ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

FIBO มจธ. แนะนำวิทยาการหุ่นยนต์กับอนาคตของประเทศไทย

หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มจธ.บางมด จัดงานครบรอบ 20 ปี ชี้อนาคตของหุ่นยนต์ไม่ได้อยู่แค่ในโรงงานอีกต่อไป คาดไม่เกิน 10 ปี ไทยจะมีความต้องการหุ่นยนต์สูงขึ้นเพื่อรองรับงานเกษตรกรรม และช่วยผ่อนแรงงานในครัวเรือนผลกระทบจากการเป็น Aging Society ในปี 2018

         

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้จัดงาน KMUTT OPEN HOUSE 2016 ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เป็นการเปิดบ้านให้นักเรียน และผู้สนใจศึกษาเข้ามาเยี่ยมชมในคณะต่างๆ และในโอกาสนี้สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มจธ. ยังได้จัดงานครบรอบ 20 ปี FIBO ภายใต้แนวคิด “20th Anniversary Professional Robot Maker เหลียวหลังมองอดีต มุ่งหน้าสู่อนาคต” ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมเปิดบ้าน และการจัดแสดงนิทรรศการการรวมตัวของนวัตกรรมหุ่นยนต์จำนวนมาก ผลงานวิจัยและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์ฉีดพ่นยากำจัดแมลงสำหรับต้นมะพร้าว ระบบล้อเลื่อนแบบลุกนอนได้สำหรับสุนัขพิการขาหลัง หุ่นยนต์ค้นหาทุ่นระเบิด หุ่นยนต์ควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ตสำหรับเรียนรู้การผสมสารเคมี รวมทั้ง Augmented Reality Game เป็นต้น

         

ทั้งนี้ รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม กล่าวว่า FIBO เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่วิจัย บริการวิชาการ และสร้างคน เปิดสอนหลักสูตร FRA หรือ FIBO Roboticsand Automation ในระดับปริญญาโทและเอกมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว และยังเป็นสถาบันแห่งแรกของไทยที่ให้ปริญญาเฉพาะทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติครบตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-โท-เอก เพื่อสร้างคนที่เป็นผู้นำทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม บริการและสังคมต่อไป

         

“FIBO เราเชี่ยวชาญทางด้าน robotics และ automation ซึ่งเป็นการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกันทั้งวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไอที ไฟฟ้า และเครื่องกลเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่จะเข้าไปรองรับงานด้านอุตสาหกรรมเราไม่ได้ทำงานเป็นระดับ mass หรือสร้างหุ่นยนต์เป็นกองทัพให้อุตสาหกรรม แต่เราเป็นสถาบันที่สร้างองค์ความรู้ใหม่และเป็นนวัตกรรมที่ทันสมัยขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดให้แก่สังคมหรืออุตสาหกรรมเพื่อนำไปต่อยอดเป็น mass ขึ้นมาได้”

 

นอกจากนั้นยังมี “FIBO TECH TALKS” เป็นการบรรยายเชิงวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันหลายท่าน อาทิ ผศ.ดร.ถวิดา มณีวรรณ์อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย FIBO ได้กล่าวไว้ในการบรรยายเกี่ยวกับหัวข้อ “What is the future of smart robot?”เพื่อชี้ให้เห็นทิศทางของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2018 ความต้องการ Service robot จะมากขึ้นและนำหน้า Industrial robot ขึ้นไปการสร้างหุ่นยนต์ที่ดีไม่ใช่แค่สร้างให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบแต่ต้องรู้ว่าประเทศต้องการส่งเสริม หรือขาดแคลนกำลังในด้านไหน ทั้งนี้ความต้องการสูงที่สุดคือ หุ่นยนต์ประเภท Field robotics,UAV หรือหุ่นยนต์ทั่วไปบินสำรวจการปลูกพืชพันธุ์ ใช้ในการวิเคราะห์ภาพรวมของการพ่นยา พ่นสารเคมีในฟาร์มขนาดใหญ่ รวมถึงหุ่นยนต์ทางการเกษตร ที่ช่วยในการเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือให้ปุ๋ย เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงไม่มีทางที่จะหนีเรื่องนี้ไปได้ ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมเทคโนโลยีให้พร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

“คิดว่าภายใน 5-10 ปี วงการเกษตรในเมืองไทยหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะเราจะขาดแคลนแรงงานคนทำการเกษตร ดังนั้นประเทศมีความต้องการหุ่นยนต์เข้ามาช่วย ดังนั้นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยจะต้องเห็นว่าสิ่งที่สร้างขึ้นนั้นเหมาะกับเมืองไทยหรือไม่ คนไทยนำไปใช้ได้รึเปล่าเพราะหากความต้องการมีมากเราไม่สามารถนำเทคโนโลยีจากในยุโรปหรืออเมริกามาใช้ในบ้านเราได้เพราะต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ต่างกัน ตอนนี้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีหุ่นยนต์มากที่สุดในโลก ตามด้วยญี่ปุ่น ส่วนเมืองไทยก็ไล่ตามมาไม่ห่างจากจีนนัก ดังนั้นสิ่งที่กำลังจะเป็นจุดเปลี่ยนตอนนี้ คือ ในอนาคตหุ่นยนต์ที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแทรกซึมอยู่ทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ และอยู่ในชีวิตประจำวัน แตกต่างจากอดีตที่หุ่นยนต์อยู่แต่ในโรงงานแต่ในอนาคตไม่ว่าจะไปโรงเรียน โรงพยาบาลก็อาจจะเจอหุ่นยนต์อยู่ในทุกมุมของชีวิต”

         

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเรื่อง Aging Society เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากปี ค.ศ.2018 นี้จะเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว สังคมจะมีผู้สูงอายุมากกว่าคนวัยทำงาน ดังนั้นจึงต้องมีการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยทุ่นแรง ซึ่งในอนาคตมนุษย์อาจจะต้องการหุ่นยนต์ที่ช่วยทุ่นแรงภายในบ้านมากขึ้น

 

สุดท้าย ผศ.ดร.ถวิดา ได้เผยเคล็ดลับในการสร้างหุ่นยนต์ว่า คือความฉลาดของหุ่นยนต์ที่สามารถรับรู้สิ่งแวดล้อมต่างๆ และสามารถตัดสินใจได้ ซึ่งต้องยึดหลัก 4 ขั้นตอนง่ายๆ ในการทำหุ่นยนต์ให้ใช้ได้จริงข้อแรกต้องลงมือสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาจากสิ่งที่คิดไว้ ข้อสองเมื่อเข้าใจแล้วต้องสร้างแพลตฟอร์มมาตรฐานขึ้นมาให้สามารถใช้งานได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะนั่นคือหัวใจสำคัญของหุ่นยนต์ ข้อสามเมื่อเราต้องการความมั่นใจว่าหุ่นยนต์สามารถทำงานได้ถูกต้องด้วยการทดลองใช้จริงในงานนั้นๆ ต้องคำนึงถึงผู้ใช้งานด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่วงการหุ่นยนต์ไทยยังขาด และข้อสุดท้ายคือต้องปล่อยหุ่นยนต์สู่โลกกว้าง ต้องนำออกไปใช้จริงบ่อยๆ เพราะยิ่งใช้ก็จะยิ่งรู้ปัญหาและจุดบกพร่องมากขึ้น

 

“อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ไม่ได้จะมาแทนที่คนแล้วทำให้คนตกงาน แต่รูปแบบของงานที่คนทำจะเปลี่ยนไป เช่น งานที่อันตราย งานเสี่ยงภัย งานที่สกปรก งานที่คนไม่อยากทำ และงานเหล่านี้จะกลายเป็นระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์จึงไม่ได้แย่งงานคน เพราะจริงๆ แล้วเมื่อเทคโนโลยีเกิดขึ้น มนุษย์ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงต้องสร้างและพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้ เพราะถ้าเรามีบุคลากรที่มีความรู้เราก็จะสามารถแก้ปัญหาของบ้านเราได้ตรงจุดมากขึ้น”

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก