ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“การขับเคลื่อนงานของเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ (ตอนที่ 1)”

บทสัมภาษณ์ : คุณวันเสาร์ ไชยกุล เลขาธิการเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ

          คุณวันเสาร์ ไชยกุล เล่าถึงที่มาของ เครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ ว่า เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพันโทต่อพงษ์ กุลครรชิต อดีตหัวหน้าสำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ อาจารย์ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ อดีต สว.คนพิการ ที่ดำเนินการเรื่องหลักประกัน ต่อมาถึงเรื่องสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ  ประมาณปี 2560 มีการติดต่อประสานงานขอความร่วมมือร่วมใจจัดตั้งเป็น เครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ ในช่วงนั้นทำเป็นโปรเจ็ค เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยน ช่วยเหลือ สนับสนุน เพื่อนคนพิการ ภายใต้แนวคิด “เพื่อนช่วยเพื่อน” มาจากวิธีคิดของคุณหมอสงวน (นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นนายแพทย์ที่มีผลงานดีเด่นในการบุกเบิกและผลักดันโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า) ก่อนที่คุณหมอจะเสียชีวิต ท่านป่วยเป็นมะเร็ง และได้พบข้อดีของการป่วยเป็นมะเร็ง คือ การได้พูดคุยกับเพื่อนที่ประสบการณ์ร่วมในการเป็นโรคมะเร็งด้วยกัน คุณหมอพบว่า จริงแล้วคนที่มีความเจ็บป่วย บางทีเขาต้องการกระบวนการอะไรบางอย่างที่มาช่วย เช่น พูดคุย รับฟัง เข้าอกเข้าใจปัญหา จึงเป็นที่มาของคำว่า เพื่อนช่วยเพื่อน การนำคนพิการที่มีประสบการณ์ความพิการมาทำงานร่วมกับคนพิการที่ยังอยู่ในกระบวนการที่ไม่เข้าใจความพิการ และที่ต้องการความเชื่อมั่นบางอย่างคืนกลับมา และ IL (Independent Living การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ) ซึ่งเป็นแนวคิด ที่ต้องการช่วยเพื่อนคนพิการ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของคุณหมอสงวน การใช้คำว่า เพื่อนช่วยเพื่อน ให้ก้าวข้ามความพิการ สามารถลุกขึ้นมาคิด ตัดสินใจ วางแผนชีวิตของตัวเองได้ด้วยตัวเอง 

          โครงสร้างการทำงานเป็นเครือข่าย เป็นกลุ่มคนทำงานเรื่องคนพิการ ทุกคนมีองค์กรของตัวเอง แต่มาทำงานร่วมกัน เพราะสนใจประเด็นเรื่อง สุขภาพของคนพิการ จึงชวนกันมาทำเป็นเครือข่ายร่วมกัน และมีคนพิการจากส่วนอื่น ๆ มาเชื่อมโยง โดยมีทีมงานส่วนกลางช่วยประสานขับเคลื่อนงาน ในปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็นบุคคลประมาณ 90 ท่าน และองค์กรประมาณ 30 องค์กร โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ขอเพียงเป็นกลุ่ม ชมรม หรือบุคคลที่สนใจทำเรื่องสุขภาพ ทั้งหมดรวมตัวกันเป็นฐานข้อมูลเพื่อให้ทราบว่าแต่ละปี มีเครือข่ายเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เช่น ปี 2563 มีการสำรวจว่า คนที่เป็นเครือข่ายทำงานเรื่องสุขภาพด้านไหน เป็นส่วนไหนของกลไกสุขภาพ ซึ่งกำลังคิดการจัดรูปแบบใหม่ของสมาชิก ในอนาคตอาจมีการสมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการ เพื่อทบทวนความรู้ ความเข้าใจ หรือ สร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจให้สมาชิก

          ในปี 2561 สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งคุณระนอง สุขเกษม ทำงานเรื่องคนพิการในสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม สปสช. ซึ่งสำนักนี้มีบทบาทในการสนับสนุนภาคประชาชน ในการเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนระบบหลักประกันด้วยกัน จึงได้ชวนเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ เข้ามาทำงานร่วมกับ สปสช. อีกครั้ง เป็นโครงการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และร่วมกันพัฒนาระบบประกัน โจทย์ที่หนึ่งคือ อยากให้กลุ่มเครือข่ายหรือองค์กรสามารถเชื่อมประสานองค์กรทุกประเภทความพิการที่มีความสนใจเข้าร่วมงาน และสอง ต้องการกลับมาสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรคนพิการกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้เกิดกระบวนการเวทีรับฟังความคิดเห็น ตาม พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดไว้ว่า ต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จึงใช้เวทีนี้กับเครือข่ายคนพิการ เพื่อให้เกิดการเข้าไปมีส่วนร่วม โดยออกแบบว่า 1.ต้องรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายคนพิการทุกประเภท 2.เมื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว ต้องสามารถพัฒนาความคิดเห็นไปสู่การปฏิบัติเป็นข้อเสนอได้ 3.รวบรวมประเด็นที่ได้รับฟังส่งกลับให้เครือข่ายคนพิการนำกลับไปศึกษา เพื่อให้เครือข่ายทราบว่า ในแต่ละปีมีประเด็นใดถูกผลักดันแล้ว และประเด็นใดยังไม่ถูกผลักดัน หรือมีประเด็นใดที่ยังไม่อยากทำ 4.ต้องมีประเด็นร่วม ผลักดันร่วมกันภายในปีนั้น เช่น ปี 2561 ได้ข้อเสนอ 100 ข้อ จัดหมวดหมู่เป็น 5 หมวดใหญ่ ๆ ได้ประเด็นร่วม 2 ข้อ คือ 1.ขอให้ สปสช. จัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์สำหรับคนพิการให้ครบ 26 รายการ ซึ่งตามกฎหมายคนพิการมีสิทธิ์เข้าถึงบริการฟื้นฟู 26 รายการ ซี่งในปี 2561 ยังจัดไม่ครบ 2.การเข้าถึงการฟื้นฟูมีปัญหาหลายอย่าง เช่น การบริการมีไม่ครบ ไม่สามารถรับบริการฟื้นฟูได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดแนวคิด ศูนย์บริการคนพิการ โดยองค์กรคนพิการ หลังจากจัดเวทีฯและสรุปข้อเสนอต่อ สปสช. จึงเป็นที่มาของการพัฒนาข้อเสนอให้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนโดยเครือข่าย

          การเป็นหน่วยร่วมให้บริการ ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ออกระเบียบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ ต้องเป็นศูนย์บริการคนพิการทั่วไป จึงสามารถขึ้นทะเบียนเพื่อรับการตรวจประเมิน จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อจัดบริการฟื้นฟูได้ และเป็นเรื่องมาตรฐานองค์กรที่บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เนื่องจาก พรบ.ส่งเสริมฯ มาตรา 20 เรื่องการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนบริการสาธารณะ ถูกระบุไว้ว่า การเข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ตามประกาศที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด คือ คนพิการต้องเข้าถึงบริการฟื้นฟู 26 รายการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีคู่มือแนวทางและหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกัน การจัดบริการทางการแพทย์ ผู้จัดบริการต้องเป็นแพทย์ มีใบประกอบโรคศิลป์ คนพิการต่อให้มีความรู้ ความสามารถในการบริการไม่สามารถเข้าจัดบริการทางการแพทย์ได้ แต่มีบริการที่ 24 คือ บริการฝึกทักษะการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ที่คุณสมบัติผู้ให้บริการไม่ได้ระบุว่า เป็นคุณสมบัติของนักวิชาชีพ ในนั้นใช้คำว่า เจ้าหน้าที่จากศูนย์การดำรงชีวิตหรือบุคลากรที่ผ่านหลักสูตรอบรมและได้ใบรับรองทางการแทพย์เป็นบริการเดียวที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ สามารถจัดบริการฝึกทักษะการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานได้ โดยมี 2 ช่องคือ เป็นศูนย์บริการ และ สามารถจัดบริการฝึกทักษะการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน พบว่า ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการเข้าเงื่อนไข จึงได้มีการผลักดัน ให้ศูนย์ที่มีความพร้อม 3 ศูนย์ คือ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการจังหวัดชลบุรี ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการจังหวัดนนทบุรี และศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการจังหวัดปทุมธานี 

          คุณวันเสาร์ ทิ้งท้ายว่า “ถ้าองค์กรคนพิการมีความประสงค์ที่จะจัดตั้งศูนย์ฯ ต้องตรวจสอบก่อนว่า เข้าเงื่อนไขหรือไม่ ถ้าอยู่ในเงื่อนไขแต่ยังขาดบางส่วน เช่น เรื่องนักวิชาชีพ อาจจะต้องมีกระบวนการผลักดัน แต่ถ้าคุณสมบัติครบถ้วนสามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยร่วมบริการ และจ้างนักวิชาชีพมาจัดบริการ แต่ถ้าอยากให้คนพิการดำเนินการเอง ซึ่งปัจจุบันมี 4 องค์กรที่จดทะเบียนและเปิดให้บริการแล้ว คือ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการจังหวัดชลบุรี ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการจังหวัดนนทบุรี ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการจังหวัดปทุมธานี และมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ที่ขอเปิดบริการชื่อว่า นวดเพื่อฟื้นฟูเด็กพิการ” 

 

 

รายการรวมใจเป็นหนึ่ง ออกอากาศทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 18.30-19.00 น. ทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz หรือ www.moeradiothai.net

ภาพประกอบรายการวิทยุรวมใจเป็นหนึ่ง

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก