กที่มีอาการของ NLD จะมีความรู้สึกว่า การจัดการกับความต้องการตามปกติ และต้องทำให้มันผ่านพ้นไปได้ในวัน ‘ธรรมดาๆ’ ในโรงเรียนแต่ละวันนั้น จำเป็นต้องมีการคิดล่วงหน้าและต้องมีการตัดสินใจมากมายเป็นพิเศษอย่างเหลือเกิน ลองนึกดูสิว่า จะต้อง ‘คิด’ ทุกครั้งที่ทำทุกสิ่งทุกอย่าง แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น การกิน การแต่งตัว และการนั่งที่โต๊ะเรียน ตรงจุดนี้ คุณน่าจะยินดีที่ได้พบว่า เหตุใดเด็กคนนี้จึงเกิดความหวั่นไหวได้ง่ายเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นในแต่ละวัน เมื่อต้องพบกับเหตุการณ์ (หรือได้รับข้อมูลข่าวสาร) ใหม่ ๆ ที่ตนไม่คุ้นเคย รวมทั้งสิ่งที่มากระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ จากภายนอก

ความ กดดันมากมายมหาศาลที่เด็กต้องเผชิญ เมื่อต้องพยายามทำหน้าที่ ในโลกที่ไม่มีพื้นที่ หรือสิทธิใดๆ ที่เป็นของตน ในที่ที่ตนถูกคาดหวังว่าจะสามารถทำตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานต่างๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นมาสำหรับเพื่อนผู้ไม่ได้มีความพิการอื่น ๆ นั้น บางครั้งก็แสนจะยากเย็นเกินกว่าใครจะหยั่งถึง ส่วนการปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับเจ้าหน้าที่และเพื่อน ๆ ในสถานศึกษา เด็กที่มีอาการของ NLDไม่อาจสื่อสารกับผู้อื่นได้ตามที่ตั้งใจไว้อย่างน้อย 65% ในเวลาเดียวกัน เด็กก็พยายามจะรับมือกับความต้องการขององค์กรในเรื่องกระบวนการรับรู้และ กระบวนการคิด รวมทั้งความสามารถในการรับรู้ทางสายตาที่ตนจะได้รับจากการเข้าศึกษาในโรงเรียน นอกเหนือจากอารมณ์ความรู้สึกที่ท่วมท้นอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ (คือเสียงดังเกินไป สิ่งที่มากระตุ้นทางตา หรือสิ่งกระตุ้นทางกาย) ความพยายามที่มีความหมายอย่างยิ่ง ที่ถูกกำหนดให้ทำให้แล้วเสร็จในระหว่างวันที่โรงเรียนนั้น เป็นเรื่องน่าหวั่นไหวและเหนื่อยอ่อนมากสำหรับเด็กที่มีอาการของ NLD

นอกจากความระโหยโรยแรงอย่างที่สุดนี้แล้ว การดำเนินการที่ออกจะเชื่องช้าและมีความบกพร่องทาง การจัดระบบอย่างรุนแรง ก็ทำให้จำเป็นต้องลดปริมาณการบ้าน/การเข้าชั้นเรียนของเด็กคนนี้ลงไป เด็กที่มีอาการของ NLD มักจะอ่อนเพลียมากตอนโรงเรียนเลิก และแทบจะล้มพับลงในทันทีที่กลับถึงบ้าน ช่างเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลและไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย ที่การคาดหวังให้เด็กคนนี้ทนทำการบ้านที่น่าเบื่อหน่ายจนแล้วเสร็จในเวลานานนับชั่วโมง ซึ่งก็ยังถือเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ปกครองของเด็ก เกินไปด้วย เด็กจึงควรจะต้องมี ‘ช่วงเวลาสบายๆ’ หลังจากใช้เวลาทั้งวันที่โรงเรียนมาแล้วบ้าง

การทดสอบอย่างทรหดของการเข้าเรียนเต็มเวลาทั้งหมดในแต่ละวันนี้ ดูออกจะมากเกินไปสำหรับเด็กที่มีอาการของ NLD โดยเฉพาะเมื่อต้องเรียนในระดับสูงขึ้นไป ตรงนี้เอง ที่ตารางสอน ซึ่งมีการปรับ เปลี่ยนและแผนงานด้านการสร้างสรรค์จะเข้ามามีบทบาท ควรให้เด็กไปโรงเรียนแค่ครึ่งหนึ่งของเวลาเรียนตามปกติของเด็กทั่วไป หรือจะเป็นวันเว้นวันก็ได้ โดยจัดชั่วโมงเรียนพิเศษส่วนตัวสอนให้เด็กในตอนหยุดพักระหว่างชั่วโมงเรียน เพื่อให้แน่ใจได้ว่า เด็กยังคงสามารถเรียนได้ตามระดับความสามารถที่มีกำหนดไว้สำหรับชั้นเรียนนั้น ๆ

เด็กที่มีอาการของ NLD จะต้องได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาในทันทีที่สังเกตเห็นว่าเด็กมีปัญหาในด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เนื่องจากเด็กเช่นนี้ มักจะหวั่นไหวได้ง่ายมาก และน่าจะมีปฏิกิริยาเมื่อตนทำผิดพลาดลงไปอย่างเอาจริงเอาจังมากกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน ครูประจำชั้นจำเป็นต้องระวังเรื่องตัวแปรต่างๆ ที่จะมาทำให้เด็กเกิดอารมณ์ฉุนเฉียวและความรู้สึกสนองตอบใดๆ จนท่วมท้น จากนั้น ครูจะสามารถเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตนในเชิงรุกเมื่อต้องจัดการกับ
สิ่งที่มีอิทธิพลเหล่านี้ ซึ่งสามารถทำได้โดย:

  • ลดความรุนแรงของสถานการณ์ที่อาจมีอิทธิพลต่อความรู้สึกหวั่นไหวของเด็กแต่เนิ่นๆ
  • ลดสิ่งกระตุ้นในสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กลง (โดยเฉพาะด้านการมองเห็นและการสัมผัส)
  • หากลวิธีที่สอดคล้องมาใช้ เมื่อเด็กไม่อาจทนกับการกระตุ้นที่มากเกิน ความคับข้องใจหรือความสับสนได้อีกต่อไป
  • ยอมให้เด็กงดเข้าร่วมกิจกรรม เมื่อมีสัญญาณให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ออกจะหนักเกินไปสำหรับเด็กแล้ว
  • ตัดการบ้านหรืองานมอบหมายที่ต้องทำตอนกลางคืนออกไปให้หมด
  • จัดทำตารางเรียนที่แตกต่างออกไปหรือกำหนดกลยุทธ์ในการวางแผนอย่างสร้างสรรค์
แปลและเรียบเรียงจาก Developing an Educational Plan for the Student with NLD (Nonverbal Learning Disabilities) By Sue Thompson} M.A. C.E. (1998) โดย ส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก