ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กฎบัตรอาเซียน

ที่มา: กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ

กฎบัตรอาเซียน

 
พัฒนาการความร่วมมือของอาเซียน ในช่วงแรกๆ หลังการก่อตั้งเน้นความร่วมมือด้านการเมือง ก่อนที่จะขยายไปสู่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา และมีการรวมกลุ่มที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงของบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกและภูมิภาค ความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ทางการเมืองในยุคสงครามเย็นยุติลง รวมทั้งการก้าวเข้าสู่โลกยุคโลกาภิวัตน์ที่มีมหาอำนาจใหม่คือ จีนและอินเดีย และต้องเผชิญกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น โรคระบาด การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ ทำให้อาเซียนต้องปรับตัว และปรับระบบการทำงาน โดยเน้นประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้นโลกปัจจุบันเป็นโลกของ ความร่วมมือในระดับภูมิภาคจะเห็นได้จากการรวมกลุ่มของประเทศต่างๆในยุโรป ละติน อเมริกา เอเชียใต้ และแอฟริกา เพื่อสร้างโอกาส เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และอำนาจต่อรอง อาเซียนจึงจำเป็นต้องวางรากฐานสำหรับการสร้างประชาคมอาเซียนที่ประกอบด้วย 3 เสาหลักคือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนภายในปี 2558
 
กฎบัตรอาเซียนเป็นความตกลงระหว่างประเทศสมาชิกที่กำหนดกรอบโครงสร้างองค์กร เป้าหมาย หลักการ และกลไกที่สำคัญต่างๆ ของอาเซียน และให้สถานะนิติบุคคลแก่อาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์  เพื่อ (1) เพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนในการดำเนินการตามเป้าหมายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2558  (2) สร้างกลไกที่จะส่งเสริมให้รัฐสมาชิกปฏิบัติตามความตกลงต่างๆ ของอาเซียน และ (3) ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่าง แท้จริงมากขึ้น
 
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี ปี 2546 ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้ง ประชาคมอาเซียนภายในปี 2563 (ค.ศ.2020) ต่อมา ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว ปี 2547 ผู้นำได้เห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (Vientiane Action Programme –VAP) ซึ่งกำหนดมาตรการในการขับเคลื่อนการสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งรวมถึงการจัดทำกฎบัตรอาเซียนด้วย ซึ่งผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11 ปีถัดมา ได้เห็นชอบให้จัดทำกฎบัตรอาเซียนและตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องกฎบัตร อาเซียน (Eminent Persons Group on the ASEAN Charter-EPG) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทางการรวมตัวของอาเซียนและสาระสำคัญที่ควร มีปรากฏในกฎบัตรอาเซียน การร่างกฎบัตรอาเซียนทำกันในปี 2549 โดยให้คณะทำงานระดับสูง และได้เสนอให้ผู้นำอาเซียนลงนามในกฎบัตรอาเซียนระหว่างการประชุมสุดยอด อาเซียน ครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ ปี 2550
 

ความสำคัญของกฎบัตรอาเซียนต่อประเทศไทย

 
ไทยเป็น 1 ใน 5 ของผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน เป็นสถานที่กำเนิดของอาเซียน และมีบทบาทนำในอาเซียนมาโดยตลอด ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2551-2552 และระหว่างปี 2551-2555  ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ จะเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเป็นการตอกย้ำบทบาทนำของไทย ทั้งนี้ การมีกฎบัตรอาเซียนจะช่วยให้อาเซียนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น จะเป็นการสะท้อนความสำเร็จทั้งของไทยและภูมิภาคนี้โดยรวม
 
กฎบัตรอาเซียนให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตาม พันธกรณีต่างๆ ของประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมหลักประกันให้กับไทยว่าจะสามารถได้รับผลประโยชน์ตามที่ ตกลงกันไว้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ การปรับปรุงการดำเนินงานและโครงสร้างองค์กรของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมาก ขึ้น และการเสริมสร้างความร่วมมือใน 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียนจะเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อ ความต้องการและผลประโยชน์ของรัฐสมาชิก รวมทั้งยกสถานะและอำนาจต่อรอง และภาพลักษณ์ของประเทศสมาชิกในเวทีระหว่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้ เรื่องใหม่ในอาเซียนที่ไทยผลักดันให้ปรากฏในกฎบัตรฯ ได้แก่ (1) การจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนของอาเซียน ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดทำ Terms of Reference เพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรนี้ต่อไป (2) การให้อำนาจเลขาธิการอาเซียนสอดส่องและรายงานการปฏิบัติตามความตกลงของรัฐ สมาชิก (3) การจัดตั้งกลไกสำหรับการระงับข้อพิพาทต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิก (4) การระบุให้ผู้นำเป็นผู้ตัดสินว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อรัฐผู้ละเมิดพันธกรณี ตามกฎบัตรฯ อย่างร้ายแรง (5) การเปิดช่องให้ใช้วิธีการอื่นในการตัดสินใจได้หากไม่มีฉันทามติ (6) การให้ความสำคัญกับการส่งเสริม  การปรึกษาหารือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อผลประโยชน์ ร่วม ซึ่งทำให้การตีความหลักการห้ามแทรกแซงกิจการภายในมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (7) การเพิ่มบทบาทของประธานอาเซียนเพื่อให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที (8) การเปิดช่องทางให้อาเซียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรภาคประชาสังคมมากขึ้น และ (9) การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน 2 ครั้งต่อปี จัดตั้งคณะมนตรีเพื่อประสานความร่วมมือในแต่ละ 3 เสาหลัก และการมีคณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการประชุมของอาเซียน เป็นต้น
 

การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย

 
ไทยได้รับหน้าที่ประธานอาเซียน ต่อจากสิงคโปร์ ภายหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 41 ที่สิงคโปร์ในเดือน ก.ค. 2551 การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญเนื่องจาก (1) กฎบัตรอาเซียนจะมีผลใช้บังคับ (2) การจัดทำแผนงานสำหรับการจัดตั้งประชาคมการเมืองความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมเพื่อมุ่งไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 และ (3) อยู่ในช่วงเวลาเดียวกับที่คนไทย คือ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ดำรง ตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน (วาระ 5 ปี ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2551-31 ธ.ค. 2555)
 
โดยที่กฎบัตรอาเซียนกำหนดให้ วาระการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นไปตามปีปฏิทิน ดังนั้น ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือนคือ ตั้งแต่ ก.ค. 2551 – ธ.ค. 2552
 

ยุทธศาสตร์การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย

 
กระทรวงการต่างประเทศได้หารือ กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในวาระที่ ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ดังนี้
 
สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้ประชาชนได้รับทราบ
ส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียน
เสริมสร้างประชาคมการเมืองและความมั่นคงภายในปี 2558
เสริมสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558
เสริมสร้างประชาคมสังคมและวัฒนธรรมภายในปี 2558
ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้กำหนดเป้าหมายสำคัญที่ไทยจะผลักดันในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนไว้ 3 ประการ ได้แก่
 
การอนุวัติข้อผูกพันภายใต้กฎบัตรอาเซียน (Realising the commitments under the ASEAN Charter) โดยเฉพาะการยกร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ที่จะจัดตั้งขึ้น ได้แก่ กลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน และคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา เป็นต้น
 
การทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชน เป็นจุดศูนย์กลาง (Revitalising ASEAN as a people-centred Community) ซึ่งหมายถึงการเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนในหมู่ประชาชนการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคประชาสังคมในการสร้างประชาคมอาเซียน
 
การเสริมสร้างการพัฒนาและความมั่นคงของ มนุษย์สำหรับประชาชนทุกคนในภูมิภาค (Reinforcing human development and security for all the peoples of the region) โดยส่งเสริมให้ความร่วมมือของอาเซียนตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนให้มาก ที่สุด โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน การจัดการภัยพิบัติและการเสริมสร้างเสถียรภาพด้านการเงินในภูมิภาค
 
นอกจากนี้ ไทยยังจะใช้โอกาสในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนผลักดันความร่วมมือของ อาเซียนและความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา ภายใต้กรอบอาเซียน+1 อาเซียน+3 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit-EAS) ให้ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์และแก้ไขปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเพื่อให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ตอบสนองต่อผล ประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงและสามารถคงความสำคัญของอาเซียนในการดำเนิน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเอาไว้ได้
 
 
 
 
 
 
 

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก