ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สื่อดิจิตอลแห่งอนาคต (3)

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 11 มีนาคม 2558

นอกจากการส่งความรู้สึก “กอด” และความรู้สึก “จูบ” แล้ว ก็ยังมีงานวิจัยที่ออกแบบอุปกรณ์ให้สามารถส่ง “กลิ่น” รวมไปถึงความรู้สึกรับรู้ “รสชาติ” ของลิ้นในระยะทางไกล ๆ ได้ แน่นอนครับ

 

เมื่อวันพุธที่แล้ว ผมชวนคุณผู้อ่านประจำคอลัมน์ของผมมาตั้งคำถามถึงอนาคตของสื่อดิจิตอลในทศวรรษข้างหน้า และผมพูดไปถึงว่านอกจากสมาร์ทโฟนที่เรา ๆ ใช้กันอยู่ทุกวัน มนุษย์เราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างไรบ้าง เราสามารถเสพข้อมูลหรือสื่อสารกันผ่านประสาทสัมผัส ทั้งห้าให้ครบทั้ง หมดได้ไหม? ถ้าใครยังจำได้ผมมีพูดถึงการส่งความรู้สึก “กอด” ไปเมื่อวันพุธที่แล้ว

 

จริง ๆ แล้วอย่าว่าแต่ส่งความรู้สึก “กอด” กันเลยครับ แม้แต่ส่งความรู้สึก “จูบ” กันก็มีทำงานวิจัยออกมาแล้ว ซึ่งอุปกรณ์รับส่งจูบใช้ชื่อว่า Kissenger (Kiss-Messenger) แปลเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ก็คืออุปกรณ์รับส่งจูบนี้แหละครับ โดยอุปกรณ์นี้จะสามารถส่งความรู้สึกจูบให้คู่รักหนุ่มสาวที่อยู่ไกล ๆ ผ่านทางตุ๊กตาที่เขาติดอุปกรณ์พิเศษนี้ไว้ที่ปากของตุ๊กตา โดยที่อุปกรณ์ตัวนี้จะมีเซ็นเซอร์สามารถเก็บข้อมูลตำแหน่งการจูบ แล้วระบบก็จะส่งข้อมูลการจูบจากปากตุ๊กตาไปให้ผู้รับปลายทางที่จูบปากตุ๊กตาอีกตัวหนึ่งอยู่เช่นเดียวกัน ทำให้เสมือนกำลังจูบกันอยู่จริง ๆ ในระยะทางอันไกลโพ้นได้เลยล่ะครับ

 

นอกจากการส่งความรู้สึก “กอด” และความรู้สึก “จูบ” แล้ว ก็ยังมีงานวิจัยที่ออกแบบอุปกรณ์ให้สามารถส่ง “กลิ่น” รวมไปถึงความรู้สึกรับรู้ “รสชาติ” ของลิ้นในระยะทางไกล ๆ ได้ แน่นอนครับ แม้ว่าการส่ง “กลิ่น” และ “รสชาติ” จะไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะว่าส่วนใหญ่จะต้องยุ่งเกี่ยวกับรายละเอียดในสารเคมีเพื่อทำการสังเคราะห์กลิ่นหรือรสชาติต่าง ๆ ขึ้นมาแต่ก็มีแนวโน้มที่เป็นไปได้มากขึ้นในอนาคตครับ

 

ซึ่งการส่งกลิ่นนี่ผมไม่ได้หมายถึงส่งกลิ่นเหม็น ๆ นะครับ ผมหมายถึงส่งข้อมูลกลิ่นซึ่งอาจจะหอมก็ได้ เช่น คุณแม่บ้าน คุยกับคุณพ่อบ้านพร้อมส่งกลิ่นหอมของอาหารที่ทำรอไว้ไปพร้อมกันด้วย ให้ช่วยเร่งให้คุณพ่อบ้านอยากรีบบินกลับบ้านมาทานอาหารเลย หรือเวลาดูโฆษณาน้ำหอม นอก จากขวดสวย ๆ แล้วถ้าเราสามารถได้กลิ่นของน้ำหอมนั้นได้ด้วย ก็ยิ่งทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ถ้าถามว่ามีคนทำระบบเรื่องกลิ่น ๆ อย่างนี้ออกมาใช้นอกห้องทดลองบ้างหรือยัง ก็ต้องบอกว่าเริ่มมีให้เห็นแล้วครับ เช่น เกมทำข้าวโพดป๊อปคอร์นบนมือถือ ที่สร้างโดยผู้ผลิตเมล็ดข้าว โพดยี่ห้อ Pop Secret ที่มีการออกแบบอุปกรณ์ชื่อว่า Pop Dongle ขึ้นมาไว้เสียบเข้ากับช่องหูฟัง ของไอโฟน พอเสียบเสร็จ อุปกรณ์นี้ก็จะสามารถส่งกลิ่นหอม ๆ ของข้าวโพดคั่วออกมาขณะเล่นเกมได้

 

แต่ประเด็นคือตัวอุปกรณ์เสริมสำหรับดมกลิ่นหรือ Pop Dongle ตัวนี้ ราคายังค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับการไปซื้อข้าวโพดคั่วของจริงที่ราคาไม่กี่สิบบาท เพราะฉะนั้นอุปกรณ์นี้เลยยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรในปัจจุบัน แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นให้สามารถเอาไอเดียไปประยุกต์ใช้กับการสื่อสารสมัยใหม่ได้

 

นอกจากนั้น การส่งความรู้สึกรับ “รสชาติ” ของลิ้นมนุษย์ ก็เริ่มมีให้เห็นในงานวิจัยบ้างแล้วเช่นกันครับ เช่น งานวิจัยของ Dr. Shengdong Zhao จาก National University of Singapore ในชื่อว่า Food Media ที่ออกแบบอุปกรณ์ให้เราสามารถส่งรสชาติอาหารที่เรารับประทานกันอยู่ส่งผ่านไปหาครอบครัวเราที่อาจจะอยู่ต่างประเทศให้รับรู้รสชาติอาหารที่เรากำลังเข้าปากเราไปพร้อม ๆ กับเราได้เลยล่ะครับ เห็นไหมครับว่าน่าสนใจขนาดไหน

 

แต่แน่นอนครับ อนาคตเป็นเรื่องยากที่ใครจะหยั่งรู้ได้อย่างชัดเจน สุดท้ายแล้วสื่อดิจิตอลในทศวรรษข้างหน้าจะเป็นอย่างไร อาจจะยังไม่มีใครในโลกให้คำตอบฟันธงที่แน่ชัดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราคงต้องมาติดตามไปพร้อม ๆ กันครับ แต่ไม่ว่าสื่อดิจิตอลในอนาคตจะปรับแต่งตัวเองผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสื่อชนิดใหม่อย่างไร ผมเชื่อว่าถ้าเราเรียนรู้ เข้าใจ และปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลง เราก็สามารถนำประโยชน์จากสิ่งใหม่ ๆ เหล่านั้นมาใช้กับตัวเราได้เสมอ คุณผู้อ่านว่าจริงไหมล่ะครับ.

 

ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช

 

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

 

chutisant.ker@nida.ac.th

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก