ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

blind buddy เพื่อคนตาบอด รถเมล์ ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

สำหรับ “คนตาบอด” นอกจากการช่วยเหลือตัวเองแล้ว อุปสรรคในการเดินทางออกไปข้างนอกเพียงลำพัง ยังถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเรื่องการใช้รถประจำทาง หรือ “รถเมล์”

 

ป้ายรถเมล์อยู่ตรงไหน…รถเมล์มาหรือยัง?...ฯลฯ เป็นบางปัญหาที่คนตาบอดต้องประสบ แต่ด้วยปัจจุบันโลกก้าวเข้าสู่ “ยุคดิจิทัล” และผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มคนพิการมากขึ้น เพื่อหวังให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับคนปกติทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง…

 

Blind Buddy!!!

 

“แอพพลิเคชั่น” ช่วยเหลือคนพิการทางสายตาในการเดินทางโดยรถเมล์ เป็นอีกหนึ่ง “ตัวช่วย” ที่กำลังถูกพัฒนาขึ้นด้วยฝีมือของนักศึกษากลุ่มวิชาเอกเทคโนโลยีมีเดียชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.)

 

“เวลาที่คนตาบอดจะขึ้นรถเมล์จะใช้วิธีตะโกนถามจากคนแถวนั้นว่ารถเมล์สายนั้นสายนี้มาหรือยัง บางครั้งมีคนใจดีช่วยบอก หรือบางครั้งเขาจะเขียนใส่กระดาษแล้วถือไว้ เผื่อจะมีคนช่วยบอก หรืออย่างน้อยกระเป๋ารถเมล์ก็ช่วยเรียกให้ขึ้นรถได้ แต่ถึงคนพิการทางสายตาจะมีทางออกในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง แต่พวกเราคิดว่ามันมีทางออกที่ดีกว่านี้”

 

“อารีมน เสริมทรัพย์” หนึ่งในนักศึกษาที่ร่วมพัฒนาโปรเจกท์ Blind Buddy กล่าวถึง “แรงบันดาลใจ” ที่หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้

 

หลังจาก “สัมผัส” ปัญหาของคนตาบอดด้วยตัวเอง “อารีมน” จึงร่วมกับ รจเรข ทุ้ยมาก และ วรินดา เรืองวงษ์ ออกแบบแอพพลิเคชั่นดังกล่าวขึ้น เริ่มจากการสำรวจข้อมูลที่มูลนิธิคอลฟีลด์เพื่อคนตาบอดในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ซึ่งเป็นคนตาบอดที่ต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นประจำ พบว่า “สมาร์ทโฟน” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของพวกเขา การพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ต้องใช้งานบนสมาร์ทโฟน จึงน่าจะช่วยอำนวยความสะดวกได้

 

ด้าน “รจเรข” อธิบายถึงวิธีใช้งาน Blind Buddy ว่า แอพพลิเคชั่นนี้ใช้โปรแกรม Android Studio ในการออกแบบและจัดทำแอพพลิเคชั่นที่มีการทำงานกันระหว่าง Ibeacon และแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน เพื่อส่งและรับข้อมูล จากนั้นจะแสดงผลออกมาผ่านแอพพลิเคชั่นในรูปแบบเสียง โดยผู้ใช้เริ่มจากเปิดแอพพลิเคชั่น Blind Buddy ไว้ จากนั้นเดินไปเรื่อยๆ

 

จนกระทั่งแอพพลิเคชั่นจับสัญญาณบลูทูธ Ibeacon หรือตัวจับสัญญาณบลูทูธที่ติดตั้งไว้ที่ป้ายรถเมล์ได้แล้วจะ “แจ้งเตือน” ด้วยการสั่นและมีเสียงเตือนว่าอยู่ที่ป้ายรถเมล์แล้ว จากนั้นผู้ใช้แตะ หรือ “สัมผัส”ที่หน้าจอ 1 ครั้ง แอพพลิเคชั่นจะบอกด้วยเสียงว่าที่ป้ายดังกล่าวมีรถเมล์สายใดผ่านบ้าง ผู้ใช้ก็แตะที่หน้าจออีก 1 ครั้ง เพื่อเลือกสายรถที่จะขึ้นแล้วก็ยืนรอ จนกระทั่งรถเมล์สายที่เลือกไว้มาถึง จะมีการแจ้งเตือนด้วยเสียงว่ารถมาถึงแล้ว ซึ่งต้องมีการติดตั้ง Ibeaconไว้ที่รถเมล์ด้วย

 

“เมื่อขึ้นรถได้แล้วให้ผู้ใช้แตะที่หน้าจออีกครั้ง แอพพลิเคชั่นจะบอกด้วยเสียงว่ารถคันนี้ผ่านป้ายใดบ้าง และเมื่อผู้ใช้เลือกป้ายที่จะลงแล้วก็รอจนกระทั่งถึงป้ายดังกล่าว แอพพลิเคชั่นจะแจ้งเตือนล่วงหน้าว่าใกล้จะถึงป้ายแล้ว ให้เตรียมตัว” รจเลข กล่าว

 

ขณะที่ “วรินดา” กล่าวว่า ที่จัดทำแอพพลิเคชั่นนี้ขึ้น เพราะอยากจะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกการเดินทางด้วยรถเมล์ให้แก่คนตาบอด ทำให้สามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวัน ใช้บริการขนส่งสาธารณะและเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ได้เหมือนคนปกติทั่วไป

 

Blind Buddy…เป็นแนวคิดของเด็กไทยกลุ่มหนึ่งที่อยากมีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคม แต่ลำพังเพียงกำลังของนักศึกษากลุ่มหนึ่งคงไม่สามารถผลักดัน “ตัวช่วย” นี้ ออกสู่การใช้งานจริงได้...

 

SCOOP@NAEWNA.COM

หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 19 มิถุนายน 2559

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181