ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สื่อดิจิตอลแห่งอนาคต (2)

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 4 มีนาคม 2558

 

 

ถือว่าเป็นข้อดีของการผสมผสานความคิดระหว่างแนวคิดทางด้านวิทย์และศิลป์ โดยเฉพาะการบูรณาการความรู้ทางด้านเทคโนโลยีกับนิเทศศาสตร์สมัยใหม่เข้าด้วยกันจริง ๆ

 

เมื่อวันพุธที่แล้ว ผมชวนคุณผู้อ่านประจำคอลัมน์ผมมาร่วมกันคิดไปกับผมว่า “อะไรคืออนาคตของสื่อดิจิตอลในทศวรรษข้างหน้า?” ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านคงมีคำตอบในใจกันหลากหลายทีเดียว ในคลาสที่ผมสอนก็เช่นกันครับ ขณะที่ผมตั้งคำถามให้นักศึกษาได้คิด นักศึกษาก็ร่วมวงถกเหตุผลพร้อมทั้งจินตนาการกันในห้องอย่างสนุกสนานว่าสุดท้ายแล้วการสื่อสารเทคโนโลยีของเราในอนาคตจะมีนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ ทำให้การติดต่อสื่อสารของเราเปลี่ยนแปลงไปได้บ้าง

 

คำตอบที่ได้มาก็หลากหลายมุมมอง หลากหลายมิติ อย่างที่ผมคาดการณ์ไว้ไม่ผิดครับ ซึ่งก็ถือว่าเป็นข้อดีของการผสมผสานความคิดระหว่างแนวคิดทางด้านวิทย์และศิลป์ โดยเฉพาะการบูรณาการความรู้ทางด้านเทคโนโลยีกับนิเทศศาสตร์สมัยใหม่เข้าด้วยกันจริง ๆ ครับ บางคนเสนอว่าในอนาคตต่อไปอาจสื่อสารกันโดยโทรจิตไปเลยก็มี ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้นะครับ เพราะปัจจุบันงานวิจัยด้านการใช้คลื่นสมองเพื่อสื่อสารระหว่างกันนั้นก็มีทำกันอยู่มากมาย

 

คำถามปลายเปิดอย่างนี้เป็นอะไรที่สนุก สร้างสรรค์จินตนาการได้ดีครับ แต่สุดท้ายผมเชื่อว่าอนาคตเป็นเรื่องยากที่ใครสักคนจะหยั่งรู้ได้ครบทุกอย่าง แม้แต่คนที่มีความรู้มากเท่าไหร่ก็ตามก็คงจะไม่มีใครที่สามารถการันตีคำทำนายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

 

เอาเป็นว่า ผมมีงานวิจัยที่น่าสนใจงานหนึ่งมาแชร์ให้คุณผู้อ่านประจำคอลัมน์วันพุธของผม ไม่ให้ตกเทรนด์ของสื่อดิจิตอลไอทีในอนาคตแน่ครับ งานวิจัยนี้เป็นของนักวิชาการทางคอมพิวเตอร์ชื่อดังท่านหนึ่ง ชื่อว่า ศาสตราจารย์ เอเดรียน เดวิด โช้ค (Adrian David Cheok) จาก City University London ที่พยายามวิจัยสร้างนวัตกรรมให้มนุษย์เราสามารถติดต่อกันได้มากกว่าการอ่านและการฟังอย่างที่เป็นอยู่ โดยต้องการให้เราสามารถเสพข้อมูลหรือสื่อสารกันผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าอื่น ๆ ด้วย เช่น การสัมผัส หรือแม้แต่การได้รับกลิ่น ส่วนการมองเห็นก็จะไม่ใช่เพียงแค่เห็นในหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่หมายถึงจะมีกราฟิกคอมพิวเตอร์โผล่ออกมาให้ข้อมูลเราที่ข้างนอกจอเลย หรือที่ผมเคยเขียนอธิบายไปแล้วเกี่ยวกับโลกเสมือนผสานโลกจริง (Augmented Reality)

 

อธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น เมื่อก่อนเวลาเราจะติดต่อกับใครที่อยู่ไกลเราก็ใช้โทรศัพท์ 2G ได้ยินแต่เสียงไป จนปัจจุบันก็พัฒนามาใช้เฟซไทม์ใช้ไลน์คุยกันเป็นกลุ่มได้ยินทั้งเสียงเห็นทั้งหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ในอนาคตเราอาจ สามารถส่งความรู้สึกอย่างอื่นไปด้วยได้ อ่านถึงตรงนี้คุณผู้อ่านบางท่านอาจมีคำถามในใจว่าแล้วอะไรคือความรู้สึกอย่างอื่นที่เราส่งต่อ?

 

ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพครับ เช่น ความรู้สึก “กอด” การกอดของหนุ่มสาว-คู่รัก-พ่อแม่ลูก กันนี่แหละครับ โดยศาสตราจารย์ เอเดรียน ได้สร้างระบบสำหรับส่งกอดไปให้คนรักเราผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่น คุณแม่กับลูกต้องการที่จะกอดกันแต่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน โดยระบบนี้อาศัยเสื้อแบบพิเศษที่มีเซ็นเซอร์สามารถเก็บข้อมูลตำแหน่งการกอด เพราะฉะนั้นเวลาที่คุณแม่อยากจะกอดลูกก็ให้กอดตุ๊กตาที่บ้านแทน แล้วระบบก็จะส่งข้อมูลการกอดจากตัวตุ๊กตาไปให้ลูกที่เป็นผู้รับปลายทางที่ใส่เสื้อชนิดพิเศษนี้ เพราะฉะนั้นก็จะทำให้ลูกมีความรู้สึกเหมือนคุณแม่กำลังกอดเขาอยู่ตรงหน้าเลย เป็นต้น

 

คำถามต่อมาแล้วนอกจากการ “กอด” แล้ว ยังมีอย่างอื่นอีกไหมให้มนุษย์เราสามารถติดต่อกันได้ ไว้วันพุธหน้า ผมจะชวนคุณผู้อ่านมาคิดค้นหาคำตอบเพิ่มเติมไปพร้อม ๆ กันครับ

 

ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

chutisant.ker@nida.ac.th.

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก