ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

พม่าไม่ได้รบไทย ในประวัติศาสตร์ ไทยรบพม่า : คอลัมน์ สุวรรณภูมิในอาเซียน

หนังสือพิมพ์มิตชนออนไลน์ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558

พม่าไม่ได้รบไทย ในประวัติศาสตร์ ไทยรบพม่า

คอลัมน์ สุวรรณภูมิในอาเซียน

 

 

บางตอนจากเอกสารประกอบโครงการศิลปะภาพถ่ายจากวิถีอาเซียน

 

คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ในทางสากลช้างเป็นสัตว์ท้องถิ่นของดินแดนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์เพราะมีชุกชุมทั่วไป ช้างงานที่ฝึกดีแล้วเป็นสินค้าส่งออกไปอินเดียใต้และลังกา ช้างจึงเป็นสัญลักษณ์ทั้งของพม่าและไทย

 

รูปช้างบนแผนที่ประเทศพม่า [จาก Khin Myo Chit. A WONDERLAND OF BURMESE LEGENDS. Bangkok :Tamarind Press, 1984.]

 

ไทยรบพม่า เป็นข้อความครอบงำสังคมไทยให้มีอคติว่าพม่าเป็นศัตรูทางประวัติศาสตร์ จึงมีกิจกรรมปลุกใจเกลียดพม่า ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

 

มีต้นเรื่องจากหนังสือไทยรบพม่า พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 

แต่พม่าไม่มีสำนึกว่าไทยเป็นศัตรูทางประวัติศาสตร์ เหมือนที่ไทยมีอคติต่อพม่า จึงไม่มีกิจกรรมปลุกใจเกลียดไทย

 

เพราะพม่าไม่ได้รบไทย มีแต่พระเจ้าแผ่นดินอังวะ, หงสาวดี รบกับพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา

 

ไทย, พม่า เพิ่งมี

 

ชื่อประเทศพม่า เพิ่งมีเมื่ออังกฤษยึดครองเป็นอาณานิคมราวหลัง พ.ศ. 2428 (ตรงกับสมัยต้น ร.5) 130 ปีมาแล้ว

 

ชื่อประเทศไทย เพิ่งมีคราวเปลี่ยนจากสยามเป็นไทยเมื่อ พ.ศ. 2482 ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ราว 76 ปีมานี้เอง

 

ถ้าจะเรียกไทยรบพม่าหรือพม่ารบไทย ต้องหลัง พ.ศ. 2482 แต่ไทยกับพม่ามีสงครามเหมือนก่อนตั้งแต่สมัย ร.2 (พ.ศ. 2353-2367)

 

ชื่อประเทศ

 

ยุคอยุธยา ยังไม่เรียกประเทศไทยว่าไทย และพม่า แต่เรียกตามชื่อราชธานีของรัฐต่างๆ ซึ่งมีหลายแห่งหลายชื่อ

 

ไทยเรียกประเทศว่ากรุงศรีอยุธยา เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาแล้วเรียกรัฐอื่นๆ ตามชื่อนั้น เช่น รัฐล้านนา ที่เมืองเชียงใหม่

 

พม่าเรียกประเทศว่ากรุงอังวะ เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่าพระเจ้ากรุงอังวะ แล้วเรียกรัฐอื่นๆ ตามชื่อราชธานีของประเทศนั้น เช่น รัฐหงสาวดี ที่เมืองพะโค

 

ดังนั้น ไทยรบพม่าเป็นคำใหม่ หลังจากอังกฤษยึดครองแล้วเรียกชื่อ "เมืองขึ้น" แห่งนี้ว่า Burma แต่ไทยออกเสียงเพี้ยนเป็น พะ-ม่า ปัจจุบันสะกดว่า พม่า

 

เมียนมา, พม่า

 

เมียนมาร์ (Myanmar) กับพม่า (Bama) เป็นคำเดียวกัน (อังกฤษเรียกเพี้ยนเป็น Burma)

 

เดิมชื่อ พม่า เปลี่ยนเป็น เมียนมาร์ เมื่อ พ.ศ. 2532 (เมียนมาร์ เดิมเขียน เมียนมา)

 

พม่า มาจากไหน?

 

ประวัติศาสตร์พม่า มีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว (เช่นเดียวกับไทย และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ) และนับเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์อาเซียน

 

ประวัติศาสตร์พม่า ยกย่องนับถือบรรพชนหลัก 2 พวก คือ ปยู และ มอญ

 

พุกาม

 

ความเป็นพม่า เริ่มที่รัฐพุกาม (Pagan) ราวหลัง พ.ศ. 1600 ยุคพระเจ้าอโนรธา มังช่อ นับถือพุทธศาสนาเถรวาท มีอำนาจเหนือเมืองมอญที่อยู่ทางใต้ของพุกาม (ร่วมสมัยรัฐละโว้-อโยธยา ในไทย)

 

พุกาม อยู่บนพื้นที่กึ่งทะเลทราย มีแม่น้ำอิรวดีไหลผ่าน มีสถูปเจดีย์นับพันองค์ขนาดมหึมาก่อด้วยอิฐ ล่มสลายจากการรุกรานของพวกมองโกลกองทัพกุบไลข่าน ราว พ.ศ. 1832

 

ศาสนาพม่า

 

พม่านับถือศาสนาพม่า หมายถึง ศาสนาผีที่เคลือบด้วยพุทธศาสนา

 

นัต (nat) คือ ผีบ้านผีเมืองของพม่ามี 37 ตน และมีอิทธิฤทธิ์เป็นที่นับถือยำเกรงกว้างขวาง เพราะล้วนเป็นผีตายโหง

 

หนึ่งในจำนวนนั้นมีนัตของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้รวมอยู่ด้วย

 

ประชากร

 

ในพม่ามีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ รวมกันโดยประมาณมากกว่า 60 ล้านคน

 

พม่า พูดตระกูลภาษาจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan) มี 68% เป็นจำนวนมากสุด

 

นอกนั้นเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ฉาน (ไทยใหญ่) 9%, มอญ 2%, กะเหรี่ยง, อาระกัน (ยะไข่), ชิน, อินเดีย, จีน, ฯลฯ

 

 

ฉาน (Shan)

 

ฉาน หรือ ชาน เพี้ยนจากคำเดิมว่า สยาม

 

มีประชากรราว 9% พูดตระกูลภาษาไทย-ลาว

 

มีศูนย์กลางอยู่ตอนบนของพม่า ทางเหนือติดจีน ทางตะวันออกติดไทย แม่น้ำสาละวินไหลผ่าน

 

[ชื่อแม่น้ำว่าสาละวินเป็นภาษาพม่า แต่ในตำนานล้านนาเรียกแม่น้ำคง คำเดียวกับของ, โขง มาจากคำมอญว่า โคลฺ้ง แปลว่า เส้นทางคมนาคม]

 

เอกสารยุคอยุธยาเรียกไทยใหญ่ เพราะรับพุทธศาสนาแล้วเป็นรัฐก่อนไทยน้อย (ลุ่มน้ำโขง) 

 

มอญ (Mon)

 

พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร มีประชากรราว 2%

 

มีศูนย์กลางอยู่ริมทะเลอันดามันตอนล่างของพม่า ทางทิศตะวันออกติดไทย ยาวลงไปทางทิศใต้

 

มอญ เป็นคนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์บนสุวรรณภูมิไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ถือเป็นบรรพชนคนอาเซียน (รวมไทยด้วย) กลุ่มหนึ่ง

 

มอญ กร่อนคำจาก รามัญ, รฺมนฺ หมายถึง แผ่นดินและผู้คน และ เรฺมญฺ กลายเป็น เมง มีใช้ในล้านนา

 

อักษรมอญ วิวัฒนาการจากอักษรปัลลวะในอินเดียใต้ (ทมิฬ) และอักษรทวารวดี ราวหลัง พ.ศ. 1500 จารบนใบลาน รูปอักษรกลมเพื่อสะดวกในการจาร 

 

ไทยรับพุทธศาสนาเถรวาทจากลังกาผ่านมอญ แล้วรับอักษรมอญดัดแปลงเป็น อักษรธรรม ล้านนา-ล้านช้าง เขียนบนใบลานและปั๊บสา (กระดาษสา)

 

ลายพม่า

 

ลายพม่า (รวมลายมอญ) ได้พื้นฐานจาก 2 ทาง คือ

 

1.ลายดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ของสุวรรณภูมิในศาสนาผี ราว 3,000 ปีมาแล้ว

 

2.ลายกระหนกจากอินเดีย มากับศาสนาพราหมณ์-พุทธ

 

พื้นฐานอย่างนี้มีเหมือนกันหมดทั้งลายลาว, ลายเขมร, ลายเวียดนาม, และลายไทย (ต่อมาจึงมีลายจีนเข้าผสม) นับเป็นวัฒนธรรมร่วมอาเซียน

 

พม่ากินข้าว

 

คนพม่ากินข้าวเป็นอาหารหลัก มาแต่ยุคดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว

 

และน่าเชื่อว่ากินข้าวเหนียว (ข้าวเมล็ดป้อม) เหมือนคนทั้งหลายในสุวรรณภูมิอุษาคเนย์ กับข้าว (กินกับข้าวเหนียว) จึงเป็นประเภท "เน่าแล้วอร่อย" เหมือนเขมร, ลาว, มลายู กับข้าวพม่า-มอญ โดยรวมๆ หลักๆ แล้วไม่ต่างจากไทย

 

งาปิ ภาษาพม่า-มอญ หมายถึง น้ำปลา หรือเครื่องปรุงอาหารทำจากกุ้ง, ปลาเล็กหมักเข้าด้วยกัน แล้วโขลกผึ่งแดดจนได้ที่ ซึ่งตรงกับคำไทยที่ขอยืมมาว่า กะปิ

 

พม่านุ่งโสร่ง

 

มักเข้าใจทั่วไปว่าโสร่งเป็นของพม่าเท่านั้น เพราะพม่านุ่งโสร่ง

 

แต่ภาพสลักเสียมกุกที่ปราสาทนครวัด ราว พ.ศ. 1650 ชาวสยามในขบวนแห่ก็นุ่งผ้าผืนเดียวคล้ายโสร่ง

 

โสร่ง หมายถึง ผ้าผืนใหญ่ใช้นุ่งห่ม โดยเย็บชายผ้าติดกันเป็นถุง เป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียนโบราณ

 

พม่าไม่ได้เผาทำลายอยุธยาทั้งหมด

 

อยุธยาที่เห็นเหลือแต่ซากทุกวันนี้ เป็นฝีมือคนพื้นเมืองและไทยจีนกันเองทั้งนั้น แต่มักโยนบาปเหมาให้พม่าพวกเดียว

 

หลังกรุงแตกอยุธยาถูกทำลายครั้งใหญ่ ไม่มีพม่าเกี่ยวข้องเลย

 

เริ่มจากรื้อกำแพงเมือง ขนอิฐใส่เรือลงไปสร้างกำแพงเมืองกรุงเทพฯ สมัย ร.1

 

ต่อมารื้อกำแพงเมืองส่วนที่เหลือ เพื่อถมทำถนนรอบเกาะ สมัย ร.5

 

กระทั่งหลัง พ.ศ. 2500 ข้าราชการกับพ่อค้านักการเมืองท้องถิ่นร่วมกันจ้างคนรื้อเจดีย์ขายอิฐเก่า แล้วเอาที่ดินสร้างอาคารพาณิชย์ 

 

ไทย-พม่า

 

ภูมิศาสตร์ ทำให้เราเป็นเพื่อนบ้านกัน 

 

วัฒนธรรม ทำให้เรามีมรดกร่วมกัน 

 

เทคโนโลยี ทำให้เราเชื่อมต่อกัน ทั้งโทรคมนาคม อินเตอร์เน็ต ถนน ฯลฯ

 

สำนึกของความเข้าใจ หรือ mentality ทำให้เราเหินห่างจากเครือญาติเพื่อนบ้าน

 

ประวัติศาสตร์ ทำให้เราเป็นศัตรูกัน

 

 

(จากงานไทย-พม่าศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน จัดโดย โตโยต้า และโครงการตำราฯ ที่ ม. นเรศวร จ. พิษณุโลก เมื่อ 18-19 ธ.ค. 2557)

 

 

ภาพประกอบประชาคมอาเซียน

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181