ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก: เครื่องมือช่วยการเรียนรู้

โดย Jessica Millstone, Ed.M., M.P.S. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 www.understood.org

ครูและผู้ปกครองเด็กพิการหรือเด็กพิเศษส่วนใหญ่คงรู้จักคำว่า Assistive Technology หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า AT (เอที) ซึ่งในภาษาไทยใช้ว่า เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก มาบ้าง แล้วเจ้าเอทีนี่จะช่วยการเรียนรู้ของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือที่เรียกง่ายๆ กันว่า เด็กแอลดี (Learning Disability: LD) อย่างไรบ้าง ผู้เขียนมีบทความเรื่องนี้จากเว็บไซต์ www.understood.org ของประเทศสหรัฐอเมริกามาฝากกันค่ะ เป็นบทความเรื่อง Assistive Technology: Tools That Help With Learning เขียนโดยทีมงานของเว็บไซต์  ที่เรียกตัวเองว่า Understood Team  (ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันและอุทิศตนสำหรับเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้และสมาธิสั้น โดยหลายคนมีบุตรหลานที่เป็นเด็กแอลดีด้วย) โดยบทความได้ปรับปรุงใหม่โดย Jessica Millstone เมื่อวันที่  1 มิถุนายน 2557 นี้เอง ผู้เขียนนำมาแปลและเรียบเรียงใหม่เพื่อให้อ่านสะดวกขึ้นนะคะ เนื้อหาส่วนใดที่นำมาใช้ในบริบทของไทยไม่ได้ก็จะขอข้ามไปค่ะ

 

บทความเริ่มโดยการเน้นย้ำว่า เอทีไม่สามารถ "รักษา" หรือ “ขจัด” ปัญหาการเรียนรู้และสมาธิสั้นของเด็กได้ แต่สามารถช่วยให้เด็กมีความสะดวกในการเรียนรู้มากขึ้น นอกจากนี้ เอทีไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีระดับสูง และเราควรต้องหารือกับคุณครูในการระบุเรื่องเอทีในแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลหรือ IEP (Individualized Education Program) ของบุตรหลานเราด้วย

 

หากเด็กของเรามีปัญหาทางการเรียนรู้และสมาธิสั้น ขั้นตอนแรกเลยคือ เราต้องศึกษาเกี่ยวกับสิ่งอำนวย       ความสะดวกต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก หรือ เอที ก็เป็น     ตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพ และเราต้องทำความรู้จักให้ถ่องแท้ว่า เอทีแต่ละประเภทเป็นอย่างไรและมีวิธีการใช้งานอย่างไร เพื่อเลือกเฟ้นเอทีให้เหมาะสมกับเด็กของเราค่ะ

เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกคืออะไร 

มาทำความรู้จักกับเอทีกันก่อน เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก (AT) คือ อุปกรณ์ ชิ้นส่วนของอุปกรณ์ หรือระบบ ที่จะช่วยให้คนพิการหรือคนที่มีความบกพร่องด้านต่างๆ สามารถเรียนรู้ สื่อสาร หรือทำงานได้ดีขึ้น แล้วมันจะช่วยเด็กของเราได้อย่างไรล่ะ 

 

ทุกวันนี้มีเอทีหลายประเภทที่ช่วยเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้และสมาธิสั้น เครื่องมือเหล่านี้สามารถช่วยให้เด็กๆ ลดความยากลำบากและเพิ่มจุดแข็งในการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งจะช่วยปรับเปลี่ยนให้เด็กประสบความสำเร็จทาง  การเรียนได้ รวมทั้งพัฒนาความเชื่อมั่นและพึ่งตนเองได้มากขึ้นด้วย

เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก: จากเครื่องมือแบบง่ายๆ จนถึงไฮเทค

ในปัจจุบันมีเครื่องมือเอทีที่จะช่วยนักเรียนที่มีปัญหาในการฟัง คณิตศาสตร์ การอ่านและการเขียน อย่างหลากหลายและทวีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมา

 

แม้จะใช้คำว่า "เทคโนโลยี" แต่เอทีไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงทั้งหมด จริงๆ แล้ว เอทีมีทั้งที่เป็นเครื่องมือแบบง่ายๆ เช่น ปากกาเน้นข้อความ แฟ้มแยกงาน เป็นต้น จนถึงเครื่องมือไฮเทค อย่างเช่น โปรแกรมอ่านข้อความเป็นเสียงที่เรียกว่า text-to-speech software

เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกกับ IEP 

ถ้าเด็กของเรามีแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) ทีมจัดทำ IEP จะต้องกำหนดใน IEP ว่า เด็กจำเป็นต้องใช้เอทีอะไรบ้าง ซึ่งเป็นสิทธิ์อันพึงได้จากรัฐฟรีสำหรับเด็กพิเศษนะคะ 

 

ในประเทศสหรัฐอเมริกา พระราชบัญญัติการศึกษาสำหรับคนพิการ (Individuals With Disabilities Education Act – IDEA) ยังบัญญัติไว้ชัดเจนว่า เขตการศึกษา (school district) ต้องรับผิดชอบในการสรรหาและจัดซื้อเอที  ที่ระบุใน IEP ของนักเรียน รวมทั้งโรงเรียนยังต้องฝึกอบรมบุคลากรและเด็กในการใช้งานเอทีเหล่านี้ด้วย ส่วนในประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการจะรับผิดชอบในส่วนนี้ โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษมอบหมายให้ศูนย์การศึกษาพิเศษต่างๆ ร่วมกับโรงเรียนดำเนินการเรื่องเอทีให้กับเด็กพิเศษค่ะ

 

และด้วยเหตุที่เอทีเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็วมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บางทีก็เป็นเรื่องยากที่โรงเรียนจะระบุได้ว่า มีเอทีอะไรใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก ดังนั้น ผู้ปกครองเองอาจจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เองบ้าง และเข้าหาหรือประสานกับโรงเรียนก่อน รวมทั้งตรวจสอบให้แน่ใจว่า โรงเรียนได้ระบุเอทีที่จำเป็นสำหรับลูกเราใน IEP เรียบร้อยแล้ว แล้วอย่าลืมหารือกับโรงเรียนถึงสิ่งแวดล้อม สภาพและเงื่อนไขของการใช้งานเอทีเหล่านั้นด้วย รายละเอียดที่สำคัญต่างๆ เหล่านี้ควรเพิ่มเติมไว้ใน IEP ให้ครบถ้วนเลย

ขั้นตอนการประเมินเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก

ทีมจัดทำ IEP อาจขอทำการประเมินเอทีเพื่อตัดสินใจว่า เอทีนั้นๆ เป็นสิ่งจำเป็นจริงไหม โดยทั่วไปแล้ว         การประเมินเอทีจะดำเนินการโดยผู้ชำนาญการที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดีในสาขาที่เด็กของเราต้องการ    ความช่วยเหลือ ตัวอย่างเช่น นักอรรถบำบัด หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า นักแก้ไขการพูด อาจมาช่วยทำการประเมินว่า เด็กของเราต้องการเครื่องมือช่วยการสื่อสารไหม โรงเรียนเองก็อาจจะมีที่ปรึกษาเฉพาะมาช่วยประเมินเช่นกัน    ในกรณีที่ครูหรือบุคลากรอื่นไม่มีความชำนาญในด้านนี้

 

ในปัจจุบัน ยังไม่มีเกณฑ์หรือกระบวนการมาตรฐานในการประเมินเอที ซึ่งหมายความว่า โรงเรียนและ         หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรู้จักคนที่มาทำการประเมินให้ดีก่อน โดยเราสามารถสอบถามเกี่ยวกับรายละเอียดของผู้ประเมิน ทั้งด้านการศึกษา คุณสมบัติ ประสบการณ์ รวมถึงคำถามอื่นๆ ที่ผู้ปกครองและทีมงานต้องการรู้เพื่อเพิ่มความมั่นใจ เช่น

• เครื่องมืออะไรที่คุณคิดว่าจะช่วยเหลือเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุด 

• ลูกของเราสามารถใช้เครื่องมือนี้ได้อย่างไร 

• จำเป็นต้องใช้เครื่องมือนี้ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน เช่น ที่บ้าน โรงเรียน สถานที่อื่นในชุมชน ฯลฯ หรือไม่ อย่างไร

• จะเรียนรู้วิธีใช้งานเครื่องมือนี้ได้ยากง่ายเพียงใด 

• จะใช้งานเครื่องมือนี้ยากง่ายเพียงใด

• เด็กจะพึ่งพาเครื่องมือนี้ได้เพียงใด

• โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีบริการความช่วยเหลือทางเทคนิค ทดแทน หรือซ่อมบำรุง อะไรบ้าง 

สิ่งที่เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกทำได้และทำไม่ได้

เราคงต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า ไม่ว่าเด็กของเราจะใช้เอทีที่ดีเลิศขนาดไหน สิ่งที่สำคัญคือ เอทีไม่สามารถ “รักษา” ปัญหาทางการเรียนรู้หรือสมาธิสั้นได้ สรุปสั้นๆ คือ เอทีไม่สามารถแก้ไขการสอนที่ไร้ประสิทธิภาพของครูได้ และเอทีก็ไม่สามารถขจัดปัญหาทางการเรียนรู้หรือสมาธิสั้นของเด็กได้เช่นกัน

 

เอาล่ะ แล้วเอทีทำอะไรได้บ้าง ท่องไว้ในใจเลยนะคะว่า บทบาทของเอทีคือ “ช่วย” การเรียนรู้ของเด็ก เอทีใช้ทดแทนการสอนดีๆ ของครูไม่ได้ แต่สามารถใช้เสริมการสอนที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสมได้ และเอทีช่วยเด็กของเราให้มั่นใจในตัวเองขึ้น และเรียนรู้ได้อย่างอิสระมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยเด็กให้ทำงานได้เร็วขึ้นและถูกต้องขึ้น ปฏิบัติงานในชั้นเรียนทั่วไปได้ดีขึ้น รวมทั้งกำหนดและบรรลุเป้าหมายในการเรียนที่สูงขึ้นได้ 

 

เครื่องมือเอทีที่เหมาะสมจะช่วยให้เด็กได้ใช้ศักยภาพของตนเพื่อเสริมส่วนที่บกพร่องไป ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กของเรามีปัญหาด้านการอ่าน แต่มีทักษะการฟังที่ดี หนังสือเสียงก็จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กค่ะ

 

การเสาะหาว่า เอทีแบบไหนที่เหมาะสมกับความต้องการจำเป็นของเด็กอาจต้องใช้เวลาหรือการจัดการบางอย่างบ้าง แต่เครื่องมือเอทีที่เหมาะสมจะสามารถช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนและเรียนรู้ได้อย่างอิสระมากขึ้นจริงๆ  

 

บทความได้จบลงด้วยข้อสรุปสำคัญ 2-3 ข้อคือ

• หากเด็กจำเป็นต้องใช้เอทีจริงๆ แล้ว โรงเรียนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการประเมินเครื่องมือเอที      ที่เหมาะกับเด็ก และจัดหามาให้พร้อมสรรพ 

• โดยหลักการแล้ว เราคาดหวังว่า เด็กจะใช้เครื่องมือดังกล่าวจัดการกับความบกพร่องของตนและเสริมศักยภาพหรือจุดแข็งที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

• การเลือกเครื่องมือเอทีที่เหมาะสมจะช่วยให้บุตรหลานของเรามีความมั่นใจและเป็นอิสระในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น

 

ส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

แปลและเรียบเรียงจาก

Assistive Technology: Tools That Help With Learning

เขียนโดย The Understood Team 

ปรับปรุงโดย Jessica Millstone, Ed.M., M.P.S. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 

www.understood.org 

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก Assistive Technology: Tools That Help With Learning เขียนโดย The Understood Team

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181