ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อาเซียนในปีที่ 48 จากสมาคมสู่ประชาคม

หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 7 สิงหาคม 2558

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2510 ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ในขณะนั้น ได้ชักชวนรัฐมนตรีจากมิตรประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ มาร่วมหารือกัน ณ บ้านพักตากอากาศที่แหลมแท่น ต.บางแสน อ.เมือง จ.ชลบุรี เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค การหารือดังกล่าวนำไปสู่การลงนามในปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) หรือ ปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) ในวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ณ วังสราญรมย์ เพื่อจัดตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ หรือ อาเซียน (The Association of Southeast Asian Nations - ASEAN) โดยดร.ถนัดฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสดังกล่าวว่า “สิ่งที่เราตัดสินใจในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เล็ก ๆ ของสิ่งที่เราหวังว่าจะนำมาซึ่งความสำเร็จที่ต่อเนื่องในระยะยาวซึ่งเราและผู้ที่จะมาร่วมกับเราในภายหลังจะเกิดความภาคภูมิใจ”

จากวันนั้นถึงวันนี้ 48 ปีผ่านไป อาเซียนได้พัฒนาจากความร่วมมือทางการเมืองมาเป็น ความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกด้าน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และกำลังจะเกิดประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว เราต่างมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นด้วยความภาคภูมิใจที่ไทยเป็นผู้ริเริ่มให้เกิด อาเซียน 

ดังนั้น ในวันที่ 7 สิงหาคม 2558 นี้ กองทัพไทย ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดพิธีรำลึกครบรอบการก่อตั้งอาเซียนที่แหลมแท่น จ.ชลบุรี โดยมีพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธี ซึ่งจะมีการเชิญธงอาเซียนและธงชาติของประเทศสมาชิกอาเซียนขึ้นสู่ยอดเสา โดยมีคณะทูตานุทูตร่วมเป็นสักขีพยาน  อีกทั้งจะมีพิธีเปิดศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ อาเซียนด้วย  นับเป็นการเฉลิมฉลองวันอาเซียน ในปีที่อาเซียนจะวิวัฒนาการจากสมาคมสู่ประชาคมอาเซียน

ประชาคมอาเซียนกำลังจะถือกำเนิดขึ้นใน วันที่ 31 ธันวาคม 2558 นับเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของประชาคมระหว่างประเทศและโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community - AC) อันประกอบด้วยสามเสาหลัก คือ        (1) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (2) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (หรือที่รู้จักกันดี ในนาม AEC) และ (3) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน แต่ดูจะยังไม่เป็นที่ทราบกันนักว่า อาเซียนภายหลังปี 2558 จะเป็นอย่างไร ประชาคมอาเซียนจะเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์อย่างไรต่อประชาชน

คำถามนี้ ไม่ใช่ คำถามที่ไร้คำตอบ เพียงแต่เราควรทำความเข้าใจเสียก่อนว่ากระบวน การสร้างประชาคมอาเซียน ไม่ได้ สิ้นสุดลง ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือในกรอบอาเซียนยังต้องดำเนินต่อไปในทุกมิติ  เพื่อให้สมาชิกของประชาคมใหม่แห่งนี้มีความมั่นคง ปลอดภัย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความเจริญ ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน อีกทั้งมีความใกล้ชิดและเอื้ออาทรต่อกัน  ประเทศสมาชิกอาเซียนในขณะนี้กำลังร่วมกันกำหนดทิศทางที่ประเทศสมาชิกจะก้าวไปด้วยกันในอีก 10 ปี  ข้างหน้าในฐานะประชาคม ทั้งด้านการเมือง และความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ความเชื่อมโยงระหว่างกัน ตลอดจนการลดช่องว่างทางการพัฒนา โดยอยู่ระหว่างการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ปี ค.ศ. 2025 (ASEAN Vision 2025) และแผนงานประชาคมอาเซียน สำหรับปี ค.ศ. 2016-2025 ซึ่งจะเสนอให้ผู้นำอาเซียนพิจารณา เพื่อจะให้มีการรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 ในเดือนพฤศจิกายน 2558

ประเทศสมาชิกอาเซียนล้วนเห็นพ้องกันว่า หัวใจสำคัญของประชาคมอาเซียน คือ ประชาชน โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 เมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ผู้นำอาเซียนได้รับรองปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Kuala Lumpur Declaration on a People-Centered ASEAN) ซึ่งกล่าวว่า อาเซียนจะสร้างประชาคมที่มุ่งเน้นประชาชนเป็นสำคัญและที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในทุกด้าน

ปฏิญญาฯ ยังขยายความต่อว่า ในด้านการเมืองและความมั่นคง อาเซียนจะส่งเสริมหลัก ประชาธิปไตย นิติธรรม ธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการทำงานบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ และสนับสนุนให้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Inter-governmental Commission on Human Rights – AICHR) ซึ่งเป็นกลไกหลักด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียน ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Rights Declaration - AHRD) อีกด้วย

ในด้านเศรษฐกิจ อาเซียนจะให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของสตรีและเยาวชน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในฐานะที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนเป็นหุ้นส่วนกัน (public-private partnership - PPP) มากขึ้น ทั้งนี้ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อาเซียนก็จะคำนึงถึงมิติด้านสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งมีความคาบเกี่ยวกันด้วย เช่น การทำถนนหนทางเพื่อการติดต่อค้าขาย และการเดินทางอาจก่อให้เกิดมลภาวะต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือต้องมีความยืดหยุ่นและเข้มแข็งต่อการ เกิดภัยพิบัติ เป็นต้น

ในด้านสังคมและวัฒนธรรม อาเซียนจะพยายามปลูกฝังให้ประชาชนเห็นถึงคุณค่าของ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ และการคุ้มครองทางสังคมที่ดีขึ้น โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มด้อยโอกาส รวมทั้งขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทาง เศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค

ส่วนคำถามที่มักตามมาและพบบ่อยเช่นกัน ก็คือ ประชาคมอาเซียนเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ อย่างไรต่อประชาชน โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่มิใช่นักธุรกิจ บริษัทนำเข้าส่งออก หรือแรงงานฝีมือที่เคลื่อนย้ายเสรี 8 วิชาชีพ (แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี นักสำรวจ และผู้ทำงานด้านบริการการท่องเที่ยว) ซึ่งมักถูก มองว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของประชาคมอาเซียนนั้น แท้จริงแล้วไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต อาเซียนได้พยายามผลักดันประเด็นที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนมาโดยตลอด อาทิ การจัดตั้งเครือข่ายผู้ประกอบการ สตรีอาเซียน การขจัดความรุนแรงต่อสตรีและ ความรุนแรงต่อเด็กในอาเซียน การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองทางสังคม การเตรียมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การส่งเสริมศักยภาพด้านการทำธุรกิจของสตรีและเยาวชน การลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการตอบสนองต่อปัญหาที่มีอยู่แล้ว และ เตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

กล่าวโดยสรุป ประชาคมอาเซียน ไม่ใช่ เรื่องไกลตัวประชาชน และประโยชน์ของประชาคมอาเซียน มีอยู่ตรงหน้า แต่ทุกภาคส่วนจะต้องมองเห็นโอกาสที่อยู่เบื้องหน้าเสียก่อน ซึ่งต้องอาศัยการ “ปรับ” กล่าวคือ ต้องรู้จักปรับตัวเพื่อรับสิ่งใหม่ ๆ ต้องหมั่นพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของอาเซียน) ต้องพร้อมที่จะใช้ทรัพยากรการผลิตที่เคลื่อนย้ายอย่างเสรีมากขึ้น พร้อมที่จะออกไป ทำงานในต่างแดน (เพราะอาเซียนจะเป็นฐาน การผลิตเดียว) และที่สำคัญ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในประเทศเพื่อนบ้าน มีความเป็นมืออาชีพในทุก ๆ หน้าที่การงาน ตลอดจนให้คุณค่าต่อสายงานและหลักสูตรการศึกษาที่จะตอบโจทย์การผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่ตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจ เป็นต้น แต่ปรับตัวอย่างเดียวไม่พอ ต้องปรับทัศนคติด้วย โดยการมองประเทศเพื่อนบ้านของเราผ่านเลนส์ของการยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ไม่มองความหลากหลายนี้อย่างดูแคลน ไม่มีวัฒนธรรมใดสูงกว่าวัฒนธรรมใด หากแต่เป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมกับเรา เป็นต้น หากทำเช่นนี้ได้ เราก็จะมองเห็นประโยชน์ของประชาคมอาเซียนต่อสังคมไทยอย่างแท้จริง

กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนัก และลดความตระหนกเกี่ยวกับอาเซียนในหมู่ประชาชน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน จึงได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการประชาสัมพันธ์อาเซียนผ่านสื่อ โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ โครงการ อาเซียนสัญจร โดยไปยังจังหวัดต่าง ๆ จัดการบรรยายและการเสวนาเกี่ยวกับอาเซียนและรับฟังความคิดเห็นจากส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น โครงการห้องสมุดอาเซียน โดยจัดสร้างห้องสมุด ให้กับโรงเรียนในจังหวัดต่าง ๆ ประกอบด้วยหนังสือและสื่อที่เกี่ยวกับอาเซียน และล่าสุดใน โอกาสเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปลายปีนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดงาน ASEAN Festival ขึ้น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ณ สยามพารากอน

นอกจากนี้ สำหรับงานเฉลิมฉลองครบรอบวันก่อตั้งอาเซียนที่กระทรวงการต่างประเทศจัดประจำทุกปี ในปีนี้จะจัดขึ้นวันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม  ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา ภายในงานจะมีการแข่งขันตอบปัญหาอาเซียน โดยมีโรงเรียนกว่า 80 แห่งจาก ทั่วทุกภาคของไทยเข้าร่วม และจะร่วมกับสมาคมอาเซียน-ประเทศไทยจัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “อาเซียนของฉัน ฝันของเรา” เวลา 14.00-17.30 น. ซึ่งเน้นความเข้าใจถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะสาขาที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ ความสนใจมาก กล่าวคือ การศึกษา ธุรกิจ สาธารณสุข และแรงงาน จึงขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการเสวนาดังกล่าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก