ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558

ศูนย์แห่งนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2551 โดยเป็น 1 ใน 113 ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ที่ตั้งอยู่ทั่วโลก เดิมตั้งอยู่ที่ศูนย์ศึกษาสาทรธานี ล่าสุดได้ขยายความร่วมมือและย้ายที่ตั้งศูนย์แห่งใหม่มาอยู่ในสำนักงานของ สวทช.พระราม 6

 

เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทย สำหรับการเปิดศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์เพื่อสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และเตรียมความพร้อมเดินหน้าสู่นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล ที่มีเทคโนโลยีเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า

 

โดยศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ หรือ Microsoft Innovation Center (MIC) เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่มุ่งเน้นให้บริการทรัพยากรและความช่วยเหลือด้านไอที สำหรับนักศึกษา ผู้ประกอบการ และสตาร์ตอัพ หลากหลายรูปแบบเพื่อสร้างต้นแบบและแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาสนใจการพัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์

 

ศูนย์แห่งนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2551 โดยเป็น 1 ใน 113 ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ที่ตั้งอยู่ทั่วโลก เดิมตั้งอยู่ที่ศูนย์ศึกษาสาทรธานี ล่าสุดได้ขยายความร่วมมือและย้ายที่ตั้งศูนย์แห่งใหม่มาอยู่ในสำนักงานของ สวทช.พระราม 6

 

ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ จะให้การสนับสนุนด้านผู้ฝึกสอนและความรู้แก่สถาบันวิทยาการ สวทช. (NSTDA Academy) พร้อมกับการสนับสนุนเทคโนโลยีการประมวลผลผ่านไมโครซอฟท์ อาชัวร์ แก่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ ที่เปิดกว้างและรองรับการใช้ภาษาโปรแกรมมิ่งเกือบทุกภาษา ทั้งยังมีคุณสมบัติการยืดหยุ่นจึงเหมาะสมต่อการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีเนคเทคไปใช้งานในบริบทที่กว้างขึ้น

 

นอกจากนี้ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ จะทำงานร่วมกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์คในการนำไมโครซอฟท์ บิซสปาร์ค (Microsoft BizSpark) ไปสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ ให้เข้าถึงเทคโนโลยี พร้อมช่วยเหลือสตาร์ตอัพเหล่านั้นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

 

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. บอกว่า ตลอดระยะเวลา 6 ปี ในการดำเนินการศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์แห่งนี้ มีการพัฒนาบุคลากรด้านไอที สร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบไอทีของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยฝึกอบรมทักษะการพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้กับนักเรียนและนักศึกษามาแล้วกว่า 3,000 คน มีนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จจากโครงการมากกว่า 350 คน มีสตาร์ตอัพ มากกว่า 50 รายที่เกิดจากศูนย์แห่งนี้ และมีบริษัทผู้พัฒนาระบบของไทย (ISV) อีกมากกว่า 400 ราย ที่ได้รับการสนับสนุนด้านซอฟต์แวร์ระดับโลกจากไมโครซอฟท์

 

และหนึ่งในตัวอย่างสตาร์ตอัพไทยดาวรุ่ง ที่เกิดจากการรวมกลุ่มของนักศึกษาที่ผ่านการฝึกงานที่ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ อย่าง นายอานนท์ บุณยประเวศ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทค ฟาร์ม (Tech Farm)จำกัด บอกว่า การฝึกงานที่ศูนย์ฯ นอกจากจะเป็นการที่ได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองแล้ว ยังได้รับโอกาสและความร่วมมือในหลาย ๆ ส่วนจากไมโครซอฟท์ และสวทช. ที่ปลุกปั้นจนออกมาเป็นแอพพลิเคชั่น เล่นดิน (Len-din) ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สภาพดินของเกษตรกร จนได้รับรางวัลจากเวทีต่าง ๆ มากมาย ก่อนนำมาสู่การก่อตั้งเป็นบริษัท เทค ฟาร์ม

 

“ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ นำทักษะที่ใช้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ ทั้งในเรื่องของมุมมองทางการตลาด การทำงานร่วมเป็นทีม ซึ่งช่วยในเรื่องการพัฒนาเสริมสร้างทักษะบุคลากรด้านไอที และประสิทธิภาพในการนำเทคโนโลยีมาสร้างเป็นนวัตกรรม ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม ส่งออกบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก”

 

ซึ่งนอกจากแอพพลิเคชั่น เล่นดิน ยังมีผลงานของนักศึกษาที่ผ่านการฝึกงานจากศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ ที่ได้กลายมาเป็นสตาร์ตอัพหรือผู้ประกอบการไอทีรายใหม่อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่น โอลีฟ 2.0 (Oliv 2.0) จาก บริษัท Softever จำกัด ที่เป็นระบบการจัดการสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบวิดีโอ แอพพลิเคชั่น Gas Station is here จาก 24dvlop ที่ช่วยในการค้นหาปั๊มบริการน้ำมันบริเวณใกล้เคียง และแอพ Weather HD ที่จะพยากรณ์อากาศในรอบสัปดาห์ รวมถึงแอพพลิเคชั่นตรวจจับป้ายทะเบียนรถปลอมบนท้องถนน จากบริษัท Volvei จำกัด

 

ทางด้านผู้ประกอบการอย่าง นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี จำกัด ซึ่งได้มีการจ้างงานนักศึกษาที่ผ่านการฝึกงานกับศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ บอกว่า แรงงานที่ได้รับการฝึกฝนมีความสำคัญต่อความยั่งยืนและการขยายตัวของธุรกิจ การสรรหาแรงงานรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญทางด้านไอทีเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ได้เข้ามาช่วยจัดการปัญหานี้ด้วยหลักสูตรการฝึกงานที่เข้มข้น การที่ได้ร่วมงานกับนักศึกษารุ่นใหม่จากทางศูนย์ ทำให้สามารถมั่นใจได้ว่าอนาคตของตลาดแรงงานไอทีในประเทศไทย จะต้องแข็งแกร่งขึ้นอย่างแน่นอน

 

ความร่วมมือเหล่านี้ ช่วยพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรมของไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานโลก จึงถือเป็นศูนย์นวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ ที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก.

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก