ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อิเล็กทรอนิกส์เวียดนาม-ไทยบทเรียนที่น่าจดจำ

http://www.aseanthai.net/

ข่าวคราวเวียดนามที่สามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐในปี 2557 กลายเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน แซงหน้ามาเลเซียและไทย ซึ่งเป็นแชมป์เก่ามานานแสนนาน แถมการส่งออกโดยรวมของเวียดนามก็เติบโตโดยเฉลี่ยถึง 22% ต่อปี ในช่วงปี 2552 - 2557 เมื่อมองย้อนกลับมาที่สถานการณ์การส่งออกของไทยที่แทบไม่มีการเติบโตเลยและยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะกระเตื้องขึ้นในอนาคตอันใกล้ ก็คงเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้เรารู้สึกแสบ ๆ คัน ๆ และยากที่จะทำใจยอมรับหรืออย่างที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า "Inconvenient truth" แต่ถ้าเราสามารถทำใจยอมรับได้ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ถือเป็นสัญญาณเตือนอย่างดีที่จะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันกลับมาพิจารณาอย่างจริงจังถึงเศรษฐกิจไทยว่า ขณะนี้เราอยู่ตรงไหนและกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางใด 

 

ตัดกลับเข้ามาที่เวียดนาม การเติบโตอย่างหวือหวาของมูลค่าการส่งออกของเวียดนามก็คงมีปัจจัยผลักดันไม่ต่างจากช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค นั่นคือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ที่หลั่งไหลเข้ามาเพื่อหาประโยชน์จากแรงงานราคาถูก และผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลกเป็นหลัก ซึ่งในทศวรรษที่ผ่านมาเวียดนามถือเป็นทางเลือกของการลงทุนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตและเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรสามารถทำได้โดยง่าย และมีต้นทุนส่วนเพิ่มที่ต่ำ ซึ่งเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามนำไปสู่การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉลี่ยถึง 289% ต่อปี

 

ในช่วงปี 2555 - 2557 และที่สำคัญมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามในปี 2557 ที่ 49.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งแซงหน้าไทยที่ส่งออกได้ 46.3 พันล้านดอลลาร์ ในปีเดียวกัน ทำให้เวียดนามกลายเป็นผู้นำในการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ณ จุดนี้เราจะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างกระแสเทคโนโลยี การตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคกับผลกระทบในภาพใหญ่ นั่นคือการส่งออกและ FDI ซึ่งสามารถใช้อธิบายแนวโน้มขาขึ้นของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามและแนวโน้มขาลงของไทยได้เป็นอย่างดี 

 

ขณะนี้ เวียดนามกลายเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทสมาร์ทโฟนและชิ้นส่วนที่ใช้ระบบหน้าจอสัมผัสเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน ส่วนการผลิตในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยยังคงกระจุกตัวอยู่ที่อุปกรณ์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทยกำลังรุ่งเรืองและเป็นสินค้าส่งออกดาวรุ่งนั้นคือช่วงบูมของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล รวมถึงโน้ตบุ๊ค ขณะที่ปัจจุบันเป็นช่วงบูมของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ซึ่งใช้ชิ้นส่วนที่ไม่มีการผลิตในไทย หรือจะให้พูดให้ตรงกว่านี้คือไทยเราไม่สามารถรักษาการเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไว้ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเราจะล่มสลายเพราะความต้องการชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกยังคงมีอยู่ แต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง เช่น หน่วยความจำ (storage unit) ขนาดใหญ่สาหรับ cloud computing technology เป็นต้น อีกทั้งผู้ผลิตบางรายหันไปผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้อิงกับคอมพิวเตอร์ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งสถิติก็สะท้อนว่าการส่งออกสินค้าเหล่านี้เติบโตได้ดีพอสมควร 

 

อย่างไรก็ดี เราคงจะไม่สามารถคาดหวังกระแสเงินลงทุนให้ไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศได้เหมือนก่อน รวมไปถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่ก็คงจะไม่เติบโตเช่นกัน คิดกันเล่น ๆ ว่า หากวันนี้เราได้แต่มองตาปริบ ๆ โดยไม่ทำอะไรเลยกับอนาคตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย อีก 5 ปีข้างหน้า เวียดนามน่าจะสามารถส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้มูลค่าเฉียด 100 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ไทยคงส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้เกิน 50 พันล้านดอลลาร์ ไปเล็กน้อยเท่านั้น 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยถือเป็นบทเรียนที่น่าจดจำ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมที่มีพลวัตสูงและมีอนาคตไกล สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศได้อย่างมหาศาล เพียงแต่เราไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยี และกระแสการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะที่ผ่านมาไทยขาดทิศทางและนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในระยะยาว จึงทำให้เราต้องเพลี่ยงพล้ำและสูญเสียการเป็นฐานการผลิตสมาร์ทโฟนและชิ้นส่วนให้แก่เวียดนามไป ขณะเดียวกันก็เป็นกระจกสะท้อนถึงสิ่งที่ไทยจะต้องเผชิญต่อไปในอนาคต ภายใต้สถานการณ์ที่ความสามารถทางการแข่งขันของภาคการผลิตของไทยถดถอยลงไปทุกที 

 

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่จะช่วยรักษาความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวของเราได้ก็คือ การพัฒนาคุณภาพแรงงานซึ่งถือเป็นความท้าทายระดับประเทศจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็นการที่แรงงานไทยไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพได้ใกล้เคียงกับค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น การขาดแคลนแรงงาน ความไม่สมดุลของทักษะแรงงานกับความต้องการของตลาด รวมถึงระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาครัฐเองแม้จะเริ่มเข้าใจถึงปัญหามากขึ้น สะท้อนจากความพยายามตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและการปรับหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับต้นน้ำมากขึ้น แต่นโยบายดังกล่าวอาจต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล ขณะที่ในโลกของธุรกิจเงินลงทุนคงไม่สามารถรอเราได้นานนัก และพร้อมที่จะไหลไปในที่ที่ให้ประโยชน์ได้มากกว่า กดดันให้เราจะต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประเด็นต่าง ๆ เพื่อฝ่าปัญหาเชิงโครงสร้างไปให้ได้ 

 

มองไปข้างหน้าคู่แข่งของเราคงไม่ใช่มีเพียงแค่เวียดนาม เมียนมา หรือแม้กระทั่งอินเดียก็มีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาท้าทายไทยในฐานะแหล่งลงทุนระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีตลาดภายในที่ใหญ่และมีทรัพยากรที่ยังอุดมสมบูรณ์ คงจะเป็นปัจจัยดึงดูดที่สำคัญ ในส่วนของประเทศไทย เมื่อเราไม่สามารถแข่งในแง่ของค่าแรงราคาถูกได้ เราก็คงต้องเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน การเจรจาการค้าเสรีกับเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ และการวางแผนกำลังแรงงาน ที่ตอบโจทย์การผลิตที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากขึ้นผ่านการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดก็คงจะช่วยนาพาประเทศให้พ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง ขณะที่รักษาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในระยะยาวไว้ได้ 

 

 

ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ 

 

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก