ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

วิธีช่วยเหลือเด็กก่อนที่จะล้มเหลว

Voice of America (๒๐๐๘)

โรงเรียนที่นำกระบวนการที่เรียกว่า ‘การตอบสนองต่อการสอน’ (Response to Intervention) หรือ RTI มาใช้นั้น มีจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ เพื่อจะดูว่าเด็กมีความบกพร่องทางการเรียนหรือไม่
 
กระบวนการดังกล่าว ถูกนำมาใช้เพื่อให้รู้ถึงปัญหาต่างๆ รวมถึงการหาทางช่วยเหลือเด็กเพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลวเมื่อเข้าเรียน
 
Lynn Fuchs เป็นศาสตราจารย์ด้านการศึกษาพิเศษที่มหาวิทยาลัย Vanderbilt ในเมือง Nashville มลรัฐ Tennessee เธอได้ศึกษาเรื่องกระบวนการสอน RTI มา กล่าวว่า โรงเรียนในสหรัฐอเมริกาที่นำกระบวนการสอนแบบนี้มาใช้นับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น
 
ความบกพร่องทางการเรียน เป็นความผิดปกติทางประสาทที่มีผลกับทักษะต่างๆ Federal Law หรือกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลกลางสหรัฐและมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ บังคับให้บรรดาโรงเรียนรัฐบาลต่างๆช่วยเหลือเด็กนักเรียนพิการผ่านบริการทางการศึกษาพิเศษ และแผนการสอนเฉพาะบุคคล
 
ลำดับแรก คือ การค้นหาว่าเด็กคนใดต้องการความช่วยเหลือบ้าง ศาสตราจารย์ Fuchs อธิบายว่า วิธีการแบบดั้งเดิมนั้น ใช้การทดสอบเด็กที่กำลังจะประสบกับความล้มเหลวในการเรียน แต่ผลจากการวิจัยระบุว่า ความล้มเหลวนี้จะนำไปสู่ความกดดัน ซึ่งทำให้การพัฒนาในโรงเรียนยากลำบากขึ้น
 
ดังนั้น บางโรงเรียนจึงนำกระบวนการสอนแบบ RTI มาใช้ เพื่อให้รู้ถึงปัญหาเสียแต่เนิ่นๆ ความใส่ใจที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นผลมาจากความกังวลว่า เด็กบางคนที่ถูกจัดไว้ในโครงการศึกษาพิเศษ ไม่ได้มีความบกพร่องในการเรียนรู้อย่างแท้จริง เพราะเด็กเหล่านี้ อาจต้องการเพียงความช่วยเหลือเป็นการพิเศษทางด้านทักษะ เช่น การอ่านหรือคณิตศาสตร์เท่านั้น
 
กระบวนการ ‘การสนองตอบต่อการสอน’ (RTI) นี้เอง ที่จะให้ความช่วยเหลือแบบพิเศษได้ RTI ช่วยให้การสอนที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับเด็กที่ได้คะแนนจากการทดสอบทั่วไปต่ำ
 
ศาสตราจารย์ Fuchs กล่าวว่า กระบวนการดังกล่าว คือการสอนพิเศษให้กับนักเรียนกลุ่มเล็กๆ เป็นเวลาประมาณ ๘-๑๐ สัปดาห์ การกวดวิชาอย่างเข้มข้นนี้ ใช้วิธีการสอนที่มีพื้นฐานจากการวิจัย มีการทดสอบเด็ก ซึ่งบางครั้งอาจจะถึงทุกสัปดาห์ เพื่อวัดผลความก้าวหน้า
 
เด็กกลุ่มที่มีพัฒนาการหลังจากได้รับการช่วยเหลือทางการเรียนการสอนเป็นพิเศษ จะถูกส่งกลับไปเข้าเรียนในชั้นเรียนปกติ เด็กที่ยังไม่ดีขึ้นอาจจะถูกสรุปว่าเป็นผู้บกพร่องทางการเรียน แต่ศาสตราจารย์ Fuchs ก็ได้ชี้แจงว่า ระบบโรงเรียนส่วนใหญ่ ควรต้องมีการทดสอบเด็กเพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงความบกพร่องที่ปรากฏ
 
ครูและผู้บริหารการศึกษาบางคนเชื่อว่า กระบวนการ ‘การสนองตอบต่อการสอน’ หรือ RTI นี้ สามารถลดจำนวนเด็กที่ถูกส่งเข้ารับการช่วยเหลือเป็นพิเศษลงได้ ศาสตราจารย์ Fuchs บอกกับเราว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการพิสูจน์ แต่จากการศึกษาพบว่า กระบวนการ RTI สามารถแก้ปัญหาเรื่องการเรียนรู้ของเด็กบางคนได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กในวัยเยาว์ และในเวลาเดียวกัน จะสามารถแยกแยะให้เห็นเด็กอื่นๆ ที่ยังต้องการความช่วยเหลือมากกว่าที่เป็นอยู่ได้ด้วย

แปลและเรียบเรียงโดย ส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก