ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เมื่อเด็กแอลดีเล่นเฟสบุ๊ก

When kids with LD Facebook

เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้อาจพัฒนาได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เว็บเครือข่ายสังคม เรามาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของเด็กแอลดีเมื่อเล่นเฟสบุ๊กกันค่ะ ข้อมูลนี้มาจากบทความเรื่อง When kids with LD Facebook จากเว็บไซต์ www.greatschools.org เขียนโดยทีมงาน Greatschools 

 

เนื้อหาบทความกล่าวถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น จากโครงการศึกษาชีวิตคนอเมริกันกับอินเทอร์เน็ตของสำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) ประเทศสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 93 ของเยาวชนอเมริกันช่วงอายุ 12 - 17 ปีออนไลน์ และมากกว่าครึ่งหนึ่งใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคม แม้เครือข่ายออนไลน์เป็นประโยชน์ต่อเด็กมากมายหลายด้าน แต่ก็มีความเสี่ยงในระดับหนึ่ง ซึ่งรายงานข่าวและรายละเอียดเหตุการณ์อันตรายจากเฟสบุ๊กก็เป็นประเด็นร้อนทางสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง 

 

แน่นอนว่า พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีความกังวลใจไม่น้อย ซึ่งในประเด็นนี้ Scott Moore ผู้จัดการชุมชนออนไลน์คนหนึ่ง กล่าวว่า "จากข้ออภิปรายในกระดานข้อความต่างๆ จะเห็นได้ชัดเจนว่าเหล่าพ่อแม่ตื่นตระหนกและกังวลใจเกี่ยวกับการสื่อสารใน MySpace และบริการอื่นๆ ทางเครือข่ายสังคมออนไลน์มาก พวกเขากังวลเรื่องความปลอดภัยและวิธีการที่สื่อเหล่านี้จะมีผลต่อการพัฒนาทางสังคมของเด็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าบุตรหลานของพวกเขาเป็นเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้หรือปัญหาสมาธิสั้น”

 

ดังนั้น ในบทความนี้จะบอกเล่าถึงความเสี่ยงและประโยชน์ของเครือข่ายสังคมออนไลน์สำหรับเด็กทั่วไป และเน้นเป็นพิเศษที่เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้หรือเด็กแอลดี (LD) รวมทั้งเด็กสมาธิสั้น โดยบทความพยายามอธิบายถึงวิธีการที่พ่อแม่จะช่วยส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ออนไลน์ของเด็กๆ ได้ค่ะ

เว็บไซต์เครือข่ายสังคมทำงานอย่างไร

เว็บไซต์อย่าง MySpace และ Facebook จะกระตุ้นให้คนสร้างและแบ่งปันตัวตนกับสังคมออนไลน์ของตัวเองซึ่งอาจรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล รูปถ่าย บล็อก วิดีโอ และคลิปเพลง แล้วผู้ใช้ก็สามารถแชร์ข้อมูลของตนกับ     คนอื่นได้โดยตรง รวมทั้งยังสามารถติดต่อกับกลุ่มคนอีกมากมายผ่านเครือข่ายออนไลน์ของแต่ละคนด้วย จากมุมมองเชิงเทคนิค เว็บไซต์เครือข่ายสังคมนี้สามารถสร้างแหล่งนัดพบเสมือนจริงให้ผู้คนได้หาเพื่อนและติดต่อสื่อสารกันได้อย่างดียิ่ง

 

เว็บไซต์ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ทุกวันนี้มีหลายร้อยเว็บไซต์ที่อ้างว่าได้นำเสนอเว็บในรูปแบบของเครือข่ายสังคม และเนื่องจากธรรมชาติของเว็บที่มีการปรับปรุงตลอดเวลา แม้เว็บไซต์ที่จัดสร้างมาอย่างดีแล้วก็มักจะเพิ่มเติม ลบออก หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบบางส่วนบ่อยๆ บางทีก็ปรับให้เว็บปลอดภัยขึ้น หรือบางทีก็ปรับจนเว็บปลอดภัยน้อยลง เว็บไซต์เครือข่ายสังคมไม่มีสูตรตายตัวประเภทเว็บเดียวเหมาะเจาะกับทุกคนหรอก ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบเว็บไซต์ที่บุตรหลานเข้าไปเยี่ยมชมเป็นประจำ

ประโยชน์ของเครือข่ายทางสังคม

ท่ามกลางเรื่องน่าตกใจทั้งหลายแหล่เกี่ยวกับความเสี่ยงของเด็กกับสื่อสังคมออนไลน์นี้ มีข่าวดีๆ บ้างไหม?  จริงๆ แล้ว การที่เด็กๆ เล่นสื่อสังคมออนไลน์มีประโยชน์ไม่น้อยทีเดียว เช่น

 การฝึกทักษะทางสังคม
เด็กๆ จะมีโอกาสได้พบปะผู้คนมากมายออนไลน์ และเนื่องจากการสื่อสารโต้ตอบผ่านเทคโนโลยีไม่ได้เป็นปฏิกิริยาปัจจุบันทันด่วนเท่ากับการพูดคุยซึ่งหน้ากันหรือคุยโทรศัพท์กัน เด็กๆ จึงพอมีเวลาเล็กน้อยที่จะคิดก่อนโต้ตอบไป สิ่งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่เด็กๆ จะได้ฝึกทักษะด้านการทักทาย หรือ      การโต้ตอบต่างๆ เป็นต้น 

 ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่มีการกำหนด/นำทางไว้แล้ว

ในขณะที่เทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์เปิดทางให้เกิดปฏิสัมพันธ์แบบอิสระมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมออนไลน์ก็อาจกำหนดให้แคบลงได้เพื่อจุดประสงค์ของการจำกัดขอบเขตและความปลอดภัย ตัวอย่างเช่น รายชื่อเพื่อน แช็ทรูมหรือ กระดานข่าวที่จำกัดแนวสนทนาอย่างเหมาะสม และสำหรับเด็กเล็กก็คือโอกาสที่พ่อแม่จะช่วยเด็กในการพิมพ์หรืออ่านบทสนทนา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กสร้างทักษะและความเชื่อมั่น ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาพึ่งตนเองได้ดีขึ้นยามเติบโตเป็นผู้ใหญ่   

 การสร้างพื้นที่ทางสังคมส่วนตัว

สถานที่สาธารณะมากมายมักถูกพวกผู้ใหญ่จับจ้องจนเด็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่าวัยรุ่นทั้งหลาย จะรู้สึกอึดอัดว่าพวกเขาไม่มีอิสระในการรวมกลุ่มเพื่อนๆ โดยไม่มีผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจเหนือเขาคอยจับตามอง ทุกวันนี้การสังสรรค์แบบเดิมๆ อย่างเช่นห้างสรรพสินค้ากลายเป็นแหล่งต้องห้ามสำหรับเด็กวัยรุ่นที่ไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแลมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งร้านขายอาหาร แผงขายสินค้าวัยรุ่น และร้านขายวิดีโอตามทางเดิน ก็เชิญชวนให้เด็กๆ ที่ต้องการสังสรรค์แวะเยี่ยมน้อยลงเช่นกัน 

 การทดลองตัวตน

เด็กสามารถสร้างตัวตนออนไลน์ที่แตกต่างจากภาพลักษณ์ปกติได้  ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่ชอบการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจก็สามารถเป็น "เจ้าแห่งสรรพศาสตร์ด้านซูเปอร์ฮีโร” ออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกล้อเลียนที่โรงเรียน เด็กคนนี้ยังสามารถหากลุ่มเพื่อนออนไลน์ที่ชื่นชมความสามารถด้านนี้ของเขาอีกด้วย

 การได้ฝึกใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งที่จะเกิดขึ้นใหม่หรือเปลี่ยนแปลงใหม่บ่อยๆ
ทุกวันนี้ เทคโนโลยีพัฒนาเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก ในขณะที่เด็กๆ เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือแอปพลิเคชันใหม่ของเทคโนโลยีเดิม พวกเขาจะได้ฝึกการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีอนาคตได้ดีขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้เด็กๆ ประเมินความเสี่ยงในการสื่อสารผ่านวิธีการใหม่ๆ เหล่านี้ และปรับพฤติกรรมให้สามารถรักษา        ความปลอดภัยของตนเองได้ 

ประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับเด็กแอลดีหรือเด็กสมาธิสั้น

ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่ง คือ H. Raskind, PhD อธิบายว่า เด็กแอลดีหรือสมาธิสั้นอาจเห็นว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเรื่องปกติก็ได้  เพราะมีงานวิจัยค้นพบว่า คนมักเต็มใจที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์มากกว่า เพราะสามารถปกปิดตัวจริงไว้ได้ ซึ่งหมายความว่าเด็กพิเศษสามารถแสดงออก รวมทั้งแสดงความคิดและความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกปฏิเสธอย่างที่พวกเขาอาจพบได้ในชีวิตจริง   (ดู SparkTop.org สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม) การวิจัยยังได้เสนอแนะว่า เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้อาจเต็มใจที่จะขอความช่วยเหลือออนไลน์มากกว่าการขอแบบซึ่งหน้าจริงๆ

 

Raskind ยังอธิบายว่าเด็กแอลดีจำนวนมากมีปัญหาด้านทักษะทางสังคม แต่เครือข่ายสังคมออนไลน์ช่วยให้   พวกเขาเข้าสังคมได้โดยไม่ต้องแสดงตัวจริง ซึ่งจริงๆ แล้ว คนที่พวกเขาสื่อสารออนไลน์ด้วยไม่จำเป็นต้องรู้ถึงปัญหาแอลดีของพวกเขาด้วยซ้ำ พวกเขาสามารถทดลองบุคลิกต่างๆ ได้มากกว่าภาพที่เด็กคนอื่นๆ มองเห็น  พวกเขาที่โรงเรียน นอกจากนี้ เด็กแอลดียังสามารถฝึกฝนที่จะเริ่มต้นและรักษามิตรภาพออนไลน์ไว้ พวกเขาสามารถโต้ตอบกับคนอื่นๆ โดยมีเวลาพอที่จะตรวจสอบและแก้ไขข้อความสื่อสารก่อนส่งไปให้คู่สนทนา ประสบการณ์นี้อาจนำไปใช้ชีวิตจริง ซึ่งจะช่วยให้พวกเขามีความกล้าและมีทักษะเพิ่มขึ้นในการสร้างและรักษามิตรภาพในชีวิตประจำวันได้

ความเสี่ยงของเครือข่ายสังคมออนไลน์

ความเสี่ยงของเครือข่ายออนไลน์ในส่วนที่สื่อต่างๆ ให้ความสนใจก็เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว มาดูความเสี่ยงสำหรับเด็กและวัยรุ่นกันค่ะ

 การแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลของตนกับคนไม่ดี
การติดต่อสื่อสารออนไลน์กับผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หรือเด็ก     ร้ายๆ โดยพ่อแม่ไม่ได้รู้เห็นหรือดูแล อาจนำไปสู่ภัยหรือการทำร้ายร่างกายส่วนบุคคลได้ง่าย

 การล่อลวง/ข่มขู่

การคุกคามอาจเกิดขึ้นออนไลน์เท่านั้น (การกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต) หรืออาจขยายเป็นการกลั่นแกล้งออฟไลน์ซึ่งกระทำโดยเพื่อนร่วมโรงเรียนที่รู้ที่อยู่ของเหยื่อออนไลน์

 ความคงอยู่ของข้อมูลประวัติออนไลน์ (online profiles)
เมื่อข้อมูลถูกแชร์บนอินเทอร์เน็ตแล้ว มันก็จะอยู่ที่นั่น--ตลอดไป! การจะลบข้อมูลที่ผู้คนออนไลน์ได้อ่านและจัดเก็บไว้แล้วออกจากอินเทอร์เน็ตนั้นแทบ   ไม่มีทางเป็นไปได้เลย การแชร์โปรไฟล์ ข้อความ รูป และวิดีโอออนไลน์อาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งให้อับอาย การล่วงละเมิด หรืออาชญากรรมในการจ้างงานหรือการสมัครเรียนต่างๆ ในอนาคตได้ 

 การให้ข้อมูลผิดพลาด

เด็กๆ อาจค้นหาได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์          ที่ปลอดภัย การใช้ยาเสพติด หรือการเหยียดเชื้อชาติ/ความเกลียดชังออนไลน์ได้

ความเสี่ยงเพิ่มเติมสำหรับเด็กแอลดีหรือเด็กสมาธิสั้น

Raskind ตั้งข้อสังเกตว่า เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้และสมาธิสั้นอาจมีความเสี่ยงออนไลน์เป็นพิเศษ หากมีลักษณะหรืออาการต่อไปนี้

 ความหุนหันพลันแล่น

เด็กที่หุนหันวู่วาม ไม่ยั้งคิด อาจมีปฏิกิริยาโต้ตอบหรือกดปุ่มส่ง (Send) ก่อนจะทบทวนข้อความสื่อสารและความหมายของข้อความนั้นอย่างระมัดระวังได้ 

 การตีความหรือเข้าใจข้อความสื่อสารผิด

เด็กที่ตีความข้อความสื่อสารที่ได้รับจากเด็กอื่นๆ ผิดพลาด อาจแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ทั้งภายในและภายนอกด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม ซึ่งปฏิกิริยานี้อาจเกิดจาก         ความอ่อนไหวเกินไปผสมกับปัญหาในการอ่านก็ได้

 ปัญหาในการแสดงออกโดยการเขียน
ความเสี่ยงอาจเกิดจากเด็กได้เขียนแสดงบางอย่างออกไป ซึ่งอาจ    ไม่ตรงกับสิ่งที่เขาตั้งใจก็ได้ 

 ความเหงา

เด็กที่โหยหาการยอมรับทางสังคมอาจถูกล่อลวงไปกับความสัมพันธ์ออนไลน์ที่ไม่ปลอดภัย    อย่างยิ่งได้ง่ายขึ้น นักล่าออนไลน์มักมองหาเหยื่อที่เป็นเด็กขาดความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งทำให้เด็กๆ มี      ความเปราะบางหรือความเสี่ยงมากขึ้น  

ความปลอดภัยออนไลน์

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า เมื่อพูดถึงการสอนเด็กในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย วิธีที่ดีที่สุดคือ การสื่อสารดีๆ ระหว่างพ่อแม่กับลูก พ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงพฤติกรรมบางอย่างที่อาจนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงได้ เช่น การให้ข้อมูลส่วนตัว การไปพบปะคนที่เจอกันออนไลน์นอกสถานที่ หรือการวิพากษ์วิจารณ์ความถูกต้องเหมาะสมในตัวตนของบุคคลใดๆ หรือข้อความใดๆ ที่นำเสนอบนเว็บไซต์ เป็นต้น นอกเหนือจากการพูดคุยเกี่ยวกับการสื่อสารออนไลน์อย่างปลอดภัยกับบุตรหลานแล้ว เราอาจสามารถขยายความเข้าใจและความตระหนักในกิจกรรมออนไลน์ของเด็กๆ ได้ ดังนี้

 เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีของเด็กๆ อย่างน้อยในระดับหนึ่ง

อย่ากลัวเทคโนโลยี แล้วพ่อแม่อาจพบว่าเด็กๆ เปิดรับเรามากขึ้น เมื่อเราได้ใช้เทคโนโลยีอย่างเช่นการส่งข้อความทันที (IM) กับเขา

 อย่าลดความสำคัญของการสื่อสารของเด็กผ่านเทคโนโลยี

เพราะมันเป็นวิถีชีวิตทางสังคมไปแล้ว บางครั้งมันอาจเป็นวิธีเดียวที่เด็กใช้สื่อสารกับเพื่อนก็ได้

 ทำอย่างที่พูด

ทำตามขั้นตอนเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยออนไลน์ของตัวพ่อแม่เอง ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างระมัดระวัง และโปรดจำไว้ว่าเด็กๆ อาจค้นดูประวัติการท่องเว็บและคุกกี้ของพ่อแม่ได้อย่างง่ายดายเหมือนกับที่พ่อแม่เองก็ตรวจดูการท่องเว็บของพวกเขาได้!

การป้องกันเป็นพิเศษสำหรับเด็กแอลดีและเด็กสมาธิสั้น

Raskind ได้ให้คำแนะนำเพื่อสร้างความปลอดภัยออนไลน์สำหรับเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้และเด็กสมาธิสั้นมากขึ้น ดังนี้

 เด็กแอลดีอาจต้องการคำแนะนำพิเศษเนื่องด้วยลักษณะเฉพาะและปัญหาทางการเรียนรู้ของพวกเขา        ในฐานะพ่อแม่ เราควรต้องปรับแต่งการแนะนำพูดคุยของเราให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะทางอารมณ์และสังคมเฉพาะของลูก รวมทั้งให้เหมาะกับความสามารถ ปัญหา และระดับพัฒนาการของลูกด้วย เหมือนอย่างที่    พ่อแม่ของเด็กทุกคนพึงทำ

 พ่อแม่ควรสอนลูกเกี่ยวกับความปลอดภัยออนไลน์ โดยทำให้เป็นการสนทนาพูดคุยกับลูกที่เปิดเผยและจริงใจ                ในขณะเดียวกัน อาจต้องยอมให้เด็กมีอิสระออนไลน์บ้าง เพื่อสร้างความสมดุลและไม่อึดอัดเกินไป  

 หากบุตรหลานของคุณต้องการพบปะตัวจริงของเพื่อนออนไลน์ คุณควรมีส่วนร่วมรับรู้ด้วย!

เก็บเกี่ยวประโยชน์ แต่หลีกเลี่ยงความเสี่ยง

เด็กและวัยรุ่นส่วนมากในปัจจุบันเห็นว่าการใช้อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายออนไลน์เป็นกิจกรรมสำคัญในชีวิตประจำวันไปแล้ว แม้ว่าพ่อแม่อย่างเราอาจไม่ได้มีประสบการณ์เหมือนกับเด็กๆ แต่เราสามารถมีบทบาทสำคัญในการสอนลูกหลานถึงวิธีการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ได้

 

ส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

แปลและเรียบเรียงจาก

When kids with LD Facebook 

 

เขียนโดย Greatschools Staff http://www.greatschools.org/gk/articles/social-networking-sites/

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181