ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

แอพฯ นำทางในอาคารเพื่อผู้พิการทางสายตา

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558

นศ.มจธ.พัฒนาแอพลิเคชั่นใหม่บนสมาร์ทโฟนที่ช่วยนำทางภายในอาคารสำหรับผู้พิการทางสายตา

 

ผู้พิการมักมีข้อจำกัดในการดำรงชีวิตแต่ปัจจุบันก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมากที่พัฒนาขึ้นเพื่อ ช่วยเหลือผู้พิการ และจากสถิติพบว่าจำนวนผู้พิการทางสายตาสูงเป็นอันดับต้นๆ ของสังคมและมีจำนวนมาก ขึ้นทุกปี และด้วยสาเหตุนี้ทำให้นักศึกษาทั้ง 3 คนจากภาควิชาวิศกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เลือกที่จะใช้ความรู้ที่เรียนมาในการทำประโยชน์ให้แก่ สังคม

นายคณาสิน แย้มนวล “น้องปอน” นางสาวฤดีมาศ เจษฎาภัทรกุล “น้องแคท” และหัวหน้าทีม นายกฤตภาส ภักดีทศพล หรือ “น้องอิฐ” ได้กล่าวว่า ตอนทำโปรเจกจบปี 4 ต้องการนำงานวิจัยมาต่อยอดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมจึงมองมาที่ผู้พิการซึ่งพบว่าผู้พิการทางสายตานั้นยังขาดเครื่องอำนวยความสะดวกที่สามารถลดความบกพร่องได้อย่างสมบูรณ์แบบจึงพัฒนาแอพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “BAT” หรือ blind assistive tool ขึ้นมา

“แอพลิเคชั่นนี้พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องการเดินทางของผู้พิการภายในอาคาร โดยผู้พิการจะสามารถใช้งานแอพลิเคชั่นนี้ผ่านทางสมาร์ทโฟนด้วยระบบการสั่งงานด้วยเสียงหรือท่าทาง ควบคู่กับการใส่รองเท้า pedometer ซึ่งเป็นรองเท้านับก้าวเดิน โดยไม่ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมภายในอาคาร และที่สำคัญคือสามารถใช้ได้กับทุกอาคารเพียงแค่เข้าไปเก็บข้อมูลเพื่อทำแผนที่เตรียมไว้เท่านั้น”

ทางด้านน้องปอน ได้กล่าวถึงระบบที่พัฒนาขึ้นว่า ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ซึ่งส่วนแรกคือ เว็บแอพลิเคชั่น เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลภายในอาคาร โดยต้องมีคนที่ดูแลเว็บหรือ admin ทำหน้าที่เก็บข้อมูลภาพ และตำแหน่งที่สำคัญในแต่ละจุด แต่ละอาคารเพื่อนำมารวบรวมลงในเว็บแอพลิชั่นและประมวลผลออกมาเป็นแผนที่โดยละเอียด ส่วนที่สองคือ รองเท้า pedometer หรือเครื่องนับก้าว ใช้ในการเก็บข้อมูลจำนวนก้าวการเดิน ซึ่งจะใช้ควบคู่กับส่วนสุดท้ายคือ แอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ที่จะดึงข้อมูลจากเว็บมาใช้งานในการนำทาง

“เมื่อผู้พิการทางสายตาต้องการใช้งานแอพลิเคชั่นนี้ต้องสวมใส่รองเท้า pedometer สำหรับการนับก้าวเดินโดยเริ่มต้นแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์ จะสอบถามจุดหมายปลายทางของผู้ใช้งาน จากนั้นระบบจะโหลดข้อมูลแผนที่จาก sever ของเว็บพร้อมเลือกเส้นทางที่สั้นที่สุดและนำทางไปยังปลายทางโดยใช้เสียง เช่น หมุนซ้าย หมนุขวา หรือเดินหน้า ซึ่งจุดเด่นของระบบคือสามารถระบุตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้งานได้โดยอาศัยเข็มทิศที่อยู่ในสมาร์ทโฟนและการก้าวเกินจาก pedometer”

ส่วนน้องแคท กล่าวเสริมว่า แอพลิเคชั่นนี้เป็นตัวช่วยนำทางภายในอาคารสำหรับผู้พิการทางสายตาได้ แต่เรื่องของสิ่งกีดขวาง สภาพพื้นผิวนั้นคงยังต้องอาศัยไม้เท้าช่วยอีกแรง แต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องมีคนมาคอยบอกทางและผู้พิการทางสายตาเองก็จะรู้สึกดีที่พวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เต็มที่มากขึ้น ส่วนแอพลิเคชั่นนี้ได้มีการนำไปทดลองกับผู้พิการทางสายตาจริง โดยไปทดสอบที่อาคารมิวเซียมสยาม พบว่า แอพลิเคชั่นนี้สามารถนำทางผู้พิการทางสายตาให้หยุดชมนิทรรรศการส่วนที่จับต้องได้

ทั้งนี้น้องอิฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า แอพลิเคชั่นนี้ ยังต้องแก้ไขจุดบกพร่องอีกเล็กน้อย เช่น ความคลาดเคลื่อนของจำนวนก้าว เป็นต้น แต่หากมีหน่วยงานหรือผู้สนใจอยากนำระบบนี้ไปใช้กับอาคารสำนักงานหรืออาคารที่มีผู้พิการทางสายตาอยู่ก็ยินดีที่จะแบ่งปันเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่สังคม

อย่างไรก็ตาม น้องๆ นักศึกษากลุ่มนี้นับว่าเป็นกลุ่มเยาวชนที่น่าชื่นชมทั้งในเรื่องแนวคิดดีๆ และการนำความรู้มาสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมโดยผลงาน BAT หรือ blind assistive tool นี้ ได้รับการยอมรับและผ่านเวทีการประกวดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาหลายเวที และล่าสุดกับ รางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขัน “รางวัล เจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ที่ผ่านมา

 

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก