ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์

โดย   เติมธรรม  สิทธิเลิศ

 

 

การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เกิดขึ้นเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์ตลอดจนการทำข้อตกลงการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุผลสำคัญในการกระตุ้นให้อาเซียนเร่งดำเนินงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการกำหนดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2015 (พ.ศ.2558)

 

โดยความเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนอันเป็นผลมาจากการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายปัจจัยภายในภูมิภาคในด้านต่าง ๆ ได้แก่ สินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงาน อีกทั้งมีความร่วมมือในด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาในด้านมาตรฐานการครองชีพและการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประเทศสมาชิกให้ลดน้อยลง

 

เพื่อบรรลุการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ได้มีการจัดทำแผนงานที่เปรียบเสมือนพิมพ์เขียวในการสร้างบ้าน หรือ AEC Blueprint ที่ได้บูรณาการการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานในด้านเศรษฐกิจให้ชัดเจนตามกรอบระยะเวลาจนบรรลุเป้าหมาย และเพื่อสร้างพันธสัญญาระหว่างประเทศสมาชิกในการดำเนินการไปสู่เป้าหมายร่วมกันโดยมีองค์ประกอบสำคัญ คือ

 

1. การเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วม ประกอบด้วยแผนงานส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี

 

2. การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน ประกอบด้วยแผนงานส่งเสริมการสร้างความสามารถในการแข่งขันในด้านต่าง ๆ รวมถึง นโยบายการแข่งขัน สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ภาษี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงิน การขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

3. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค ประกอบด้วยแผนงานส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและลดช่องว่างของระดับการพัฒนาระหว่างสมาชิกเก่าและใหม่

 

4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก ประกอบด้วยแผนงานส่งเสริมการรวมกลุ่มเข้ากับประชาคมโลกโดยเน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนและประเทศนอกภูมิภาค

 

การดำเนินงานมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2007 (พ.ศ.2550) ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่มีส่วนประกอบสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ แผนการดำเนินงาน (AEC Blueprint) และตารางเวลาดำเนินงาน (Strategic Schedule)

 

ในการดำเนินงานแม้ว่าจะกำหนดให้มีความยืดหยุ่นในการดำเนินงานไว้ล่วงหน้าได้ แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกจะต้องยึดถือและปฏิบัติตามพันธกรณีที่ได้ตกลงกันอย่างเคร่งครัด โดยอาเซียนได้จัดทำเครื่องมือติดตามผลการดำเนินงานตาม AEC Blueprint เรียกว่า AEC Scorecard ซึ่งเป็นการติดตามผลการดำเนินงานรายประเทศสมาชิกและในระดับภูมิภาค เพื่อรายงานให้ผู้นำอาเซียนทราบในการประชุมสุดยอดอาเซียนต่อไป

 

ทั้งนี้ ได้มีการใช้กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) เพื่อให้การรวมกลุ่มของอาเซียนมีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับและมีพันธสัญญาต่อกันมากขึ้น โดยกฎบัตรอาเซียนนี้เป็นเสมือนธรรมนูญของอาเซียน เป็นการวางกรอบโครงสร้างทางกฎหมายและองค์กร เพื่อให้การรวมตัวของประเทศสมาชิกมีประสิทธิภาพและมีเอกภาพมากขึ้น ซึ่งองค์ประกอบสำคัญในกฎบัตรอาเซียนระบุถึงโครงสร้างองค์กร การบวนการตัดสินใจ กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก ตลอดจนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ

 

 

 

 

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181