ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การยอมรับและการตอบสนอง:ระบบการให้ความช่วยเหลือในระยะแรกเริ่มสำหรับเด็กเล็กที่เสี่ยงต่อความบกพร่องทางการเรียนรู้

Mary Ruth Coleman, Virginia Buysse และ Jennifer Neitzel (2006)
      บทความเรื่องนี้ อธิบายถึงสิ่งที่ได้รู้เกี่ยวกับระบบการให้ความช่วยเหลือแต่เนิ่น ๆ ซึ่งพัฒนา ขึ้นมาสำหรับเด็กเล็ก (อายุประมาณ 3-5 ขวบ) ที่เรียกว่า ‘การยอมรับและการตอบสนอง’ ระบบการยอมรับและตอบสนองนี้ คือ การฝึกฝนเด็กปฐมวัยแบบใหม่ที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือครูและผู้ปกครองในการตอบสนองปัญหาความบกพร่องในเด็กเล็ก ที่อาจมีความเสี่ยงต่อความบกพร่องทางการเรียนรู้ในระยะแรกเริ่มให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเริ่มจากวัย 3 หรือ 4 ขวบก่อนที่เด็กจะต้องพบกับความล้มเหลวในการเรียน และก่อนที่เด็กจะต้องถูกประเมินอย่างเป็นทางการ และมีโอกาสถูกส่งเข้าไปรับการศึกษาพิเศษ การให้ความสนับสนุนแนวคิดของการให้ความช่วยเหลือในระยะแรกเริ่มนี้ มีระบุอยู่ในบทแก้ไขเพิ่มเติมของกฎหมายการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ (Individuals with Disabilities Education Act หรือ IDEA) และในระบบการตอบสนองต่อการสอนที่จัดทำขึ้นสำหรับเด็กในวัยเรียน
 
ที่มาของการยอมรับและตอบสนอง ในกระบวนการตอบสนองต่อการให้ความช่วยเหลือ (RTI)
 
     แบบจำลองของระบบการตอบสนองต่อการให้ความช่วยเหลือ หรือ RTI สำหรับเด็กในวัยเรียนที่กำลังมีความเสี่ยงต่อการเกิดความบกพร่องทางการเรียนรู้ จะเน้นในเรื่องของการป้องกันและการให้ความช่วยเหลือที่มีการอ้างอิงล่วงหน้า RTI จะดูแตกต่างไปจากวิธีการระบุถึงความบกพร่องทางการเรียนรู้แบบเดิม ๆ ตรงที่ระบบนี้ ยอมให้มีการช่วยเหลืออย่างเข้มข้นตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม โดยยึดถือตามคุณลักษณะในการเรียนรู้ และไม่ยอมรอจนกระทั่งเกิดความล้มเหลวขึ้นกับเด็กก่อนที่จะจัดบริการและความช่วยเหลือที่จำเป็นให้ หลักการสำคัญของระบบ RTI อยู่ตรงที่ว่า การให้บริการความช่วยเหลือในระยะแรกเริ่มนี้ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางการ ศึกษาของเด็กจำนวนมากที่เคยประสบปัญหาในการเรียน ทั้งยังช่วยให้สามารถตัดสินได้ว่าเด็กคนใดมีความบกพร่องทางการเรียนรู้อย่างแท้จริง ซึ่งต่างจากเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าที่ควร ที่ถือได้ว่าเกิดจากปัจจัยอื่น เป็นต้นว่า การเรียนการสอนที่ยังไม่เพียงพอ
 
แม้จะพบว่ามีความความคลาดเคลื่อนหลายประการเกิดขึ้นในกระบวนการต้นแบบก็ตาม แต่โดยรวมแล้ว กระบวนการ RTI ก็ยังคงยึดหลักสามประการ คือ
 
ก. การใช้ความช่วยเหลือแบบเพิ่มความเข้มข้นตามระดับชั้นที่ลดหลั่นกัน (Tiers)
ข. วิธีการแก้ปัญหาที่นำมาใช้เพื่อจำแนกและประเมินกลยุทธ์การสอน และ
ค. การประมวลข้อมูลแบบผสมผสานและระบบการประเมินผลเพื่อเฝ้าติดตามดูความก้าวหน้าของเด็ก และชี้แนะเรื่องการตัดสินใจในทุกระดับ 
 
      ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ระเบียบการ/หน้าที่ในการเยียวยาที่เป็นมาตรฐาน คือ การใช้วิธีการให้ความช่วยเหลือแบบอิงงานวิจัยสำหรับกลุ่มเด็กขนาดเล็กที่มีความต้องการคล้ายคลึงกัน ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติเสริมของระบบ RTI
สภาวะแวดล้อมที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กปฐมวัย
 
บริบทสำคัญมากมายทางด้านของเด็กปฐมวัย ก่อให้เกิดความสนใจขึ้นมาในระดับชาติ ในอันที่เน้นความสำคัญของปัญหาด้านการศึกษาในระยะแรกเริ่ม บริบทเหล่านี้ จูงใจให้เกิดทัศนคติต่าง ๆ เกี่ยวกับความสำคัญของบริการต่างๆ ที่จัดให้กับเด็กเล็กและครอบครัว ประกอบด้วย
 
ก. การเน้นความสำคัญในเรื่องการดูแลและการศึกษาที่มีคุณภาพดี
ข. การเคลื่อนไหวเพื่อให้โรงเรียนมีความพร้อม 
ค. การเคลื่อนไหวในระดับชาติเพื่อให้เกิดการศึกษาระดับเตรียมอนุบาล
ง. ความสำคัญของการป้องกันและการให้ความช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม
 
     แต่ละบริบทสะท้อนถึงปัจจัยสำคัญที่ควรนำมาพิจารณา ในการพัฒนาระบบของการให้ความช่วยเหลือในระยะแรกเริ่มแก่เด็กเล็ก ก่อนเริ่มเรียนระดับอนุบาล
 
การสร้างพื้นฐานที่มีความชัดเจนให้กับระบบการยอมรับและตอบสนอง
 
     กรอบความคิดการวิจัยของระบบการยอมรับและตอบสนองได้รับการพัฒนาด้วยความอนุเคราะห์ของมูลนิธิ Emily Hall Tremaine โดยความร่วมมือของ FPG Child Development Institute, National Center for Learning Disabilities, National Association for the Education of Young Children, Communication Consortium Media Center แห่งสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานพันธมิตรหลักประจำรัฐ
 
     กิจกรรมหลักสองอย่างที่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในงานนี้ คือ
1. งานเขียน/บทวิจารณ์อย่างกว้างขวางครอบคลุม เพื่อจัดทำการสังเคราะห์งานวิจัยเรื่องระบบ RTI และ
2. การจัดอภิปรายที่มีเนื้อหาสาระชัดเจนอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือขององค์กร และหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อพัฒนากรอบความคิดการวิจัยของระบบการยอมรับและตอบสนอง ที่ดัดแปลงมาจาก RTI ต้นแบบ
 
การสังเคราะห์งานวิจัยเรื่องระบบ RTI
 
มีการศึกษารวมทั้งหมด 14 เรื่องตรงตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อนำไปผนวกกับงานเขียนบทนิพนธ์/บทวิจารณ์ และใช้เป็นพื้นฐานของงานวิจัยเกี่ยวกับความมีประสิทธิภาพของ RTI การวิเคราะห์ต่าง ๆ นั้น ได้แก่ การประเมินคุณภาพของวิธีวิจัย รวมทั้งคำอธิบายลักษณะพิเศษของผู้เข้าร่วมการศึกษาวิจัย ลักษณะของการให้ความช่วยเหลือ วิธีการประเมินความก้าวหน้าของเด็กและผลที่ได้รับ สิ่งที่พบจากงานวิจัยจะบอกได้ว่า สาระสำคัญที่เกิดขึ้นของหลักฐานที่ได้จากการทดลองใช้หรือการสังเกต ที่จะมาสนับสนุนคำกล่าวอ้างที่ว่า กระบวนการ RTI คือ วิธีการที่ใช้ได้ผลในการจำแนกแยกแยะเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในการเรียนรู้ และในการจัด เตรียมความช่วยเหลือเป็นพิเศษในระหว่างการปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือไม่ก็ในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการเรียนรู้ขึ้น แม้ว่าจะมีความเห็นพ้องต้องกันทุกเรื่อง ในการทำศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการสร้างกรอบความคิดของ RTI ที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบหลักในกระบวนการ และการนำมาใช้ด้วยการจัดระดับชั้นแบบลดหลั่นก็ตาม แต่ก็ยังคงมีความไม่เห็นพ้องต้องกันนักในเรื่องของลักษณะและความชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือเฉพาะราย ระยะเวลา และความเข้มข้นของการให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนเกณฑ์มาตรฐานที่นำมาใช้ในการตัดสินเด็กแต่ละราย ว่าเมื่อใดจะต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเข้มข้น แม้จะมีข้อจำกัดต่างๆ ดังกล่าว สิ่งที่พบจากการสังเคราะห์งานวิจัยก็บ่งบอกว่า กระบวนการ RTI เป็นวิธีปฏิบัติที่ให้ความหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่กระบวนการเน้นถึงความสำคัญของกฎระเบียบทางการเรียนการสอนอย่างแข็งขัน เช่น การเรียนการสอนที่ใช้ได้ผลดีกับเด็กทุกคน การให้ความช่วยเหลือในระยะแรกเริ่ม การใช้วิธีให้ความช่วยเหลือที่อิงงานวิจัย การเฝ้าติดตามดูความก้าวหน้าของเด็ก และวิธีการประเมินผลแบบต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการทำรายงานเรื่องการตัดสินใจด้านการเรียนการสอน
 
กรอบความคิดสำหรับระบบการยอมรับและตอบสนอง
 
        ระบบการยอมรับและตอบสนองนี้ ยึดถือหลักการสำคัญที่ว่า ผู้ปกครองและครูสามารถเรียนรู้ที่จะยอมรับสัญญาณเตือนภัยในระยะแรกเริ่ม ซึ่งจะบ่งบอกว่า เด็กไม่อาจจะเรียนรู้ได้ตามความคาดหวัง และไม่อาจตอบสนองในแนวทางที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จในการเรียนเบื้องต้นของเด็กได้ ระบบการยอมรับและตอบสนองนี้ ยังคงมีความน่าเชื่อถือที่ค่อนข้างจำกัด ในเรื่องของการวินิจฉัยและการให้คำอธิบายอย่างเป็นทางการ ถึงกระนั้น ระบบการยอมรับและตอบสนอง ก็เน้นความสำคัญของวิธีการที่เป็นระบบ ในการตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการศึกษาในระยะแรกเริ่ม ซึ่งประกอบด้วยการประเมินคุณภาพโดยรวม จากประสบการณ์การเรียนรู้ในระยะแรกเริ่มของเด็กทุกคน การแก้ไขดัดแปลงแผนงาน การปรับแต่งกลยุทธ์การเรียนการสอน และการจัดหาความสนับสนุนต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสมกับเด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้เป็นราย ๆ ไป
 
     ระบบการยอมรับและตอบสนอง ประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญ 4 อย่าง คือ
 
1. การจัดระบบตามลำดับขั้นของการให้ความช่วยเหลือ
2. การคัดกรอง การประเมิน และการเฝ้าติดตามดูความก้าวหน้า
3. หลักสูตรที่อิงงานวิจัย การสอน และการให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง  
4. กระบวนการของการร่วมมือกันแก้ปัญหาเพื่อช่วยการตัดสินใจ
 
     ความพยายามต่อไป ควรเน้นไปที่การพัฒนาและประเมินผลส่วนประกอบแต่ละส่วน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในระบบที่มีการบูรณาการไว้นี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของการระบุเรื่องการประเมินผลแบบเฉพาะเจาะจง และกลยุทธ์ของการเรียนการสอนที่บรรจุอยู่ในแต่ละระดับชั้นที่ลดหลั่นของการจัดระบบตามลำดับชั้นในการให้ความช่วยเหลือ
 
รูปที่ A แสดงส่วนประกอบทั้ง 4 อย่างของระบบการยอมรับและตอบสนอง
รูปผังแสดงการแก้ไขปัญหา
การจัดระบบตามลำดับขั้นของการให้ความช่วยเหลือ
 
      การจัดระบบตามลำดับขั้นของการให้ความช่วยเหลือนี้ สะท้อนให้เห็นว่า มีการเพิ่มขึ้นของช่วงระดับความเข้มข้นในการสอนและการให้ความช่วยเหลือ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความต้อง การรับความช่วยเหลือของเด็ก การตัดสินของครูในการเลื่อนจากระดับชั้นที่ลดหลั่นหนึ่งชั้นไปยังระดับชั้นต่อไป อาศัยการคัดเลือกและการประเมินผลข้อมูล ที่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของความร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีผู้ปกครองและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางรวมอยู่ด้วย
 
การคัดกรอง การประเมินผล และการเฝ้าติดตามดูความก้าวหน้า
 
     แผนงานการประเมินผลแบบบูรณาการที่อาศัยวิธีการและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ มากมาย (เช่น การสังเกต รายชื่อ การสุ่มตัวอย่างงาน การประเมินผลแบบอิงหลักสูตร) สามารถนำไปใช้ในการตัดสินว่า เด็กคนใดบ้างที่ตรงกับเกณฑ์มาตรฐานหลัก เด็กคนใดบ้างที่ยังอยู่ในกระบวนการของการพัฒนาทักษะต่าง ๆ และเด็กคนใดบ้าง ที่ยังไม่มีความก้าวหน้าพอ
 
หลักสูตรที่อิงงานวิจัย การเรียนการสอน และการให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง  
 
     เป้าหมายครอบคลุม (Overarching goal) ของระบบการยอมรับและตอบสนอง มีไว้ให้ครูใช้ในการประเมินผล อันเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เพื่อปรับปรุงแผนงานสำหรับเด็กปฐมวัยทั่ว ไป และเพื่อวางแผนสำหรับการให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง แก่เด็กที่ต้องการความช่วย เหลือมากขึ้น ความพยายามต่อไปในอนาคตควรมุ่งเน้นไปที่การระบุมาตรฐานของการให้ความช่วย เหลือแบบอิงงานวิจัย ที่อาจประกอบด้วย ‘เครื่องมือ’ ที่ได้จากการกลั่นกรองวิธีปฏิบัติอย่างเจาะจงของบรรดาครูในการตอบสนองต่อคุณลักษณะในการเรียนรู้รายบุคคลในแต่ละช่วงชั้น (Tier) ของการให้ความช่วยเหลือแบบจัดระบบตามลำดับขั้น
 
กระบวนการของการร่วมมือกันแก้ปัญหา เพื่อการตัดสินใจ
 
     หัวใจสำคัญของกระบวนการแก้ปัญหา คือ การใช้วิธีการประเมินผลเพื่อบอกถึงการตัดสิน ใจ นั่นก็คือ การสร้างตัวเชื่อมระหว่างส่วนประกอบสองอย่างคือ การยอมรับ และการตอบสนอง ที่มีความคล่องตัว กระบวนการดังกล่าว ต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน ความเป็นระบบ และการนำไปใช้ของครู ผู้ปกครอง และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ในการตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติ และในการประเมินประสิทธิผลในเด็กแต่ละราย
 
คำแนะนำสำหรับงานด้านเด็กปฐมวัย
 
     คำแนะนำต่อไปนี้ กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนการพัฒนาในอนาคต การประเมิน ผล และการนำระบบการยอมรับและตอบสนองไปใช้:
 
1. พัฒนาระบบการยอมรับและตอบสนองต่อไป โดย (ก) กำหนดรายละเอียดของส่วน 
     ประกอบทั้ง 4 ส่วน (ได้แก่ การจัดระบบตามลำดับขั้นของการให้ความช่วยเหลือ การ
     คัดเลือก การประเมินผล และการติดตามดูความก้าวหน้า หลักสูตรที่อิงงานวิจัย การเรียน
     การสอน และการให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง รวมทั้งกระบวนการทำงานร่วมกันในการ
     แก้ปัญหาเพื่อการตัดสินใจ และ (ข) จัดทำเครื่องมือและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้
     ส่วนประกอบแต่ละส่วนบรรลุผล
 
2. ประเมินผลความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบการยอมรับและตอบสนองผ่านงานวิจัยในอนาคต
 
3. ใช้การพัฒนาแบบมืออาชีพเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับระบบการยอมรับและตอบสนอง เพื่อให้มืออาชีพด้านเด็กปฐมวัยทั้งหลาย คือ ครู ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และผู้บริหาร ทำหน้าที่เป็นทัพหน้า
 
 4. พัฒนาและประเมินผลการกลยุทธ์เผยแพร่ (ประกอบด้วยวิธีการนำเสนอโดยการใช้ 
     งานพิมพ์ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และวิธีการนำเสนอด้วยวาจา) เพื่อสื่อสารข้อมูลของ
     ระบบการยอมรับและตอบสนองให้แพร่หลายออกไปในหมู่ผู้ปกครองของเด็กเล็ก นักวิจัย
     ผู้กำหนดนโยบาย และประชาชนทั่วไป
 
 5. พัฒนา (หรือปรับเปลี่ยน) นโยบายสาธารณะเกี่ยวกับมาตรฐานของแผนงาน และความ 
     สามารถทางวิชาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนการใช้ระบบการยอมรับและตอบ –
     สนองให้บรรลุผลอย่างกว้างขวาง ผ่านทางหน่วยงานต่าง ๆ ในแวดวงของเด็กปฐมวัย 
     (เช่น ศูนย์และบ้านสำหรับเด็กเล็กแห่งต่างๆ โครงการเด็กเตรียมอนุบาล ทั้งของทางการ
     และเอกชน, เริ่มก่อน-สำเร็จก่อน)  

 

แปลและเรียบเรียงจาก Recognition and Response: An Early Intervention System for Young Children At-Risk for Learning Disabilities By Mary Ruth Coleman, Virginia Buysse, and Jennifer Neitzel (2006) โดยส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181