ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ห้องเรียนอัจฉริยะราคาถูก

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 18 มิถุนายน 2558 http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/633537

ปฏิวัติการเรียนวิทยาศาสตร์ด้วย “ห้องเรียนอัจฉริยะราคาถูก”(Low Cost Smart Classroom) ด้วยแนวคิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใกล้ตัวราคาถูกและเข้าถึงง่ายให้เกิดประโยชน์กับการเรียนการสอน นำร่องด้วยการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนในมือเด็กนักเรียนให้เป็นกล้องจุลทรรศน์

“เด็กแทบทุกคนใช้สมาร์ทโฟน และเทรนด์เทคโนโลยีก็ทำให้อุปกรณ์เหล่านี้มีราคาถูกและเข้าถึงง่าย กล้องมือถือสามารถนำไปเป็นสื่อการสอนที่ทรงประสิทธิภาพ ถือเป็นวิวัฒนาการที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้” ศ.สุพจน์ หารหนองบัว นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าว 

 

ดีไซน์วิทย์เพื่อเด็ก 

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท บวกกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ในการพัฒนาเลนส์ส่องอัญมณี จึงเกิดแนวคิดที่จะต่อยอดสู่สื่อการเรียนการสอนที่ก้าวไปอีกขั้น และกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของห้องเรียนอัจฉริยะต้นทุนต่ำ ที่เน้นการเรียนเชิงปฏิบัติการในทุกสาระวิชาสำหรับชั้นประถมปลายถึงมัธยมต้น

“เราสามารถผลิตเลนส์ที่เปลี่ยนกล้องในโทรศัพท์มือถือเป็นกล้องจุลทรรศน์ กำลังขยาย 10x-300x ต้นทุนเพียง 1 บาท ข้อได้เปรียบตรงนี้ทำให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือหลักสำหรับห้องเรียนอัจฉริยะ ที่มีอุปกรณ์เพียง 6 ชนิด”รศ.สนอง เอกสิทธิ์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ กล่าว

ห้องเรียนอัจฉริยะแบ่งเป็น 3 ขนาดตามจำนวนผู้เรียนคือ ขนาดเล็กรองรับนักเรียน 15-20 คน ราคา 2 แสนบาท, ขนาดกลาง 20-30 คน ราคา3 แสนบาท และขนาดใหญ่ 30-40 คน ราคา 4 แสนบาท โดยมีอุปกรณ์ 6 ชนิดได้แก่ สมาร์ททีวีที่สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายกับแทบเล็ตหรือสมาร์ทโฟน ผ่าน Screen Mirroring Function เพื่อใช้สอน สาธิต หรือเชื่อมต่อผลงานของนักเรียน, แทบเล็ตสำหรับครูผู้สอน, สมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต 10-30 เครื่องสำหรับนักเรียนใช้ในและนอกห้องเรียน, อินเทอร์เน็ตซิม, ฮาร์ดดิสท์เก็บข้อมูลพร้อมคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทเลนส์

“เราเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์เคลื่อนที่ เทียบได้กับกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายปานกลาง ให้นักเรียนสนุกกับการถ่ายรูป บันทึกวีดิโอ เสียง ส่งต่อข้อมูล สร้างบทเรียน โครงงานหรือนวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ให้กับวิทยาศาสตร์” รศ.สนอง กล่าว

รูปแบบของห้องเรียนอัจฉริยะไม่เน้นโครงสร้างของห้องเรียน แต่เน้นรูปแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ด้วยอุปกรณ์การสอนน้อยที่สุดแต่กระตุ้นให้เด็กสนใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนมากที่สุด

ทีมพัฒนาใช้วิธีการอบรมครูที่สนใจเกี่ยวกับวิธีการใช้อุปกรณ์ รวมถึงการพัฒนาสื่อการสอนรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์การเรียนของเด็กในวิชา ชั้นปีและพื้นที่นั้นๆขณะเดียวกัน คณะวิทย์ จุฬาฯ ก็ร่วมพัฒนาชุดการสอนเบื้องต้นประมาณ 10 ชุด เช่น Frozen เป็นการเรียนรู้ว่า แม่คะนิ้งเกิดได้อย่างไร 

 

ฮาร์ดแวร์มี ซอฟต์แวร์พร้อม 

รศ.สนองยกตัวอย่างโครงงานที่กำลังพัฒนาร่วมกับคณะครุศาสตร์ โดยให้เด็กใช้สมาร์ทเลนส์ส่องธนบัตรดูรายละเอียดที่สื่อถึงประเทศนั้นๆ เช่น ผลไม้ประจำชาติ บุคคลสำคัญหรือสิ่งสำคัญในประวัติศาสตร์ อีกทั้งให้เด็กหาข้อมูลเพิ่ม ถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอ ทำรายงานอิเล็กทรอนิกส์ส่งครู

“เราเชื่อว่า ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์มีศักยภาพพอที่จะสร้างสรรค์สื่อการสอนใหม่ๆ มากระตุ้นความสนใจเด็ก เช่นเดียวกับที่สามารถนำสื่อการสอนนั้นเผยแพร่ให้สาธารณะ”

ศ.สุพจน์ กล่าวว่า เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องโนโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา558 ทางสมาคมฯจะสร้างห้องเรียนอัจฉริยะต้นทุนต่ำ 60 ห้อง มอบให้โรงเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยแห่งแรกมอบให้กับโรงเรียนวัดสิงห์ จ.ชัยนาท

“เราต้องการเปลี่ยนแนวคิดที่เด็กเรียนแบบเป็นผู้เสพ รับสิ่งที่ครูสอน ไปสู่การเป็นผู้สร้าง ให้เด็กได้เรียนรู้และคิดที่จะพัฒนาสิ่งใหม่ ซึ่งวิทยาศาสตร์และระบบการเรียนที่ดีจะเป็นตัวกระตุ้นความสนใจ เปิดโอกาสให้คิดและทำสิ่งใหม่ได้ ทั้งนี้ หากโรงเรียนที่มีความพร้อม แต่สนใจจะมีห้องเรียนอัจฉริยะฯ ก็สามารถติดต่อมาได้” นายกสมาคมฯ กล่าว

- See more at: http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/633537#sthash.F0q7Pxol.dpuf

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก