ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สถาบันสิรินธรฯ เปิดตัว “เครื่องฝึกทรงตัว” เครื่องเดียวในไทย ป้องกันผู้สูงอายุหกล้ม

หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 13 มิถุนายน 2559
เครื่องฝึกทรงตัว
 สถาบันสิรินธรฯ เปิดบ้านโชว์นวัตกรรมฟื้นฟูร่างกาย สำหรับ “ผู้สูงอายุ” ชูเครื่องฝึกการทรงตัวบนลู่เดิน เครื่องแรกและเครื่องเดียวในไทย ช่วยป้องกันการหกล้ม เซ ทรงตัวไม่ดี เครื่องฝึกการเคลื่อนไหวขาบนเตียง สำหรับผู้ป่วยติดเตียง
       
       วันนี้ (13 มิ.ย.) สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ ร่วมกับ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี จัดกิจกรรม “ปันความรู้ สู่ผู้สูงวัย ด้วยก้าวใหม่แห่งเทคโนโลยี” โดยนำผู้สูงอายุมาเยี่ยมชมการสาธิตและทดลองใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีช่วยการทรงตัว และเรียนรู้เทคนิคการทรงตัวเพื่อป้องกันการหกล้ม
เครื่องฝึกการเคลื่อนไหวขาบนเตียงปรับยืน
       
       นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความเสื่อมถอยของร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เจ็บป่วยง่าย โรคที่พบบ่อย ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน หลอดเลือดสมองตีบ หรือแตก อาจทำให้กลายเป็นอัมพาตได้ รวมไปถึงเรื่องของการทรงตัวที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ อาจทำให้เสียชีวิต หรือเป็นอัมพาตได้เช่นกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 10.4 คาดว่า จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในช่วงปี 2567 - 2568 ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำได้โดยการให้ความรู้คนกลุ่มนี้รู้จักวิธีดูแลสุขภาพของตนเองเบื้องต้น แต่หากป่วยหรือพิการแล้วก็จำเป็นต้องเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย เพื่อให้กลับมาช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สถาบันสิรินธรฯ จึงนำเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาช่วยฟื้นฟูความเสื่อมทางกายของผู้สูงอายุและคนพิการ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับสู่สภาวะปกติหรือใกล้เคียงมากที่สุด
       
       พญ.ดารณี สุวพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรฯ กล่าวว่า เทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการทรงตัวที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุนั้น มีทั้งหมด 4 เครื่อง ประกอบด้วย 1. เครื่องฝึกการทรงตัวบนลู่เดิน ซึ่งถือเป็นเครื่องแรกและเครื่องเดียวในประเทศไทย โดยเครื่องช่วยฝึกบาลานซ์ และการทรงตัวให้แก่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องของการเดิน การเซ หรือกรณีบ้านหมุนที่ปัจจุบันพบคนป่วยมากขึ้น จากความเสื่อมของสมองและประสาทหู ซึ่งเครื่องนี้จะมีโปรแกรมให้ฝึกเดินที่หลากหลาย และช่วยป้องกันการหกล้มด้วย โดยเครื่องจะช่วยการล้มในลักษณะต่าง ๆ ว่า จะต้องมีการทรงตัวกลับมาอย่างไร ซึ่งเมื่อรับการฝึกบ่อย ๆ จะทำให้สมองจำอัตโนมัติว่าเมื่อจะล้มลงท่านี้ต้องทรงตัวกลับมาอย่างไร โดยจะมีอุปกรณ์ในการช่วยพยุงเพื่อป้องกันการล้มขณะทำการฝึกด้วย ซึ่งการฝึกจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อครั้ง ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ก็จะสามารถกลับมาเดินอย่างปกติได้
       
       2. เครื่องฝึกการเคลื่อนไหวขาบนเตียงปรับยืน ซึ่งเป็นเครื่องแรกและเครื่องเดียวในประเทศไทยเช่นกัน เหมาะสำหรับผู้สูงอายุติดเตียง ที่มีการนอนนาน ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา เครื่องนี้จะช่วยปรับความดันให้ทรงตัวอยู่ในท่ายืน และมีการบันทึกข้อมูลว่าดันขึ้นได้กี่องศา และจะอาศัยไฟฟ้าในการช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของขา เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา ซึ่งใช้เวลาในการฝึกประมาณ 1 ชั่วโมงต่อครั้ง ระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ จึงจะเห็นผลว่าสามารถยืนได้ดี 3. จักรยานเสมือนจริง ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาและเข่า ซึ่งเครื่องจะเชื่อมข้อมูลกับระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีภาพสถานที่ให้เลือกปั่นจักรยานตามเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ ของโลกทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งหากปั่นเร็วภาพก็เคลื่อนไหวเร็วตามไปด้วย ทำให้ได้รับความเพลิดเพลิน และ 4. เครื่องฝึกการเคลื่อนไหวด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือ Silver Fit ช่วยฝึกความแข็งแรงของแขนและขา โดยจะมีเกมให้ได้เคลื่อนไหวตาม
       
       “แต่ละเครื่องมีผู้ป่วยเข้ามรับบริการวันละประมาณ 3 - 4 ราย สำหรับการเข้ามารับบริการด้วยอุปกรณ์เหล่านี้ หากเป็นสิทธิข้าราชการสามารถเบิกจ่ายได้โดยตรงกับกรมบัญชีกลาง แต่หากเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และประกันสังคม ต้องส่งต่อมาตามระบบ หรือหากจะขอมารับบริการโดยจ่ายเงินเองก็ได้ แต่จะต้องให้แพทย์ตรวจประเมินก่อนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องฝึกหรือฟื้นฟูอย่างไรบ้าง โดยค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 - 1,200 บาทต่อครั้ง” พญ.ดารณี กล่าว
       
       ด้าน น.ส.พจนีย์พร ชำนาญภักดี ผอ.ฝ่ายทรัพยากรบุคคล เคทีซี กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ได้นำผู้สูงอายุในเขตวัฒนา จำนวน 15 คน มาเรียนรู้และฝึกประสบการณ์หลากหลายรูปแบบ ทั้งเทคนิคการทรงตัวอย่างไรไม่ให้หกล้ม การออกกำลังกายในสระธาราบำบัด รวมทั้งชมนวัตกรรมหุ่นยนต์ผู้ช่วยด้านการเคลื่อนไหวและการทรงตัว 

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก