ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ฝังอุปกรณ์ในก้านสมอง ทางเลือกใหม่ช่วยเด็กหูหนวก

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเธิร์นแคโรไลนาของสหรัฐ ทดลองใช้วิธีการฝั้งขั้วไฟฟ้ารับสัญญาณลงในก้านสมอง เพื่อช่วยให้เด็กหูหนวกได้ยินเสียง ซึ่งเป็นวิธีการที่ก้าวหน้ากว่าประสาทหูเทียม

 

ฝังอุปกรณ์ในก้านสมอง ทางเลือกใหม่ช่วยเด็กหูหนวก | เดลินิวส์

สำนักข่าวเอพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ว่า นางลอรี ไอเซนเบิร์ก นักโสตสัมผัสวิทยา จากมหาวิทยาลัยเซาเธิร์นแคโรไลนาของสหรัฐ ทดลองใช้วิธีการผ่าตัดฝังอุปกรณ์ลงในก้านสมองที่เรียกว่าเอบีไอ (Auditory Brainstem Implant: ABI) ในผู้ป่วยเด็กหญิงวัย 3 ขวบจากรัฐเทกซัส ที่มีประสาทรับเสียงบกพร่องแต่กำเนิด โดยอาศัยกระบวนการทำงาน ที่ส่งสัญญาณกระตุ้นด้วยไฟฟ้าโดยตรงไปยังเซลล์ประสาทในก้านสมอง

 

ผู้ป่วยจะสวมอุปกรณ์ที่หู ซึ่งมีหน้าที่เสมือนไมโครโฟนรับเสียงจากภายนอก จากนั้นจะประมวลผลเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้า ส่งไปยังตัวกระตุ้นใต้ผิวหนัง ซึ่งจะส่งสัญญาณต่อไปยังขั้วไฟฟ้าที่ฝังอยู่ในก้านสมอง วิธีการนี้ได้เปรียบกว่าประสาทหูเทียม ซึ่งไม่สามารถใช้งานได้กับผู้ป่วยที่ไม่มีประสาทหู ทั้งนี้ ผู้ป่วยเด็กที่เริ่มได้ยินเป็นครั้งแรก จะไม่ใช่การได้ยินในแบบของเด็ก 3 ขวบ แต่เป็นการได้ยินแบบทารก ซึ่งเสียงที่ปรากฏทำให้เธอกลัวจนร้องไห้ แต่หลังผ่านไป 5 เดือน เธอเริ่มคุ้นเคยและลองเลียนเสียงตามที่ได้ยินคล้ายเด็กหัดพูด จากนั้นจึงพยายามสื่อสารด้วยภาษามือของเธอเพื่อกล่าวถึงเสียงแต่ละประเภท  เช่น เสียงไอ และเสียงสุนัขเห่า เป็นต้น โดยต้องมีการดูแลเพิ่มเติมจากนักบำบัดในการสอนการพูดออกเสียง

 

เอบีไอ ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหาร (เอฟดีเอ) ของสหรัฐ เมื่อปี 2543 ให้ใช้ได้เฉพาะกับผู้ใหญ่และวัยรุ่น ที่ประสาทการได้ยินถูกทำลาย จากการผ่าตัดเนื้องอกชนิดหายาก โดยมันไม่สามารถฟื้นคืนการได้ยินได้อย่างสมบูรณ์ แต่จะช่วยให้ดีขึ้นในระดับที่ต่างกันไป จากนั้นเมื่อราว 10 ปีก่อน ศัลยแพทย์ชาวอิตาลี จึงทดลองใช้เอบีไอกับผู้ป่วยเด็ก ซึ่งสมองยังมีความยืดหยุ่น และอาจจะยอมรับวิธีการรับเสียงจำลองนี้ได้ดีกว่า

 

 

 

 

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก