ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รู้สีสันภาพศิลป์ผ่านเสียงวิจัยเพื่อผู้พิการทางสายตา

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558

งานศิลปะเป็นการแสดงออกผ่านเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง โดยรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส ซึ่งสมองจะตีความจากการรับรู้ส่งผลต่อสภาพกายและจิตใจของผู้สัมผัสงานศิลปะ

 

 

“ถึงแม้คนตาบอดจะมองไม่เห็น แต่พวกเขาก็ไม่ควรเสียสิทธิที่จะสร้างและเรียนรู้งานศิลปะ เพียงเพราะเขาเกิดมาไม่สมบูรณ์”

 

เป็นคำกล่าวของ ดร.สัญชัย สันติเวส อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของผลงานวิจัยเรื่อง “การแสดงออกด้วยการวาดภาพระบายสีและการรับรู้สีสันของภาพศิลปะ โดยใช้ระดับเสียงสำหรับคนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิด”

 

ดร.สัญชัย สันติเวส กล่าวว่า งานศิลปะเป็นการแสดงออกผ่านเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง โดยรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส ซึ่งสมองจะตีความจากการรับรู้ส่งผลต่อสภาพกายและจิตใจของผู้สัมผัสงานศิลปะ ทั้งนี้อาจเหมือนกันหรือแตกต่างกันไปตามความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ แต่น่าเสียดายที่กลับมีผู้สัมผัสงานศิลปะกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถรับรู้งานศิลปะได้ด้วยการมองเห็น นั่นคือผู้พิการทางสายตา (Visually impairment) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิด (Congenital totally blind) ทำให้งานศิลปะไม่สามารถสื่อสารถึงคนได้ทุกคน โดยกิจกรรมทางด้านศิลปะเพื่อให้คนตาบอดได้วาดภาพระบายสีนั้น คนตาบอดไม่สามารถรู้ได้ว่าตนเองระบายสีสันและรูปร่างอะไรลงไป จึงจำเป็นต้องมีผู้ช่วยคอยบอกและเลือกหยิบสีให้ ซึ่งคนตาบอดไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง

 

ดร.สัญชัย กล่าวต่อว่า งานวิจัยนี้เป็นกิจกรรมการรับรู้สีสันและรูปร่างของภาพศิลปะ 2 มิติ ซึ่งได้ถูกลดทอนรายละเอียดและจำนวนสีลงให้ง่ายขึ้น และแสดงออกด้วยการวาดภาพระบายสี โดยเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีดำเนินการวิจัยและเครื่องมือในการเก็บข้อมูล ได้แก่ การสัมภาษณ์, การสังเกตการณ์, การบันทึกเสียง, การถ่ายภาพ และแบบทดสอบวาดภาพ ได้แก่ การวาดภาพตามภาพศิลปะต้นแบบ วาดภาพตามจินตนาการ วาดภาพตามอารมณ์และความรู้สึก และวาดภาพตามหัวข้อที่กำหนดให้ จากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นคนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิด ไม่มีประสบการณ์ในการมองเห็นสีสันและรูปร่างของภาพวาดศิลปะมาก่อนในระดับชั้นมัธยมปลายขึ้นไป ซึ่งทดลองในกลุ่มคนตาบอดสนิทโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด จังหวัดขอนแก่น

 

โดยใช้วิธีการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการรับรู้สีสันด้วยการแทนรหัสโดยใช้วิธีการแปลงค่าจากหุ่นจำลองสี RGB ไปเป็น HLS แล้วเทียบกับระดับเสียงของโน้ตดนตรี รังสรรค์ภาพวาดด้วยปลายนิ้วผ่านจอภาพแบบสัมผัส และใช้แถบสีของโปรแกรมในระดับผู้เริ่มต้นมีจำนวน 12 สี ใช้การวิเคราะห์และตีความจากคำอธิบายที่มีต่อภาพศิลปะที่สัมผัส การวิเคราะห์ภาพผลงานด้วยการวิจารณ์ศิลปะ

 

ทั้งนี้ จากผลการวิจัยพบว่า สามารถใช้ระดับเสียงแทนสีสันได้ โดยกลุ่มตัวอย่างสามารถรับรู้สีสันและรูปร่างของภาพศิลปะ โดยแสดงความคิดเห็นและวิจารณ์ภาพศิลปะที่สัมผัสได้ และสามารถแสดงออกด้วยการวาดภาพระบายสีได้ โดยถ่ายทอดภาพผลงานได้ทั้งเป็นแบบรูปธรรมและนามธรรม สามารถเลือกใช้สีได้ถูกต้องตามความจริง หรือตามใจชอบ โดยกลุ่มตัวอย่างสามารถเลือกใช้สีสันและวาดภาพระบายสีได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีผู้ช่วย และมีความพึงพอใจในการร่วมกิจกรรมอยู่ในระดับที่ดี กิจกรรมสามารถสร้างประทับใจและเพลิดเพลิน แสดงให้เห็นได้ว่าอุปกรณ์เครื่องมือและโปรแกรมสามารถช่วยให้คนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิดรับรู้สีสัน วาดภาพระบายสี และเรียนวิชาศิลปศึกษาได้ และได้รับองค์ความรู้ใหม่และทฤษฎีวาดภาพระบายสีสำหรับคนตาบอดสนิท ทฤษฎีศิลปะสำหรับคนตาบอด ได้แก่ ศิลปะคือการปรับตัว, การเปรียบเปรย, ความพึงพอใจ และการพัฒนาการ ซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันตามลำดับ

 

“งานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาเพื่อสร้างอุปกรณ์เครื่องมือและโปรแกรมด้วยการใช้การฟังระดับของเสียงแทนรหัสของสีสันผ่านเทคโนโลยีจอภาพแบบสัมผัส (Touch-Screen monitor) เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสร้างและเรียนรู้งานศิลปะได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้การวิจัยไม่ได้ศึกษาเพื่อให้คนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิดสามารถมองเห็นสีสัน แต่ต้องการให้คนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิดสามารถรับรู้ความหลากหลายของสีสันบนภาพศิลปะ ช่วยให้คนตาบอดสนิทได้รับรู้และเข้าถึงภาพศิลปะอันมีคุณค่าก่อให้เกิดพัฒนาการของมนุษยชาติ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ได้เช่นเดียวกับผู้ที่สายตาปกติ ศิลปะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงพัฒนาการ ความเจริญ รสนิยม ความคิด และปัญญา วงการศิลปะจะได้เป็นการสร้างสรรค์เพื่อมวลมนุษย์ทั้งหลายอย่างแท้จริง” ดร.สัญชัย กล่าว

 

สำหรับผลงานวิจัยดังกล่าว ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยสร้างสรรค์จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ได้แก่ ผศ.ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ และ รศ.ดร.ไพโรจน์ ชมุนี ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ดร.สัญชัย สันติเวส คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 0-4336-2046 หรืออีเมล sanchai@kku.ac.th

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก