ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เด็กพิเศษ...ทำผิดกติกา ใครกันต้องรับผิดชอบ??

หนังสือพิมพืไทยโพสต์ออนไลน์ วันที่ 1 เมษายน 2560

มักจะมีการวิพากษ์วิจารณ์หรือตกเป็นกระแสสังคมทุกครั้ง เมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับการกระทำอันละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นของเยาวชนที่ไร้เดียงสา โดยเฉพาะที่จัดอยู่ในประเภท "เด็กพิเศษ"

 

จนเกิดคำถามว่า เด็กพิเศษทำผิด?!? ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

 

การเปิดโอกาสให้เด็กพิเศษ หรือเด็กที่เป็นโรคออทิสติก ได้อยู่ร่วมกับสังคมอย่างเด็กปกติอื่นๆ ทั่วไป ถือเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน และสมควรจะต้องส่งเสริม เพราะเด็กพิเศษ ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ชีวิตอย่างคนทั่วไปไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นให้ความรู้ความเข้าใจในทางอ้อมกับเด็กปกติทั่วไป ถึงความหลากหลายของสังคมมนุษย์ รวมทั้งเป็นการแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันในฐานะ "เพื่อน" ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม มีหลายเหตุการณ์และตัวอย่างที่ทำให้สังคมต้องคลางแคลงใจว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ล่อแหลมหรือส่อเสี่ยงต่อการทำร้าย หรือทำอันตรายต่อผู้อื่นจากเด็กพิเศษนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะทำอย่างไร

 

นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เผยว่า ครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่สุดในการดูแลช่วยเหลือ และต้องไม่ละทิ้งหน้าที่ไม่ว่าลูกจะออกมาเป็นแบบไหน โดยเฉพาะหากลูกมีความพิเศษบางอย่างที่แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป พ่อแม่ ผู้ปกครองยิ่งต้องมีทักษะในการดูแลที่พิเศษเพิ่มมากขึ้น แต่ในการขับเคลื่อนและพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้กับพ่อแม่ ตัวภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเข้ามาช่วย เริ่มตั้งแต่หน่วยงานด้านสถานพยาบาล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักสังคมสงเคราะห์ต่างๆ ที่ต้องมาให้ความรู้แนะนำเรื่องการเลี้ยงดูบุตรหลาน การส่งเสริมพัฒนาการ หรือจะเป็นภาคการศึกษาก็ต้องเข้ามาเสริมเด็กออทิสติกให้พัฒนาเสริมพลังความรู้ความสามารถตามการเรียนรู้ของเขาให้ได้ เป็นต้น

 

ขณะเดียวกัน สังคมก็ต้องมีความเข้าใจและเปิดใจยอมรับในความต่างของคน และเรียนรู้การอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมบนความหลากหลายให้ได้ เพราะคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน พิการหรือไม่พิการก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งเราสามารถเจอเด็กที่มีความแตกต่างได้ตลอดเวลา แม้เขาจะมีปริมาณที่น้อย แต่เราต้องมีความเข้าใจ และต้องให้ความใส่ใจเพิ่มเติมว่า เด็กออทิสติกมีความพิเศษมากกว่าเด็กทั่วๆ ไป ไม่ใช่แค่สงสาร แต่ต้องศึกษาลักษณะพฤติกรรม นิสัย รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาได้อย่างถูกต้อง สิ่งที่เราปฏิบัติต่อเขาต้องอยู่ภายใต้ความเคารพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นภาคบริการ ที่ต้องให้การบริการแก่ผู้คนในสาธารณะแล้ว ต้องมีความเข้าใจและมีทักษะเรียนรู้ในความหลากหลายต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่าคนทั่วไป เฉกเช่นเดียวกับผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่เป็นเด็กพิเศษในการพาพวกเขาออกจากบ้านมาสู่ที่สาธารณะ เราก็ต้องทำใจเผื่อไว้ว่าจะต้องพบปะเจอคนที่ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ลูกเป็น เพราะคนทุกคนในสังคมไทยคงไม่สามารถเข้าใจลูกเราได้ทั้งหมดนั่นเอง

 

ด้าน ดร.สุภาภัค เภตราสุวรรณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ออทิสติกเป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย โดยในบางรายไม่สามารถสังเกตได้จากภาพลักษณ์ภายนอก ดูอาการยาก จึงทำให้คนทั่วไปไม่ทราบถึงความผิดปกติ เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ จึงทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับแก่คนในสังคม จึงเป็นเรื่องน่าเห็นใจในผู้ปกครองบางรายที่ลำบากในการจะต้องเที่ยวบอกใครต่อใครว่าลูกเป็นเด็กพิเศษ เพราะโดยหลักผู้ปกครองต้องรับผิดชอบในการดูแลลูกตนเป็นพิเศษอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนการพาลูกออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองควรต้องแจ้ง บอกและอธิบายในสิ่งที่ลูกเป็นแก่คนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการรับรู้ในภาวะของออทิสติกแม้จะรู้จักมากขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายส่วนที่ยังไม่รู้และเข้าใจอีก จึงเป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือภาคบริการ ต้องทำการศึกษาและรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อให้เด็กไม่เสียโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือ.

 

เด็กพิเศษ...ความเข้าใจคือ..ยาวิเศษ

 

จากผลการศึกษาของ ดร.นิติธร ปิลวาสน์ ศึกษานิเทศก์ ระบุว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษ (Special Needs) หมายถึง เด็กที่มีความต้องการทางการศึกษาที่แตกต่างไปจากปกติทั่วไป ทั้งในด้านเนื้อหา วิธีการเรียนการสอน การประเมินผล และเครื่องมืออุปกรณ์การสอน ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากสภาพความบกพร่องทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้น ช่วยเหลือ การบำบัด ฟื้นฟู และให้การเรียนการสอนที่เหมาะสมกับลักษณะและความต้องการของเด็ก

 

กระทรวงศึกษาธิการได้แบ่งเด็กที่มีความต้องการพิเศษออกเป็น 10 ประเภท โดยเป็นเด็กพิการที่ต้องการการจัดการศึกษาพิเศษ 9 ประเภท และเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษ 1 ประเภท ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน หมายถึง เด็กที่สูญเสียการได้ยินตั้งแต่ 26 เดซิเบลขึ้นไป ทำให้สูญเสียการได้ยิน เป็นเหตุให้รับฟังเสียงต่างๆ ได้ไม่ชัดเจน ซึ่งมี 2 ประเภท คือ เด็กหูตึง หมายถึง เด็กที่สูญเสียการได้ยินถึงขนาดที่ทำให้มีความยากลำบากจนไม่สามารถเข้าใจคำพูดและการสนทนา แต่ไม่ถึงกับหมดโอกาสที่จะเข้าใจภาษาพูดจากการได้ยินด้วยหูเพียงอย่างเดียว เด็กหูหนวก หมายถึง เด็กที่สูญเสียการได้ยินมากถึงขนาดที่ทำให้หมดโอกาสที่จะเข้าใจภาษาพูดจากการได้ยินด้วยหูเพียงอย่างเดียว

 

เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น หมายถึง เด็กที่มีปัญหาในการใช้สายตาเพื่อการเรียนหนังสือ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ เด็กตาบอดบางส่วน หรือเด็กสายตาเลือนราง หมายถึง เด็กที่มีสายตาบกพร่องภายหลังจากการแก้ไขแล้ว มีสายตาอยู่ระหว่าง 20/70 และ 20/200 ฟุต สามารถมองเห็นได้บ้าง เด็กตาบอด คือ เด็กที่มีสายตาเหลืออยู่น้อยมากหรือไม่มีเลย ภายหลังจากการแก้ไขแล้วมีสายตาเกินกว่า 20//200 ฟุต ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้สายตาในการเรียนหนังสือได้

 

เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา หมายถึง เด็กที่มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กทั่วไป และเมื่อวัดระดับสติปัญญาด้วยแบบทดสอบมาตรฐานแล้ว พบว่ามีระดับต่ำกว่าเด็กทั่วไป เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาอาจมีปัญหาทางบุคลิกภาพ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เนื่องจากความล้มเหลวในการทำงานต่างๆ และต้องพึ่งพาผู้อื่น เด็กจะมีปัญหาในการเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนหรือสิ่งที่เป็นนามธรรม

 

เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ หมายถึง เด็กที่มีลำตัว แขน หรือขาผิดปกติ ได้แก่ เด็กที่มีเท้าใหญ่ หนา หรือผิดรูป เด็กที่มีกล้ามเนื้อลีบหรืออ่อนแรง ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนในสภาพแวดล้อมเดียวกันกับเด็กปกติได้ จึงจำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อมใหม่ให้สอดคล้องกับความสามารถและความต้องการของเด็ก

 

เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องในกระบวนการทางจิตวิทยา ทำให้เด็กมีปัญหาการใช้ภาษา ทั้งด้านการฟัง การอ่าน การพูด การเขียน และการสะกดคำ หรือมีปัญหาด้านคณิตศาสตร์ โดยมิได้มีสาเหตุมาจากความบกพร่องทางร่างกาย ทางการเห็น ทางการได้ยิน ระดับสติปัญญา อารมณ์หรือสภาพแวดล้อม ลักษณะเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาการเรียนรู้ด้านภาษา โดยเฉพาะการอ่านและการเขียน และปัญหาด้านคณิตศาสตร์

 

เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม หมายถึง เด็กที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากเด็กที่มีวัยเดียวกันอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง แม้จะได้รับการบริการด้านการแนะแนวและให้คำปรึกษาแล้วก็ตาม ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ มีพัฒนาการทางการเรียนอย่างเชื่องช้า และมีปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางพฤติกรรมเหล่านี้ต้องมิได้มีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางร่างกาย ประสาทสัมผัสการรับรู้ หรือสติปัญญา

 

เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องในการเข้าใจหรือการใช้ภาษาพูดจนไม่สามารถสื่อความหมายกับผู้อื่นได้ตามปกติ เช่น การพูดไม่ชัด จังหวะการพูดไม่ดี คุณภาพของเสียงผิดปกติ ตลอดจนการพูดผิดปกติที่เกิดจากการมีพยาธิสภาพของระบบประสาทส่วนกลางหรือระบบส่วนปลาย รวมทั้งการบกพร่องในด้านการรับรู้และการแสดงออกทางภาษา เป็นต้น

 

เด็กออทิสติก หมายถึง เด็กที่มีความต้องการพิเศษเนื่องมาจากความผิดปกติของระบบประสาท (neurological disorder) ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กตลอดช่วงชีวิต ทั้งด้านความสามารถในการสื่อสาร การสื่อความหมาย ความเข้าใจภาษาทั้งภาษาพูด และไม่ใช่ภาษาพูด การสร้างสัมพันธภาพทางสังคม จินตนาการในการเล่น ฯลฯ โดยความผิดปกตินี้มักจะเกิดขึ้นก่อนอายุ 3 ขวบ อัตราการเกิดของเด็กออทีสติก คือ 1 ต่อ 125 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอดีตที่คาดการณ์ว่าพบเด็กออทีสติกในอัตรา 1 ต่อ 500 คน ในเด็กชายพบมากเป็น 4 เท่าของเด็กหญิง ไม่จำเพาะเจาะจงในด้านของเชื้อชาติ ศาสนา และพื้นฐานทางสังคมของครอบครัว

 

เด็กที่มีความบกพร่องซ้ำซ้อนหรือพิการซ้อน หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องทางอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมากกว่า 1 ความบกพร่อง เด็กเหล่านี้อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโปรแกรมการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่งโดยเฉพาะ จึงต้องมีการจัดบริการทางการศึกษาและการบริการด้านอื่นเพิ่มเติม ส่วนมากเป็นเด็กที่มีสภาพความบกพร่องอยู่ในระดับรุนแรง ลักษณะของเด็กมีความบกพร่องซ้ำซ้อน จะมีปัญหาในการช่วยเหลือตนเอง การทำกิจวัตรประจำวัน ปัญหาการสื่อสาร ไม่สามารถเข้าใจผู้อื่น และไม่สามารถสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจความต้องการของตนเองได้ ปัญหาการเคลื่อนไหว ไม่สามารถหยับจับ นั่ง ยิน หรือเดินได้ด้วยตนเอง ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่มีความหมาย หรือเป็นการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นและปัญหาทางสังคม เนื่องจากเด็กไม่สามารถรับรู้ หรือเรียนรู้วิธีการสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นได้ ซึ่งระดับความรุนแรงของปัญหาเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความบกพร่องซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นกับเด็ก และการช่วยเหลือ ฝึกฝน และฟื้นฟูสมรรถภาพ

 

เด็กปัญญาเลิศ หมายถึง เด็กที่มีความสามารถทางสมองสูงกว่าเด็กทั่วไป เป็นเด็กที่มีระดับสติปัญญาที่วัดได้จากแบบทดสอบมาตรฐานได้ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงกว่าค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 2 ขึ้นไป ลักษณะของเด็กที่มีปัญญาเลิศพบว่ามีความเฉลียวฉลาดและพัฒนาการเร็วกว่าเด็กทั่วไป อาจจะเป็นทางด้านภาษา ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดรวบยอด ความเข้าใจในสิ่งที่เป็นนามธรรม สัมพันธภาพและบุคลิกภาพ

 

จากสาระสำคัญตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ที่ได้ระบุถึงสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษาของเด็กที่มีความต้องการพิเศษทุกประเภทว่า เด็กเหล่านี้มีสิทธิ์ที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ทำให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องเตรียมพร้อมในการรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษประเภทต่างๆ เข้ามาเรียนร่วมหรือเรียนรวมในชั้นเรียนปกติ ซึ่งเป็นการเรียนร่วมหรือการจัดชั้นเรียนพิเศษ หรือโรงเรียนปกติแล้วแต่กรณี การนำเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้ามาเรียนร่วมกับนักเรียนปกติในระดับอนุบาล มีผลดีต่อนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ และในปัจจุบันมีแนวโน้มของการจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมมากขึ้น โดยจัดให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้ามาเรียนร่วมในห้องเรียนเดียวกันกับเด็กปกติ หากความพิการเป็นอุปสรรคไม่สามารถเรียนร่วมในลักษณะดังกล่าวได้ ก็จะจัดเป็นชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนปกติ การจัดการเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีความต้องการพิเศษกับเด็กปกติอาจกระทำได้ในหลายลักษณะซึ่งมีรูปแบบต่างๆ แต่จะจัดการเรียนร่วมในลักษณะใดนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพความต้องการและความพร้อมของเด็ก ในการจัดชั้นเรียนพิเศษให้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนปกติ เป็นการป้องกันไม่ให้เด็กรู้สึกว่าถูกตัดออกไปจากสังคมและเกิดความว้าเหว่ ช่วยไม่ให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษมีความรู้สึกเป็นปมด้อย.

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181