ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การศึกษาวิจัย: พ่อแม่ไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือกรณีลูกที่เป็นออทิสติกพลัดหลงไปตามลำพัง

Alexandra Sifferlin 8 ตุลาคม 2555

การวิจัยใหม่พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กที่เป็นโรคออทิสซึ่ม มักหลงทางเพียงลำพัง
 
พ่อแม่ของเด็กที่เป็นออทิสติกกล่าวว่า พฤติกรรมหนึ่งที่สร้างความเครียดให้พวกเขามากที่สุด คือ การที่ลูกเที่ยวเดินเตร็ดเตร่จนหลงทางไปคนเดียว เหตุนี้เอง ทำให้หลาย ๆ ครอบครัวไม่อยากออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน และกว่าครึ่งของพ่อแม่ที่มีความกังวลกลัวลูกจะพลัดหลง กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้รับคำแนะนำหรือแนว -ทางที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลูกพลัดหลงใดๆ เลย
 
จากการศึกษาวิจัยชิ้นแรกที่ทำขึ้นเพื่อประเมินดูว่า เด็กที่มีกลุ่มอาการของโรคออทิสซึ่ม เที่ยวเดินเตร็ดเตร่จนหลงทาง หรือ “หนีตามคนอื่นไป” ได้อย่างไรนั้น นักวิจัยพบว่า ครึ่งหนึ่งของครอบครัวจำนวน 1,367 ครอบครัวที่ร่วมการสำรวจ และมีเด็กที่เป็นออทิสติกในวัย 4-17 ปี กล่าวว่า ลูกของพวกเขาเคยเดินเตร็ดเตร่แล้วหลงทางไป อย่างน้อยก็หนึ่งครั้งหลังอายุ 4 ขวบเป็นต้นไป กว่าครึ่งของครอบครัวเหล่านี้ บอกว่าลูกหายไปเป็นเวลานานมากพอที่จะทำให้พ่อแม่เกิดความกังวล
 
ร้อยละ 43 ของพ่อแม่ที่เด็กหายตัวไปบอกว่า การที่ลูกของพวกเขาเดินหลงทางไปนี้ ทำให้คนในครอบครัวนอนไม่หลับกันเลย และอีกร้อยละ 62 ยังบอกด้วยว่า การที่เด็กออทิสติกมีแนวโน้มที่จะหนีออกจากบ้าน ก็ยิ่งทำให้ครอบครัวไม่อยากออกไปทำกิจกรรมใด ๆ นอกบ้านเลย
 
เด็กออทิสติกที่เดินหลงทางไปนี้ มักจะพบกับ “การเฉียดฉิวกับเหตุร้ายหรืออุบัติเหตุ” โดยร้อยละ 65 ของเด็กที่หลงทาง จะมีความเสี่ยงอันตรายจากการเกิดอุบัติ เหตุจากการจราจร ในขณะที่ร้อยละ 24 มีความเสี่ยงที่จะจมน้ำ และเกิดมีเรื่องมีราวถึงตำรวจถึง 1 ใน 3 ของเหตุที่เกิดขึ้น Dr. Paul Law ผู้อำนวยการของ Inter active Autism Network ( IAN ) สถาบัน Kennedy Krieger Institute กล่าวว่า “การหนีไปของเด็กออทิสติกมีอัตราสูงอย่างน่าตกใจ และไม่น่าเชื่อว่า นี่เป็นพฤติกรรมปกติที่เด็กออทิสติกจะชอบทำ เด็กจะหายตัวไปกันบ่อยมาก และส่วนใหญ่ก็จะเกิดอุบัติเหตุกับพวกเขาด้วย”
 
โดยเฉลี่ยแล้ว จะมีการรายงานว่าเด็กหายตัวไป หลังจากเวลาผ่านไปกว่า 40 นาทีเท่านั้น และเด็กส่วนใหญ่มักจะหนีออกไปจากบ้าน ร้านค้า หรือโรงเรียน เด็กประเภทที่เที่ยวเดินเตร็ดเตร่ไปจนกระทั่งหลงทางนั้น ส่วนใหญ่จะพบในเด็กโตกว่าที่มีอาการออทิสติกรุนแรงกว่า มีระดับสติปัญญา และทักษะการสื่อสารที่ด้อยกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กออทิสติกที่ไม่คิดหนีออกจากบ้าน นอกจากนี้ เด็กที่หายตัวไปนั้นจะไม่มีการตอบสนองเมื่อถูกเรียกชื่ออีกด้วย
 
ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ทุกคนบอกว่า เด็กที่เดินหลงทางอยู่บ่อย ๆ นั้น มักจะมีเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในใจ คือ จะวางแผนไว้ก่อนว่าจะไปที่ไหนสักแห่งหนึ่ง หรือทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นการต่อต้าน โดยเพียงทำให้เกิดความสับสน ไม่ก็หายตัวไปราวกับเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนอื่น ๆ ที่เที่ยวเดินเตร็ดเตร่ แล้วหายตัวไป อย่างในกรณีของผู้ป่วยอัลไซเมอร์  Lori McIlwain ผู้อำนวยการบริหารของ National Autism Association ผู้ผลักดันให้เกิดการศึกษาในเรื่องนี้ กล่าวว่า “ปัจจุบัน เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นปัญหาที่คนยังไม่คุ้นเคยกันนัก คนทั่วไปคิดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดแค่กับกลุ่มผู้ป่วยอัลไซเมอร์เท่านั้น แต่ยังไม่มีใครเคยบอกพ่อแม่ของเด็กเลยว่า ลูกที่เป็นออทิสติกของตน อาจเดินไปเดินมาจนเกิดหลงทางหรือไม่ก็หนีออกจากบ้านได้เช่นกัน” ลูกชายของ McIlwain เองก็เป็นผู้ป่วยออทิสติกและเคยเดินหลงทางออกไปจากโรงเรียนสองสามครั้ง ครั้งหนึ่ง เขาเดินออกไปจนเกือบจะถึงถนนใหญ่เลยทีเดียว McIlwain กล่าวด้วยว่า “ฉันกลัวว่า พวกพ่อแม่จะยังคงไม่รู้ว่าเรื่องอย่างนี้มันเกิดขึ้นได้ ฉันอยากให้แพทย์ทุกคนรู้ตระหนักถึงปัญหานี้ และสามารถจะสื่อสาร รวมทั้งให้ความรู้กับคนดูแลผู้ป่วยในเรื่องนี้ได้”
 
Dr. Law กล่าวว่า เขาเองหวังว่างานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ จะช่วยให้บรรดาแพทย์เกิดความตระหนักมากขึ้นว่า ผู้ป่วยออทิสติกสามารถหนีออกไปจากสถานที่ที่แม้จะดูปลอดภัยได้ โดยให้คำอธิบายว่ากรณีดังกล่าวเปรียบเสมือน“ภัยเงียบ” ทั้งนี้ ควรที่จะต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อเป็นการพัฒนาแนวทางปฏิบัติในเชิงลึก ถึงวิธีการปฏิบัติต่อคนที่มีความเสี่ยงว่าจะหนีออกจากบ้าน เรารู้ดีว่า แม้จะมีทั้งประตูทั้งกลอนที่สามารถจะล็อกปิดได้ก็ตาม แต่เราก็ยังไม่รู้วิธีการดีที่สุดที่จะแก้ไขปัญหานี้ และเด็กที่เป็นโรคออทิสซึ่มแต่ละรายนั้น จะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออก ไปด้วย

แปลและเรียบเรียง Study_ Parents Get Little Help for Autistic Kids Who Wander จาก TIME.com

ภาพประกอบบทความออทิสติก

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก