ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ห้ามพลาด! 10 เรื่องเร็วปี๊ด 4G ดี-ร้าย เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ที่คนไทยควรรู้

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558

 

รวม 10 เรื่อง ทั้งดีและร้าย ต้อนรับการมาของ 4จี หลังจากประเทศไทยได้เปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz เป็นครั้งแรกในวันนี้…

 

ถึงเวลาที่แวดวงโทรคมนาคมบ้านเราจะระเบิดศึก เปิดประวัติศาสตร์สำคัญอีกครั้งหนึ่ง กับ…การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการประมูลคลื่น 1800 นั่นเอง หากมองจากมุมผู้บริโภคซึ่งเป็นเพียงผู้ใช้งานเทคโนโลยีปลายทาง นี่อาจไม่ใช่เรื่องตื่นเต้น ที่จะทำให้คุณอยากรับรู้รายละเอียดหรือขั้นตอนต่างๆ ที่กำลังจะถูกจารึกเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ในวันนี้ (11 พ.ย.2558)

 

แต่ถ้าคิดให้ดี แม้จะอยู่ในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยีก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก...หากเราจะให้ความสำคัญถึงจุดกำเนิดหรือวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ที่ทำให้ได้ใช้ประโยชน์ทางอ้อมจากการลงทุนและพัฒนาสิ่งเหล่านั้น อย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นเพียงผู้รอใช้เทคโนโลยี แต่กลายเป็นผู้ใช้ประโยชน์ที่รอบรู้และรอบด้าน

 

"ไทยรัฐออนไลน์" จะพาคุณไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์โทรคมนาคมของประเทศไทย กับการเปลี่ยนผ่านจากยุค 3จี สู่ 4จี ผ่านรายละเอียดที่เปรียบเสมือนคำตอบ เพื่อทำให้คุณเข้าใจรายละเอียด ขั้นตอน และสิ่งที่จะเกิดขึ้น... จากการจัดประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ ผ่านบทสรุป 10 ข้อ ที่รับรองว่าจะเปลี่ยนมุมมองความรู้จักและเข้าใจในเทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้ ยิ่งขึ้น!!!

 

1. เดิม…สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สนับสนุนให้มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในวันที่ 11 พ.ย.2558 และคลื่นความถี่ ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ เป็นลำดับถัดไป ในวันที่ 12 พ.ย.2558 แต่ท้ายที่สุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้จัดการประมูลคลื่น 900 เป็นวันที่ 15 ธ.ค.2558

 

2. สถานที่จัดการประมูลในวันนี้ คือ บริเวณชั้น 3 ของอาคารอำนวยการ สำนักงาน กสทช. (ถนนพหลโยธิน ซอย8 กรุงเทพฯ) โดยในส่วนดังกล่าวได้ถูกเตรียมความพร้อมให้เป็นห้องประมูล ขณะที่ชั้น 4 จะเป็นห้องควบคุมระบบการประมูล ทั้งยังมีการติดตั้งจอแสดงผลจาก CCTV ที่ติดตั้งไว้บริเวณหน้าห้องประมูล

 

3. ผู้แทนจาก 4 บริษัทที่มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ จะต้องเดินทางไปยังสถานที่จัดประมูลและทำการลงทะเบียนภายในเวลา 08.00-08.50 น. ก่อนจะมีพิธีเปิดการประมูลในเวลา 09.00 น. และเริ่มต้นการประมูลรอบแรก 10.00 น. โดย 4 บริษัทที่มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลในรอบนี้ ได้แก่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด , บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด , บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด , บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แชล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

 

4. รู้หรือไม่...ในการเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประมูลนั้น แต่ละบริษัทได้สิทธิ์ในการจัดผู้เข้าห้องประมูลไม่เกิน 10 คน โดยทั้ง 10 คนนั้นจะถูกจำกัดสิ่งของและอุปกรณ์ในการนำเข้าห้องประมูลอีกด้วย โดยสิ่งที่อนุญาตให้นำเข้าไป ได้แก่ สิ่งของใช้ส่วนตัว ยารักษาโรคและอุปกรณ์ทางการแพทย์ แผ่นบันทึก CD DVD จำนวนไม่เกิน 5 แผ่น เอกสารหรือหนังสือตามความจำเป็นเท่านั้น ส่วนเครื่องมือสื่อสารและคอมพิวเตอร์ไม่อนุญาตให้นำเข้าห้องประมูล

 

 

5. ภายในห้องประมูล มีอะไร? เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่หลายคนสงสัยและต้องการคำตอบ! ซึ่งเราสามารถเฉลยได้เลยว่า ภายในห้องประมูลนั้นได้มีการเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่ายสำหรับการประมูลที่ติดตั้งโปรแกรมการประมูล จำนวน 2 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องใช้งานจริง 1 เครื่องและเครื่องสำรอง 1 เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับให้ผู้แทนผู้เข้าร่วมการประมูลได้ใช้วางแผนการประมูลอีกจำนวน 2 เครื่อง ซึ่งแต่ละเครื่องจะติดตั้งระบบปฏิบัติการวินโดวส์ โปรแกรมไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ (Microsoft Office) และอะโครแบท รีดเดอร์ (Acrobat Reader) พร้อมพรินเตอร์จำนวน 2 เครื่อง โดยทั้ง 4 บริษัท ได้สิทธิ์เข้าร่วมการสาธิตประมูล (Mock Auction) เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้าไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา

 

6. ราคาและกติกาการประมูล...แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่มีเข้าร่วมประมูลมากกว่า 3 ราย และกรณีมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 1-2 ราย โดยกรณีที่มีผู้ร่วมประมูลมากกว่า 3 รายนั้น ราคาเริ่มประมูลขั้นต่ำ จะอยู่ที่ 15,912 ล้านบาท ซึ่งจะต้องประมูลเพิ่มขึ้นครั้งละ 796 ล้านบาท หากมีการเคาะราคาประมูลถึง 19,890 ล้านบาท ราคาประมูลจากนั้นจะเพิ่มขึ้นครั้งละ 398 ล้านบาท แต่หากเป็นกรณีที่มีผู้ร่วมประมูลเพียง 1-2 ราย จะใช้ราคาเริ่มประมูลขั้นต่ำ 19,890 ล้านบาท และประมูลเพิ่มขึ้นครั้งละ 398 ล้านบาท ซึ่งในการประมูลจะบังคับให้มีการเคาะราคาอย่างน้อย 1 ครั้ง

 

7. หลังจบประมูล ใครได้อะไร? สำหรับภาคธุรกิจ...การประมูลครั้งนี้จะมีผู้ชนะ 2 ราย ซึ่งจะได้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่แบ่งออกเป็น 2 ใบ ใบละ 15 เมกะเฮิรตซ์ ภายใต้อายุการใช้งาน 18 ปี (ถึงวันที่ 15 ก.ย.2576) นอกจากนั้น ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดการจัดให้มีโครงข่ายเพื่อให้บริการอย่างน้อย 40% ภายใน 4 ปี และต้องจัดให้มีโครงข่ายไม่น้อยกว่า 50% ภายใน 8 ปี

 

ส่วนผู้ใช้บริการทั่วไป...กสทช. มีมติว่าหลังจากมีการเปิดให้บริการแล้ว อัตราค่าบริการทั่วไปจะต้องถูกลงกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของอัตราค่าบริการ 3จี บนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (เฉลี่ย 69-72 สตางค์ต่อนาทีสำหรับบริการประเภทเสียง และบริการดาต้า เฉลี่ย 26 สตางค์ต่อกิกกะไบต์) และต้องมีแพ็กเกจพิเศษที่มีราคาถูกกว่าปกติสำหรับผู้มีรายได้น้อย (ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน) ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องมีการกำกับดูแลคุณภาพของการให้บริการ คุณภาพการให้บริการต้องไม่ต่ำกว่าคุณภาพการให้บริการเฉลี่ยของการให้บริการ 3จี บนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

 

ส่วนประโยชน์สำหรับภาครัฐ...กสทช. ประเมินว่าขั้นต่ำน่าจะได้เงินจากการประมูลรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท

 

8. อย่างไรก็ตาม มีการณ์คาดการณ์ว่าเราจะได้เห็นผู้ให้บริการเครือข่าย (โอเปอเรเตอร์) ส่วนใหญ่ เริ่มให้บริการ 4จี ได้ภายในช่วงต้นเดือน ก.พ.2559 โดยเฉพาะในพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ และเมืองหลักอีกหลายจังหวัด เนื่องจากโอเปอเรเตอร์ส่วนใหญ่ได้เตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์โครงข่าย เพื่อรองรับ 4จี บ้างแล้ว

 

9. สำหรับข้อดีของเทคโนโลยี 4จี นั้น แน่นอนว่ารูปแบบการให้บริการจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้บริการอินเทอร์เน็ตบนมือถือ หรือ ดาต้า ได้ดีขึ้น แตกต่างจากบริการ 3จี ที่สามารถรองรับได้ทั้งวอยซ์ (บริการด้านเสียง) และดาต้า ดังนั้นไม่ต้องหวังว่าการมี 4จี แล้วจะช่วยผลักดันให้คุณภาพการสื่อสารด้านเสียงคมชัดมากขึ้น เพราะเป็นคนละเรื่องกัน แต่สำหรับการใช้บริการดาต้าบนเครือข่าย 4จี นั้น มีการประเมินว่าสามารถให้ความเร็วได้มากกว่า 3จี ถึง 10 เท่าตัว!!! งานนี้จะจริงหรือเท็จแค่ไหน ต้องรอดูหลังจากเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการพร้อมกันแล้ว

 

10. ประเทศที่เปิดให้บริการ 4จี แล้ว ได้แก่… ญี่ปุ่น , เกาหลีใต้ , อเมริกา , รัสเซีย , สิงคโปร์ , จีน , ออสเตรเลีย , ฟิลิปปินส์ , อินโดนีเซีย , อินเดีย , มาเลเซีย , ลาว , กัมพูชา เป็นต้น เรียกว่าประเทศเพื่อนบ้านเราได้เปิดให้บริการ 4จี กันซะเกือบหมดแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าอีกไม่นานจะมีชื่อประเทศไทยเข้าไปติดอันดับประเทศที่มีการเปิดให้บริการ 4จี อย่างเป็นทางการด้วย

 

อ้อ แถมอีกหนึ่งข้อ ก่อนหน้าประมูล 4 จี การประมูล 3 จีก็มีการเล่นของกันนิดหน่อย ด้วยการปรึกษาซินแสชื่อดังว่าตำแหน่งที่นั่งตรงไหนเฮง ตรงไหนมงคลที่สุด ส่วนปีนี้ยังไม่มีข่าว แต่เรื่องแบบนี้ 'ไม่เชื่ออยู่ลบลู่' อยู่คู่กับคนไทยหรือใครว่าไม่จริง

 

 

ใช่ว่า 4จี จะเป็นเทคโนโลยีล่าสุดของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพราะปัจจุบันก็มีกระแสข่าวว่า เกาใต้หลี เริ่มแผนพัฒนาเครือข่าย 5จี ไปแล้ว!!! จะยังไงก็เอาใจช่วยให้ประเทศไทยได้มี 4จี ตัวจริง ใช้งานกันในเร็ววันนี้ด้วย...!

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก