ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กระจกตาเทียม

คอลัม รู้ไปโม้ด nachart@yahoo.com หนังสือพิมพ์ข่าวสดวันที่ 23 พฤษภาคม 2556

 

สวัสดีค่ะ น้าชาติ

 

อยากทราบเรื่อง การผ่าตัดกระจกตาเทียมค่ะ ช่วยทำให้ตากลับมามองเห็นได้เหมือนเดิมจริงหรือไม่ เพราะเห็นในละครหลายเรื่อง ทั้งไทยและชาติอื่นๆ มักมีเนื้อเรื่องแบบนี้ จึงรบกวนขอคำตอบจากน้าชาติค่ะ

 

สุดท้ายขอขอบคุณที่จะตอบคำถามหนูนะคะ หวังว่าไม่ยากเกินไปนะคะ (อิอิ) แล้วหนูจะรอคำตอบค่ะ

 

 

เฌอ

 

ตอบ เฌอ

 

 

อ่ะ คือในละครนี่นะ ต้องดูก่อนว่า ถ้าบอกว่าผ่าตัดเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายดวงตาใหม่ หรือเปลี่ยนจอประสาทตา อันนี้ยังไม่มีจริง แต่ถ้าบอกว่าเปลี่ยน "กระจกตาดำ" อันนี้เป็นไปได้ คือต้องรอ กระจกตาบริจาคแล้วผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะบริเวณกระจกตา ส่วนคนเป็นต้อกระจก ผ่าตัดออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียม ให้กลับมามองเห็นได้

 

 

 

จากข้อมูลของศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย หากคนไข้มีอาการโรคกระจกตาขุ่น แพทย์จะผ่าตัดใส่กระจกตาเทียมบอสตัน (Boston Keratoprosthesis) ให้เรียกสั้นๆ ว่า เคโปร ประดิษฐ์และพัฒนาโดยศาสตราจารย์โคลส โดห์ลแมน สหรัฐอเมริกา องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) รับรองตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 ทำจากวัสดุที่เรียกว่า polymethylmethacrylate (PMMA) เป็นวัสดุชนิดเดียวกับเลนส์แก้วตาเทียมชนิดที่ใช้ผ่าตัดต้อกระจก

 

ลักษณะของกระจกตาเทียม ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนหน้า มีรูปร่างคล้ายตะปูเกลียว และส่วนหลัง มีรูตรงกลางไว้หมุนเกลียวเข้ากับส่วนหน้า หมอจะผ่าตัดประกบส่วนประกอบทั้งสองกับกระจกตาที่ได้รับจากผู้บริจาค โดยเริ่มจากเจาะรูตรงกลางกระจกตาจากผู้บริจาคและประกอบเข้ากับกระจกตาเทียม จากนั้นจึงผ่าตัดใส่ให้กับผู้ป่วยเช่นเดียวกับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแบบปกติ

 

กระจกตาจากผู้บริจาคจะทำหน้าที่ยึดกระจกตาเทียมกับตาของผู้ป่วย ส่วนตรงกลางเป็นส่วนของกระจกตาเทียม มีผลต่อการมองเห็น 

 

ข้อได้เปรียบของกระจกตาเทียมคือ ถ้าร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อต้านกระจกตาที่ได้รับจากผู้บริจาคจะเกิดการขุ่นได้ แต่จะเป็นการขุ่นเฉพาะบริเวณรอบนอก อาการขุ่นที่เกิดขึ้นไม่มีผลต่อกระจกตาเทียมส่วนตรงกลางจึงไม่ส่งผลต่อการมองเห็น 

 

หลังจากผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาบอสตัน จะมีลักษณะภายนอกคล้ายกระจกตาธรรมชาติและยังช่วยให้ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด จึงกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง บางรายได้สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของคนปกติ แต่การเปลี่ยนกระจกตาเทียมบอสตันไม่ได้ใช้แทนการเปลี่ยนกระจกตาทั่วไป แต่เหมาะสำหรับผู้ป่วยมองเห็นแบบเลือนราง

 

ผู้ป่วยโรคกระจกตาเหล่านี้ต้องมีประสาทตาที่ปกติ ไม่เป็นโรคต้อหินระยะสุดท้าย ไม่เป็นโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองในระดับรุนแรง มีการกะพริบตาและปริมาณน้ำตาที่เป็นปกติ

 

สำหรับผลข้างเคียงของการผ่าตัดกระจกตาเทียมนั้นจะเหมือนการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา คือ อาจมีเลือดออก หรือติดเชื้อในลูกตา ที่แตกต่างไปก็คือ เนื้อเยื่อรอบๆ กระจกตาเทียมที่ประกอบไว้อาจหลุดได้

 

การดูแลรักษาหลังผ่าตัดนั้น จักษุแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใส่คอนแท็กต์เลนส์ตลอดเวลา เพื่อลดอาการระคายเคือง และควรหยอดยาปฏิชีวนะวันละครั้งไปตลอด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อในลูกตา ดังนั้น ผู้ป่วยควรมาตรวจตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

 

โดยสรุป การผ่าตัดใส่กระจกตาเทียมบอสตัน เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยที่เคยล้มเหลวหรือมีโอกาสล้มเหลวสูงถ้าผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแบบทั่วไป กลับมามองเห็นได้อีกครั้งหนึ่ง

 

การผ่าตัดใส่กระจกตาเทียม ยังต้องอาศัยกระจกตาจากผู้บริจาค มาประกอบกับกระจกตาเทียมก่อนผ่าตัดให้กับผู้ป่วย นับเป็นคุณค่าของการบริจาคดวงตา

 

นอกจากนี้เมื่อปี 2552 เคยมีข่าวใหญ่ว่า นพ.อภิวัฒน์ โพธิกำจร แผนกจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี ใช้รากฟันฝังกระจกตาเทียม (Tooth-in-eye operation) รักษาผู้ป่วยตาบอดให้กลับมามองเห็นได้อีกครั้งหนึ่ง

 

ภาพประกอบเทคโนโลยีเพื่อคนพิการ

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก