ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นักวิจัยเยอรมนีประดิษฐ์ ‘อุปกรณ์ช่วยนำทางคนตาบอด’ ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ

https://www.beartai.com/brief/926723

                ความหวังที่จะทำให้คนตาบอดสามารถกลับมามองเห็นได้นั้นเริ่มมีความหวังขึ้นอีกเรื่อย ๆ นักวิจัยจากเยอรมนีได้ตีพิมพ์ร่างงานวิจัยใหม่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถช่วยให้คนตาบอดสามารถเดินทางและหลีกเลี่ยงอุปสรรคกีดขวางได้โดยที่เพียงแค่สวมแว่นตาที่มีระบบอินฟราเรดและติดแผ่นส่งสัญญาณไว้ที่แขนได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า
          ‘มานูเอล ซาห์น’ (Manuel Zahn) และ ‘อาร์มากัน อาหมัด คาห์น’ (Armaghan Ahmad Khan) ผู้วิจัยร่วมจากศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและการจัดการ (Center for Digital Technology and Management) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งมิวนิก (Technische Universität München) ประเทศเยอรมนี ได้ตีพิมพ์ร่างงานวิจัยในเว็บไซต์ arXiv ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา
          ซึ่งเป็นโครงร่างงานวิจัยเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ที่ประกอบไปด้วยแว่นตาที่มีเทคโนโลยีอินฟราเรด และสายรัดที่แขนเพื่อส่งสัญญาณเตือนที่ผลิตขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อช่วยให้คนตาบอดสามารถเดินทางและหลบหลีกสิ่งกีดขวาง และสามารถใช้มือทั้งสองเพื่อในการใช้งานและช่วยสำรวจสภาพแวดล้อมได้ง่ายกว่าการใช้ไม้เท้า ที่ปกติจะต้องจับไม้เท้าด้วย ทำให้เหลือมือในการใช้งานเพียงข้างเดียว ซึ่งไม่สะดวกต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังไม่สามารถวัดระยะของวัตถุที่อยู่ไกลออกไปได้อีกด้วย
          โดยอุปกรณ์นี้จะประกอบไปด้วยแว่นตาที่ผู้วิจัยได้นำเอากล้อง ‘Intel RealSense Camera D415’ 2 ตัว ซึ่งเป็นกล้องแบบ Depth Camera (กล้องตรวจจับความลึกวัตถุ) ที่ใช้อินฟราเรดในการตรวจจับความลึกของวัตถุแบบ 3 มิติ เพื่อนำมาคำนวณระยะของวัตถุที่อยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกันได้ และสามารถใช้ได้ในทุกสภาพแวดล้อม ซึ่งผู้วิจัยกล่าวว่าที่เลือกใช้กล้อง Intel RealSense เพราะว่ามีน้ำหนักเบากว่า เล็กกว่า และต้นทุนถูกกว่ากล้อง Kinect ที่ผลิตโดย Microsoft
          โดยกล้องนี้จะบรรจุอยู่ในกรอบแว่นตาที่ผลิตขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยเมื่อกล้องทั้ง 2 ตัวจับภาพวัตถุที่อยู่ตรงหน้าได้แล้ว จะทำการตรวจจับความลึกของพื้นที่โดยรอบผู้ใช้ด้วยอินฟราเรด ก่อนจะประมวลผลด้วยซีพียูขนาดเล็กที่รันด้วยระบบปฏิบัติการ Linux ออกมาเป็นแผนที่ 3 มิติ และทำการส่งข้อมูลผ่านสายมายังปลอกรัดแขน ซึ่งภายในจะบรรจุมอเตอร์ 25 ตัวและแบตเตอรี่
          เมื่อกล้องสามารถตรวจจับวัตถุที่อาจกีดขวางได้ ก็จะส่งสัญญาณสั่นไปที่มอเตอร์บนปลอกแขนเฉพาะจุด เพื่อให้ผู้ใช้งานรับทราบว่ามีสิ่งกีดขวางอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง เช่น ถ้าสิ่งกีดขวางอยู่ทางซ้าย มอเตอร์ก็จะสั่นเฉพาะด้านซ้าย และเมื่อผู้ใช้งานยิ่งเดินก้าวเข้าไปใกล้ก็จะยิ่งสั่นแรงขึ้นกว่าเดิม (คล้ายกับระบบ ‘Haptic feedback’ หรือระบบสั่นในจอย DualShock ของเครื่องเกม PlayStation)
          ที่สำคัญคือ ด้วยคุณสมบัติของ Intel RealSense นั้นสามารถใช้อินฟราเรดและตรวจจับได้แม้แต่ในที่มืด ข้อดีของอุปกรณ์นี้คือ สามารถนำทางได้แม้แต่ในสถานที่ที่มืดสนิท และตรวจจับวัตถุที่อยู่ไกล ๆ ได้เลย โดยทีมนักวิจัยได้กล่าวว่า “แม้แต่ในยุคปัจจุบัน ผู้พิการทางสายตาก็ยังมีปัญหาในการนำทาง แม้ว่าไม้เท้าจะเป็นเครื่องมือที่คนตาบอดใช้มากที่สุด และมันก็ช่วยให้สามารถตรวจจับวัตถุที่อยู่ใกล้เคียงกับผู้ใช้งานได้ดี แต่ก็ยังขาดความสามารถในการตรวจจับสิ่งกีดขวางที่อยู่ห่างไกลออกไป”
          จากการทดสอบอุปกรณ์ในสถานการณ์จำลองหลากหลายแบบ เช่นในสถานที่ที่มีสิ่งกีดขวางทั้งในร่มและกลางแจ้ง รวมถึงสถานที่ที่มีสภาพแสงแตกต่างกัน ทั้งสว่างและมืดมิด และการปรับปรุงอุปกรณ์หลายเวอร์ชัน พบว่าสามารถช่วยให้ผู้ใช้นำทางได้อย่างถูกต้องถึง 98,6% ผู้เข้ารับการทดสอบทั้ง 5 คนสามารถผ่านการทดสอบในสถานการณ์จำลองได้ดีขึ้นในครั้งแรก และเรียนรู้ในการหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ดียิ่งขึ้นในการทดสอบครั้งหลัง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งนักวิจัยกำลังจะพัฒนาส่วนต่าง ๆ ของอุปกรณ์ เช่น ระบบการสั่นแบบใหม่ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
 

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก