ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่เพื่อคนตาบอด

          ปี พ.ศ. 2566 อาจจะยังไม่เห็นความแพร่หลายของการใช้เทคโนโลยีเพื่อคนตาบอดมากเท่าที่อยากเห็นกัน แต่จะมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ ดังเช่น การใช้คลื่นเสียงแทนแสงให้ติดตามกัน

          สำหรับคนมีปัญหาในการใช้สายตา ดังเช่น สายตาสั้น สายตายาว ต้อตากระจก ในปัจจุบันมีวิธีการแก้ไขและรักษาที่ได้ผล ดังเช่น การใช้แว่นตา การผ่าตัดต้อตากระจกด้วยเลเซอร์ แต่สำหรับคนตาพิการถึงระดับบอด ก็ได้มีความพยายามในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลายชนิดเพื่อช่วยคนตาบอด

        วิธีหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษคือ วิธีใช้ ตาไบโอนิก (Bionic Eye) ที่ไม่ต้องมีการฝังชิ้นส่วนเข้าไปในตา แต่ใช้อุปกรณ์ติดอยู่กับแว่นตา แล้วส่งสัญญาณแสงไปกระตุ้นเซลล์ประสาทของเรตินาที่ยังทำงานได้ หรือส่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่เส้นประสาทของเรตินา เพื่อส่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าไปยังสมองส่วนการมองเห็น ดังเช่นตาปรกติ

        ได้มีการทดลองตาไบโอนิกกับผู้มีปัญหาด้านสายตามาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด และมีการผลิตออกใช้กับคนตาบอดจริงๆ บ้างแล้ว โดยในสหรัฐอเมริกา ตาไบโอนิกแรกที่ได้รับการรับรองให้ใช้ เมื่อปี พ.ศ. 2563 คือ อาร์กัส 2 (Argus II) เป็นแบบยังต้องฝังอิเล็กโตรดเข้าไปในตา ประกอบด้วยกล้องจิ๋วติดที่แว่นตา ส่งสัญญาณแสงไปที่อิเล็กโตรนฝังอยู่ในเรตินา กระตุ้นเซลล์ของเรตินาให้ส่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าไปตามเส้นประสาทตาสู่สมอง

แต่ค่าใช้จ่ายที่สูงทั้งสำหรับงานการวิจัยและพัฒนา และการใช้กับคนป่วยจริง ทำให้ตาไบโอนิกยังไม่ก้าวหน้าและออกใช้งานจริงมากเท่าที่อยากเห็นกัน

         แล้วก็มีความก้าวหน้าในวิธีการใหม่ๆ เพื่อคนตาบอดให้เห็นได้ ที่กำลังได้รับความสนใจมาก เป็นวิธีการใช้คลื่นเสียงแทนคลื่นแสง แบบเดียวกับการใช้คลื่นเสียงในการถ่ายภาพอัลตราซาวนด์ของทารกในครรภ์มารดา

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 มีรายงานจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย (University oF Southern California) ความสำเร็จครั้งแรก ในการใช้คลื่นเสียงส่งสัญญาณภาพอักษร "ซี" (C) กับหนูตาบอด และโดยการใช้อิเล็กโตรดจับคลื่นการทำงานของสมองส่วนการมองเห็น พบว่า สมองของหนูก็ได้เห็นภาพรางๆ ของอักษร "ซี"

         ในปี พ.ศ. 2566 อาจจะได้เห็นรายงานความก้าวหน้าเพิ่มเติมจากนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย และที่อื่นๆ เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีช่วยคนตาบอด ด้วยคลื่นเสียงแบบอัลตราซาวนด์และอื่นๆ โดยนักวิทยาศาสตร์ที่เซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ตั้งเป้าหมายสูงสุดเป็นคอนแทคเลนส์ ช่วยให้คนตาบอดมองเห็นได้ด้วยคลื่นเสียงอย่างง่ายๆ ดังเช่น คอนแทคเลนส์ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

 

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก