ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“อาชีพพิธีกรคนหูหนวก”

บทสัมภาษณ์ : คุณภัทรมน หวานดี พิธีกรคนหูหนวก รายการ D – มีดี และล่ามภาษามือคุณนุชริน รัญยะวิช ออกอากาศ : วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 รายการรวมใจเป็นหนึ่ง

          คุณภัทรมน กล่าวว่า ตอนที่แม่ตั้งท้องแล้วป่วย เมื่อคลอดออกมากลายเป็นคนหูหนวกตั้งแต่กำเนิด ทำให้มีปัญหาและอุปสรรคตั้งแต่เล็กจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่เล็ก ๆ อยากสื่อสารกับแม่แต่ไม่สามารถทำได้ แต่ด้วยความที่อยู่กับแม่มาตลอด พยายามสื่อสารกันตลอด เมื่อโตขึ้นแม่ส่งไปเรียนที่ เชียงใหม่ การสื่อสารกับแม่ครั้งแรกใช้ท่าทาง เช่น เวลากินข้าวใช้ถือถ้วยและลักษณะการป้อน เป็นต้น และไม่ค่อยได้ไปคุยกะใครเพราะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง อาศัยเวลาไปโรงเรียน ได้ไปเจอเพื่อน ๆ และได้เรียนรู้ภาษามือ เรียนรู้ศัพท์ใหม่ ๆ เพราะเป็นโรงเรียนเฉพาะทางของคนหูหนวก และทางโรงเรียนมีครูภาษามือคอยสอน หลังจากจบ มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ได้มีโอกาสทำงานที่โรงแรม 1 ปี ระหว่างรอหลักสูตรที่วิทยาลัยราชสุดา และศึกษาต่อ 5 ปี ด้านภาษามือไทย เป็นหลักสูตรการสอนภาษามือไทยโดยเฉพาะ

         ทำงานที่โรงพยาบาลเอกชน ที่จังหวัดชลบุรี อยู่แผนกไอที โดยเก็บข้อมูลของอุปกรณ์ และได้โอกาสรับเชิญให้เป็นพิธีกรภาษามือในรายการโทรทัศน์ อยากให้คนหูหนวกได้ความรู้ ที่สำคัญได้เป็นพิธีกรรายการ “D-มีดี” ซึ่งเป็นรายการเพื่อคนพิการเต็มรูปแบบ บอกเล่าเรื่องราวของคนพิการหลายแบบ ทั้งพิการทางร่างกาย ทางการมองเห็น และทางการได้ยิน ให้รู้จักการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุข ปลอดภัยจากสื่อที่ไม่ดี โดยรายการออกอากาศทุกเสาร์-อาทิตย์ ททบ.5 เวลา 18.00น. เนื้อหาของรายการเป็นการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ รายการจะไม่มีอุปสรรคในการสื่อสาร เพราะมีล่ามภาษามือช่วยในการสื่อสารกับคนหูดี เวลาคนหูหนวกสื่อสารกับคนหูดีต้องใช้ล่ามภาษามือช่วยประหยัดเวลา นอกจากนั้นยังมี คำบรรยายแทนเสียง (CC) และ เสียงบรรยายภาพ (AD)

          การใช้ชีวิต คือ ทำงานประจำและทำงานร่วมกับคนหูดีได้ เพราะมีหลายวิธีในการสื่อสารในการทำงานใช้วิธีเขียนสื่อสารกับเพื่อนในที่ทำงาน แต่ในการเป็นพิธีกรใช้ภาษมือในการสื่อสาร เป็นการฝึกทักษะให้ใช้ภาษามือได้ดีขึ้น ส่วนในชีวิตประจำวันถึงจะเป็นคนหูหนวกแต่ทำทุกอย่างเหมือนคนหูดี เหมือนคนทั่ว ๆ ไป และที่สำคัญทุกวันนี้มีเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วย ทำให้คนหูหนวกใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

          คุณภัทรมน ทิ้งท้ายว่า “เวลาเจอคนหูหนวกไม่ต้องสงสาร ไม่ต้องกลัวที่จะเข้าไปคุย สามารถเข้ามาสื่อสารกับคนหูหนวกได้โดยใช้วิธีการสื่อสารที่สะดวกในตอนนั้น หรือสนใจเรียนรู้ภาษามือคนหูหนวกสามารถสอนได้ด้วย ไม่ต้องคิดว่าคนหูหนวกไม่สามารถทำอะไรได้ คนหูหนวกมีศักยภาพ สามารถใช้ชีวิตได้และทำอะไรได้หลายอย่าง ขอแค่มีความกล้าที่จะเข้ามา และสำหรับคนหูหนวกให้คิดว่า เราจะต้องโดนคนอื่นแกล้งเสมอไปกวนคนอื่น เราต้องแสดงศักยภาพให้คนอื่นได้เห็น แล้วพยายามสื่อสารในหลาย ๆ วิธีที่สามารถได้ จะไม่คิดว่าเป็นคนหูหนวกทำไม่ได้ อย่างแรกคือ กำลังใจ และคิดว่า คนทั่วไปทำได้ เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน เพราะปัจจุบันเห็นคนหูหนวกไม่มีความมั่นใจ อยากให้คิดว่าเราก็มีสิทธิ มีศักดิ์ศรีเท่ากับคนอื่น เราสามารถทำได้เหมือนกับคนอื่น”  

รายการรวมใจเป็นหนึ่ง ออกอากาศทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 18.30-19.00 น. ทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz หรือ www.moeradiothai.net

ภาพประกอบรายการวิทยุรวมใจเป็นหนึ่ง

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก