ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

"กระทรวงวิทย์ " พัฒนาชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ 10 เซลล์ ใช้กับผู้พิการทางสายตา ลดค่าใช้จ่ายและการนำเข้าจากต่างประเทศ

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน องค์การมหาชน

              สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาคิดค้น"ชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ 10 เซลล์" หวังให้คนตาบอดใช้อ่านอ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บนจอคอมพิวเตอร์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แม่นยำ เล็งพัฒนาวิธีการผลิตและโปรแกรมให้ได้มาตรฐานสากล ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
 
               ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันซินโครตรอน กล่าวว่า เมื่อปี 2555 ทางสถาบันฯ ได้ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ขนาด 3 เซลล์ด้วยแสงซินโคร
ตรอน เป็นชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ที่ผลิตจากซินโครตรอนครั้งแรกของประเทศ ที่ได้รับประกาศเกียรติคุณ “โครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ” ของคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ประเภทองค์กรของรัฐ ที่มีผลงานโดดเด่นในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ในปีนี้ทางสถาบันฯจึงได้ต่อยอดงานวิจัยโดยการพัฒนาชุดแสดงผลอักษรเบรลล์เป็น 10 เซลล์ (สามารถอ่านต่อเนื่อง 10 ตัวอักษร) ด้วยแสงซินโครตรอน ถือเป็นหนึ่งในงานวิจัยที่สำคัญของสถาบันฯ การพัฒนาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้พิการทางสายตาและสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแสดงผลผลของผู้พิการทางสายตาให้สามารถอ่านข้อมูลได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น
 
               ดร.รุ่งเรือง พัฒนากุล นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ทีมงานวิจัยได้ใช้แสงซินโครตรอนที่มีความเข้มแสงสูงกว่าดวงอาทิตย์ถึงล้านเท่า ซึ่งมีอำนาจทะลุทะลวงสูงในการผลิตชิ้นส่วนของตัวแสดงผลอักษรเบรลล์ ทำให้ได้ชิ้นงานที่มีความคมชัดและแม่นยำสูง จึงสามารถผลิตชิ้นส่วนของเครื่องได้ โดยชุดอักษรเบรลล์ที่ผลิตขึ้นมานี้จะมีโปรแกรมเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่อแปลงอักษรปกติให้เป็นอักษรเบรลล์และจะปรากฏบนเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ เมื่อผู้พิการทางสายตาสัมผัสที่แถวอักษรเบรลล์บนเครื่องจะสามารถอ่านข้อความที่ป้อนผ่านคอมพิวเตอร์ได้ นอกจากนี้ทีมงานวิจัยยังได้นำชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ 10 เซลล์ไปทดสอบกับผู้พิการทางสายตา กับนักเรียนระดับชั้น ป.5 ถึง ม.6 ของโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด จ. นครราชสีมา พบว่าความถูกต้องในการอ่านอยู่ที่ร้อยละ 95 โดยทีมนักวิจัยจะต้องพัฒนาเพิ่มในส่วนของโปรแกรมให้สามารถตัดคำได้อย่างถูกต้องมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถอ่านได้อย่างต่อเนื่อง
“การที่ทางสถาบันฯ ผลิตเครื่องฯ ได้เองนี้จะสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนในการสร้างอุปกรณ์มีราคาถูกลง จากเดิมที่ราคาชุดแสดงผลพร้อมโปรแกรมนำเข้าจากต่างประเทศมีราคา 50,000 บาทต่อเครื่อง แต่ชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ 10 เซลล์ พร้อมโปรแกรมที่สถาบันฯ ผลิตขึ้น หากผลิตเพื่อจำหน่ายจะมรราคาไม่เกินเครื่องละ 10,000บาทเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ผู้พิการมางสายตาสามารถมีกำลังซื้อเป็นของตัวเองได้ ” ดร.รุ่งเรือง กล่าว
 

                   ด้านนายวิชัย สารคล่องรักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนคนตาบอดจ.นครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า  “โครงการนี้ถือเป็นโครการที่สร้างประโยชน์และความสะดวกสบายให้กับผู้พิการทางสายตาอย่างมาก เนื่องจากสามารถทดแทนตำราเรียนอักษรเบรลล์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่มีผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำอย่างจำกัดนอกจากนี้จุด ของอักษรเบรลล์ยังลางเลือนได้ง่าย สิ้นเปลืองพื้นที่จัดเก็บ อีกทั้งกระดาษยังเสียหายจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย ดังนั้นการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้พิการสามารถอ่านผ่านชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ 10 เซลล์ได้นั้น ทำให้ผู้พิการทางสายตาสามารถรับข่าวสารได้สะดวก รวดเร็ว ทันเหตุการณ์และสามารถจัดเก็บข้อมูลได้เป็นจำนวนมากโดยไม่จำเป็นต้องถือหนังสือเบรลล์หลายๆ เล่ม ซึ่งทางโรงเรียนขอขอบคุณทางสถาบันฯ เป็นอย่างมากที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆ มีประโยชน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตาให้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น”
เบอร์โทร 04421-7040  ต่อ 1251-2 โทรสาร 0-4421-7047
อีเมลล์: sasipun@slri.or.th, pr@slri.or.th

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก