ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

บรูไน ดารุสซาลาม (BRUNEI DARUSSALAM)

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ

รัฐบรูไนดารุสซาลาม (State of Brunei Darussalam)

• ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว

• มีน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ

• มีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรและแรงงาน

• มีนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และส่งเสริม Medical Tourism

• เริ่มพิจารณาขยายการค้าการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย ในภูมิภาคต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับไทยในการเพิ่มการค้า การลงทุนกับบรูไน และร่วมกันเข้าไปลงทุนในประเทศที่สามมากขึ้น

ข้อมูลทั่วไป

 

• ที่ตั้ง

ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียว (ละติจูดที่ 5 เหนือเส้นศูนย์สูตร)

 

• พื้นที่

5,765 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ร้อยละ 70 เป็นป่าไม้เขตร้อน

 

• เมืองหลวง

บันดาร์เสรีเบกาวัน (Bandar Seri Begawan)

 

• ประชากร

414,000 คน ( ปี 2553)

 

• ภาษาราชการ

ภาษามาเลย์ (Malay หรือ Bahasa Melayu)

 

• ศาสนา

อิสลาม (67%) พุทธ (13%) คริสต์ (10%) และอื่น ๆ (10%)

 

• ประมุข

สมเด็จพระราชาธิบดี ฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ (Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu’izzaddin Waddaulah)สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 29

 

• ผู้นำรัฐบาล

สมเด็จพระราชาธิบดี ฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ (Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu’izzaddin Waddaulah)สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 29

 

• รัฐมนตรีต่างประเทศ

เจ้าชายโมฮาเหม็ด โบลเกียห์ (Prince Mohamed Bolkiah)

 

• ระบอบการปกครอง

สมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีเป็น องค์ประมุขผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

• เขตการปกครอง

แบ่งเป็นสี่เขตคือ เขต Brunei-Muara เขต Belait เขต Temburong และเขต Tutong

 

• วันชาติ

23 กุมภาพันธ์

 

• วันสถาปนาความสัมพันธ์

ทางการทูตกับไทย

1 มกราคม 2527

 

• หน่วยเงินตรา

บรูไนดอลลาร์ (1 บรูไนดอลลาร์ ประมาณ 24.23 บาท)

 

• ผลิตภัณฑ์มวลรวม

ภายในประเทศ

12.0 พันล้าน USD (ไทย: 361.8 พันล้านUSD)

 

• รายได้ประชาชาติต่อหัว

28,340 USD(ไทย: 5,351.6USD)

 

• การขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ร้อยละ 3.1 (2553)

 

• สินค้านำเข้าสำคัญ

เครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตร อาทิ ข้าวและผลไม้

 

• สินค้าส่งออกสำคัญ

น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ

 

 

การศึกษาของของบรูไนดารุสซาลามบรูไนดารุสซาลาม

 

ระบบการศึกษา

ประเทศบรูไนดารุสซาลามไม่มีการศึกษาภาคบังคับ แต่การศึกษาเป็นสากล และจัดให้ฟรีสำหรับประชาชนทั่วไป การศึกษาแบ่งออกเป็นระดับก่อนประถมศึกษา 1 ปี ระดับประถมศึกษา 6 ปี ระดับมัธยมศึกษา 7-8 ปี ซึ่งแบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 2-3 ปี และระดับเตรียมอุดมศึกษา 2 ปี และระดับมหาวิทยาลัย 3-4 ปี

 

•  ระดับก่อนประถมศึกษา

เด็กทุกคนต้องเข้าศึกษาในระดับก่อนประถมศึกษา 1 ปี เมื่ออายุ 5 ปี หลังจากนั้นจึงเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษา

 

•  ระดับประถมศึกษา

การศึกษาระดับประถมศึกษาแบ่งออกเป็นสองระดับคือ ระดับประถมต้น 3 ปี และประถมปลาย 2-3 ปี หลังจากจบการศึกษาระดับประถมศึกษา 6 ปี นักเรียนจะต้องเข้ารับการทดสอบข้อสอบกลาง (PCE : Primary Certificate of Examination) ซึ่งการศึกษาในระดับนี้มีจุดประสงค์เพื่อปูพื้นฐานด้านการเขียน การอ่าน และการคำนวณให้แก่นักเรียน เพื่อจะได้นำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง

 

•  ระดับมัธยมศึกษา

การศึกษาระดับมัธยมศึกษารวมใช้เวลา 7-8 ปี (มัธยมศึกษา 1-5 และ เตรียมอุดมศึกษา 2 ปี)

- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีระยะเวลา 3 ปี หลังมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว นักเรียนจะต้องทดสอบ BJCE (Brunei Junior Certificate of Education) จึงสามารถเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเลือกเรียนวิชาด้านช่าง และเทคนิคพื้นฐานที่สถาบันการศึกษาทางเทคนิคและอาชีวศึกษา

- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

มีระยะเวลา 2-3 ปี นักเรียนจะเลือกเรียนสายศิลป์ สายวิทย์ หรือสายอาชีพ ตามแต่ผลการสอบ BJCE หลักจากเรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว (ระดับ 5) เด็กต้องสอบข้อสอบ Brunei-Cambridge General Certificate of Education : BCGCE “O”  level หรือสำเร็จการศึกษาระดับ 6 เด็กต้องสอบข้อสอบ Brunei-Cambridge General Certificate of Education : BCGCE “A” level แล้วจึงจะมีสิทธิ์เรียนต่อระดับเตรียมอุดมศึกษา

- ระดับเตรียมอุดมศึกษา มีระยะเวลา 2 ปี

 

•  ระดับปริญญาตรี

การศึกษาระดับปริญญาตรีจะจัดให้กับเด็กที่มีผลการศึกษาดี มีศักยภาพในการศึกษาต่อได้ หรือศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ซึ่งมีทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวะ และเทคนิคต่าง ๆ วิทยาลัยต่าง ๆ

 

โรงเรียนเอกชน (Non-Government Schools)

โรงเรียนเอกชนมีบทบาทในการช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษาของรัฐบาล โดยโรงเรียนเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการมี 5 ประเภท ได้แก่ โรงเรียนภาคบังคับตามปกติ (ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษา) โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนสอนดนตรี โรงเรียนสอนตัดเสื้อ

 

การศึกษา และการฝึกหัดด้านอาชีวะและเทคนิค

กรมการศึกษาด้านเทคนิค (Department of Technical Education – DTE) เป็นผู้รับผิดชอบดูแลการจัดการศึกษา และการฝึกหัดด้านอาชีวะและเทคนิค (Technical and Vocational Education and Training) และโปรแกรมเกี่ยวกับการศึกษาต่อ (Continuing Education-CE)

 

ระบบการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2528 กำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษ และภาษามาเลย์ในการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 3 ครูจะสอนทุกวิชาด้วยภาษามาเลย์ ยกเว้นวิชาภาษาอังกฤษซึ่งใช้ภาษาอังกฤษในการสอน สำหรับระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป โรงเรียนจะใช้ทั้งภาษามาเลย์ และภาษาอังกฤษในการสอน โดยภาษามาเลย์ใช้สำหรับสอนวิชาเกี่ยวกับมาเลย์ ความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม พลศึกษา ศิลปะและการช่าง และวิชาหน้าที่พลเมือง ส่วนภาษาอังกฤษใช้ในการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นต้น

 

ปรัชญาทางการศึกษา

ปรัชญาด้านการศึกษาตั้งอยู่บนพื้นฐานของปรัชญาประจำชาติของราชวงศ์อิสลาม ซึ่งผนวกองค์ประกอบสำคัญสองประการเข้าด้วยกัน ได้แก่ Naqli (ซึ่งยึดหลักคำสอนอันศักดิ์สิทธิ์แห่งคัมภีร์อัลกุลอ่าน และฮาดิธ) และ Aqil (ซึ่งยึดหลักเหตุและผล)

 

วิสัยทัศน์ทางการศึกษา

เพื่อทำให้คนบรูไนให้มีชีวิตที่สมบูรณ์ และมีความสุข

 

พันธกิจ

กระทรวงศึกษาธิการปรารถนาที่จะให้การศึกษาแก่ประชาชนชาวบรูไนโดยการดำเนินการ และการปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีคุณภาพ เอกลักษณ์ และมีความสมดุล เพื่อสร้างคนที่สมบูรณ์ และมีคุณค่าทั้งต่อศาสนา ประเทศชาติ และเผ่าพันธุ์

 

นโยบายการศึกษา

- จัดระบบการศึกษาของชาติโดยเน้นความสำคัญของภาษามาเลย์ในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติที่เป็นทางการ และใช้ภาษาอื่นๆ ในการสอน เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ

- จัดให้มีการศึกษา 12 ปี แก่นักเรียนทุกคน

- จัดหลักสูตรแบบบูรณาการซึ่งเหมาะสม และสอดคล้องกับข้อสอบของแต่ละระดับการศึกษา

- จัดให้มีการสอนอิสลามศึกษาไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน

- จัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทางการสื่อสาร เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ และมีทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

- จัดกิจกรรมหลักสูตรแกน (เน้นวิชาบังคับ) ที่สอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาแห่งชาติไว้ในโปรแกรมการพัฒนาตนเอง

- เปิดโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้แก่ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และมีประสบการณ์ และมีความต้องการที่จะเรียนต่อในระดับดังกล่าว

- จัดเตรียมอุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของชาติ

- พัฒนาขีดความสามารถด้านสติปัญญา จิตใจ อารมณ์ สังคม และร่างกายของแต่ละบุคคล เพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับพัฒนาสังคม

 

 

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก