ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ระหว่างสยาม-ปีนัง (1)

http://www.aseanthai.net

โดย   อดิศักดิ์  ศรีสม

 

 

"ปีนัง” หรือ "เกาะหมาก” ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมาเลเซียไม่ไกลจากประเทศไทย เดิมอยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่าน "เมืองไทรบุรี” หรือ "รัฐเคดะห์” ในปัจจุบันมานานหลายศตวรรษ ไทรบุรีเคยอยู่ใต้อำนาจของสยาม จนเมื่อฟรานซิสไลท์ (Francis Light ) เดินทางมาถึงเกาะปีนังในนามบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 ของไทย ได้มีการเจรจาขอเช่าเกาะปีนังเพื่อตั้งสถานีการค้าขึ้นในปี พ.ศ. 2329 โดยได้รับการยินยอมจากสุลต่านเคดะห์เพื่อแลกกับการคุ้มครองของอังกฤษให้หลุดพ้นจากอิทธิพลของสยาม จึงทำให้ปีนังตกอยู่ภายใต้การครอบครองของอังกฤษนับตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งเมื่อมาเลเซียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ปีนังได้กลายเป็น 1 ใน 13 รัฐ ของมาเลเซียมาจนกระทั่งปัจจุบัน

 

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างปีนังกับสยามหรือประเทศไทยมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเริ่มจากตระกูลคหบดีที่มั่งคั่งและทรงอิทธิพลในขณะนั้น นั่นคือ ตระกูล ณ ระนอง ต้นตระกูล ณ ระนอง มาจาก "คอซู้เจียง” จีนฮกเกี้ยนที่หนีความยากแค้นจากเมืองจีนมาเป็นชาวสวนผักอยู่ที่ปีนังในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ต่อมาได้เข้ามาทำการค้าที่เมืองตะกั่วป่า จ.พังงา ด้วยการล่องเรือค้าขายดีบุกและแลกเปลี่ยนสินค้ากับปีนัง ก่อนขยายไปสู่การทำเหมืองแร่ดีบุกไปที่เมืองตระและเมืองระนองจนกิจการขยายใหญ่โตขึ้น

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 คอซู้เจียงได้รับพระราชทานยศเป็น "พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี” ผู้กำกับราชการเมืองระนองและยังมีลูกหลานคอซู้เจียงที่มีบทบาทในยุคต่อมาอีกหลายคน เช่น "พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิม ก้อง)” ผู้ว่าราชการเมืองระนองและสมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร, พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊)” ผู้ว่าราชการเมืองตรังและสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตผู้นำยางพารามาปลูกครั้งแรกในภาคใต้จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในปัจจุบัน

 

ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ไทยกับตระกูล ณ ระนอง เกิดขึ้นที่ปีนังหลายครั้งและนับเป็นหน้าหนึ่งทางประวัติศาสตร์ที่ควรถูกจารึกไว้ เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประทับยังบ้านระนอง เมืองปีนัง เมื่อคราวกลับจากการประพาสยุโรปครั้งแรกปี พ.ศ.2440 ภายหลังบ้านระนองได้ถูกบริจาคเพื่อสร้างเป็นสนามฟุตบอลของเมืองในชื่อ Ranong Ground ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของหอศิลปะและโรงละคร "เดวัน ศรีปีนัง" บนถนน "สุลต่าน อาหมัด ชาฮ์” เดิมชื่อถนน "นอร์แทมโรด”

 

ในอดีตเป็นย่านพักอาศัยของผู้มีอันจะกิน และเป็นที่ตั้งของคฤหาสถ์สำคัญอันยิ่งใหญ่ของตระกูล ณ ระนอง จำนวน 2 หลัง หลังแรกคือบ้านจักรพงษ์ตั้งตระหง่านหันหน้าออกสู่ทะเล โดยมีด้านหลังติดกับบ้านอัฎษดางค์ที่หันหน้าออกสู่ถนน บ้านจักรพงษ์เคยใช้เป็นที่รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2450 แต่เมื่อคอซิมบี้เสียชีวิตลง บ้านจักรพงษ์ได้ตกเป็นของบุตรชาย "คอยู่จ๋าย” หรือ พระยารัษฎาธิราชภักดี ต่อมาได้ถูกขายไปในปี พ.ศ.2503 ด้วยราคา 150,000 ริงกิต ก่อนจะถูกรื้อทิ้งไปและกลายเป็นอพาร์ตเม้นท์สำหรับพักอาศัยในปัจจุบัน

 

ขณะที่บ้านอัฎษดางค์ที่อยู่ติดกันก็เคยใช้เป็นที่รับเสด็จเจ้านายในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ เช่น ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี เสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศมลายูในปี พ.ศ.2467 และอีกครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่บ้านอัฏษดางค์ในปี พ.ศ. 2472 เมื่อคราวเสด็จปีนัง บ้านอัศดางค์ตกทอดมาสู่พระยารัตนเศรษฐี คอยู่ตก จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านได้ถูกซื้อขายเปลี่ยนมือหลายครั้งก่อนจะถูกดัดแปลงให้เป็นโรงแรมเมโทรโพล กระทั่งถูกรื้อทิ้งโดยกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกลางดึกของวันคริสมาสต์ปี พ.ศ.2536

 

ทั้งหมดเป็นเพียงบทแรกของประวัติศาสตร์ระหว่างสยามและปีนังที่เกิดขึ้นมาตลอดในช่วงระยะเวลากว่า 200 ปี ซึ่งในห้วงเวลาต่อ ๆ มายังคงมีความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ดินแดนที่ควรถูกจารึกไว้ โปรดติดตามในตอนต่อไป

 

 

 

ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ

กรมประชาสัมพันธ์

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก