ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สื่อดิจิตอลแห่งอนาคต(1)

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558

ผมเองก็ไปนั่งอ่านงานวิจัยของนักวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในไทยและต่างประเทศหลาย ๆ ท่านก็เห็นค่อนข้างตรงกันครับ ว่าในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

 

สื่อดิจิตอลเป็นอีกเรื่องใหญ่ ๆ เรื่องหนึ่งในโลกยุคสารสนเทศที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยนะครับ เพราะในระยะเวลาไม่กี่สิบปี เราเห็นตั้งแต่การเกิดขึ้นของโลกแห่งโซเชียลมีเดียที่เป็นสื่อที่ทรงพลังแห่งศตวรรษที่ 21 ไปจนถึงวิทยุออนไลน์ อินเทอร์เน็ต เกมอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงทีวีดิจิตอลที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราเมื่อไม่นานมานี้ เรียกว่าสื่อดิจิตอลใหม่เกิดขึ้นมาตลอดเวลาอย่างเป็นพลวัตจริง ๆ

 

ผมเองก็ไปนั่งอ่านงานวิจัยของนักวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในไทยและต่างประเทศหลาย ๆ ท่านก็เห็นค่อนข้างตรงกันครับ ว่าในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า สื่อดิจิตอลจะครอบคลุมสื่อเกือบทั้งหมดที่พวกเรา ๆ บริโภคกันอยู่ ซึ่งนักวิชาการบางท่านเชื่อว่าจะมากถึงร้อยละ 80 ของสื่อทั้งหมดซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงไม่เบาเลย

 

มีรายงานการศึกษาชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจที่ผมไปค้นเจอมาของ ดร.เจนนิเฟอร์ คอตเลอร์ (Jennifer Kotler) จากเซซามีเวิร์กช็อป (Sesame Workshop) ในสหรัฐอเมริกา ที่ได้ระบุว่าเทรนด์การบริโภคสื่อดิจิตอลของเด็กสมัยใหม่นอกจากจะเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วแล้ว เด็กสมัยใหม่ไม่ได้บริโภคสื่อดิจิตอลสื่อใดสื่อหนึ่งเพียงอย่างเดียวต่อไปอีกแล้วครับ แต่พวกเขาบริโภคสื่อดิจิตอลหลาย ๆ อย่างพร้อมกันในเวลาเดียวกัน

 

ผมมานั่งคิด ๆ ดูก็จริงนะครับ ว่าคนสมัยใหม่ในยุคสารสนเทศนี้เป็นพวกเสพสื่อพร้อมกันหลาย ๆ อย่างจริง ๆ ขณะที่เปิดวิทยุเพื่อฟังเพลง ตาก็ยังเหลือบดูทีวีเป็นพัก ๆ มือเองก็ไม่ได้อยู่เฉยแต่พิมพ์งานในแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ไปพร้อมกัน ไม่เพียงเท่านั้นยังต้องคอยหมั่นมอง หมั่นเช็กข้อความเด้งเข้าทางไลน์ (LINE) ทางเฟซบุ๊กในสมาร์ทโฟนอีก เรียกว่าปัจจุบันคนเราสามารถทำทุกอย่างพร้อมกันได้ในเวลาเดียวหรือเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นอะไรที่น่าอัศจรรย์ไม่น้อยใช่ไหมครับ ถ้าไปถามคนในยุคต้นศตวรรษที่ 20 เชื่อว่าท่านผู้อาวุโสเหล่านั้นอาจจะไม่คิดว่ามนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งจะสามารถแยกประสาททำอะไรพร้อม ๆ กันได้ขนาดนี้เชียวหรือ แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นก็คงต้องยอมรับครับ ว่านี่คือความเป็นจริงของผู้บริโภคสื่อดิจิตอลในโลกยุคปัจจุบันของเราการทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกันบางคนอาจมองว่าเป็นข้อเสียนะครับ เพราะไม่สามารถทุ่มเทให้ผลงานแต่ละอย่างได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่มองอีกมุมหนึ่งผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของโลกที่เปลี่ยนไป โลกยุคโลกาภิวัตน์ที่สื่อดิจิตอลทำหน้าที่ย่นย่อระยะเวลาของหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆอย่างให้หดสั้นลงเหลือเพียงความเหลื่อมล้ำกันในเสี้ยววินาที ซึ่งสั้นเสียจนดูเหมือนกับว่าสิ่งเหล่านั้นมันเกิดไปได้พร้อม ๆ กัน

 

จากที่เคยต้องรอจดหมายนานนับสัปดาห์ ก็เหลือเพียงกดเฟซไทม์คุยกันใช้กินเวลาแค่ไม่กี่คลิก จากที่เคยต้องไปยืนต่อแถวแสนยาวเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน เดี๋ยวนี้แค่เข้าแอพพลิเคชั่นใส่พาสเวิร์ดก็สามารถโอนเงินก้อนโตเสร็จได้ง่าย ๆ ไม่เว้นแม้แต่ในการเรียนการศึกษา ที่แต่ก่อนต้องตระเวนเข้าห้องสมุดทั่วเมืองกว่าจะรวบรวมหนังสือได้ครบ เดี๋ยวนี้แค่เข้ากูเกิลทีเดียวข้อมูลทุกอย่างก็มา เวลาที่เหลือจากการเดินทางตระเวนรอบเมืองก็เปลี่ยนมาใช้ในการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลแทน ซึ่งรวม ๆ แล้วผมมองว่า มันเป็นการส่งเสริมให้มนุษย์เราได้ก้าวไปข้างหน้า ได้ใช้เวลากับกิจกรรมที่เป็นไปในแนวทางพัฒนาต่อยอด หรือ ประยุกต์รังสรรค์มากยิ่งขึ้น

 

พูดถึงสื่อดิจิตอลแล้ว เมื่อวันก่อนในคลาสเรียนที่ผมสอนเกี่ยวกับนวัตกรรมการจัดการสื่อสารดิจิตอล ผมมีพูดถึงที่มาของสื่อดิจิตอลในยุคปัจจุบัน และได้ตั้งคำถามให้นักศึกษาของผมร่วมกันคิดว่า “อะไรคืออนาคตของสื่อดิจิตอลในทศวรรษข้างหน้า?” นักศึกษาปริญญาโทในคลาสที่จบมาจากหลากหลายสาขาวิชา หลากหลายมหาวิทยาลัย ก็ร่วมวงถกพร้อมทั้งจินตนาการกันในห้องอย่างสนุกสนานว่าสุดท้ายแล้วสื่อเทคโนโลยีดิจิตอลของเราในอนาคตจะมีนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ ออกมาบ้าง นวัตกรรมทางสื่อด้านนิเทศศาสตร์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร

 

แล้วคุณผู้อ่านประจำคอลัมน์วันพุธของผมล่ะครับ คิดว่าอย่างไรกับคำถามดัง ๆ ที่ผมตั้งคำถามไปนี้ ไว้วันพุธหน้าผมมาเล่าให้ฟังต่อครับ.

 

ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

chutisant.ker@nida.ac.th

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก