ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“การรับมือในการดูแลเด็กพิเศษ”

บทสัมภาษณ์ : คุณรัตนาวรรณ รัตนศรี ผู้ปกครองเด็กพิเศษ ออกอากาศ : วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2562 รายการรวมใจเป็นหนึ่ง

          การสอนให้รู้จักการเรียนรู้ในด้านสังคม – การเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมถือเป็นสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่เด็กที่เป็นออทิสติกเป็นพิเศษเพื่อให้เขาได้เข้าใจว่าจริง ๆ แล้วสังคมเองก็เป็นสิ่งที่พวกเขาจำเป็นจะต้องอยู่ต่อไปให้ได้ แม้ว่าเด็กบางคนจะค่อนข้างต่อต้านต่อการเข้าสังคม ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว ทำอะไรเองด้วยตัวคนเดียว คนที่ดูแลก็ต้องรู้จักกับการรับมือในเรื่องนี้ให้ถูกต้องด้วยการพาไปอยู่กับสังคมทั่วไปบ่อย ๆ พร้อมทั้งสอนให้รู้จักการใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่ว ๆ ไปด้วย 

          การเข้าใจในความเป็นตัวตนของเด็ก – สิ่งที่ต้องยอมรับให้ได้ก็คือเด็กออทิสติกก็คือเด็กที่ป่วยเป็นโรค ๆ หนึ่ง เพราะฉะนั้นพฤติกรรมหรือสิ่งต่าง ๆ ที่เขาได้แสดงออกมาในทุกทางก็จะไม่เหมือนกับเด็กทั่วไป ตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ของเด็กเองก็ควรที่จะต้องรับมือในการกระทำของพวกเขาให้ได้ด้วย แต่ถ้าหากพฤติกรรมใดที่มันดูไม่เหมาะสมก็ต้องรู้จักที่จะตักเตือน ว่ากล่าว สั่งสอน เพื่อให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขาทำมันไม่ถูกต้อง

          การสอนให้รู้จักการพูดจา – เด็กออทิสติกบางคนจะไม่ยอมพูด ไม่ยอมสื่อสารใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งตรงจุดนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ผิดอย่างมากหากพ่อแม่ปล่อยเอาไว้ ต้องรู้จักวิธีการดูแลรับมือกับเรื่องพฤติกรรมการพูดด้วยการสอนให้เขาพูดบ่อย ๆ วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือพยายามพูดคุยกับเด็กเองเพื่อให้เด็กรู้สึกว่ามีคนที่ต้องการมีส่วนร่วมในสิ่งที่เขากำลังจะพูด ก็จะทำให้เด็กมีความกล้าในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น ฝึกทักษะสังคมและปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งเราจะเห็นกันอยู่บ่อยครั้งว่าเด็กออทิสติกจะทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งนั่นเกิดจาการที่เขาไม่สามารถที่จะแยกแยะได้ว่าอะไรถูกไม่ถูก อะไรควรไม่ควร ผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องสอนเขาด้วยการลดพฤติกรรมที่รุนแรง หรือก้าวร้าว เช่น เมื่อเขามีพฤติกรรมที่เหมาะสม ควรที่จะให้รางวัล หรือกล่าวชื่นชม เพื่อให้เขารู้สึกดีใจและมีกำลังใจที่จะทำต่อไป

          การฝึกสื่อสาร เด็กที่เป็นออทิสติกจริง ๆ แล้วสามารถที่จะสื่อสารกับคนปกติได้ เพียงแต่ว่าอาจจะช้ากว่าคนปกติมาก ดังนั้นเราจึงควรใช้ความใจเย็น แล้วพูดคุยกับเขาบ่อย ๆ อาจจะเริ่มต้นด้วยการฝึกให้เปล่งเสียง หรือการเป่าลม และการเคลื่อนไหวของปาก เช่น ฝึกให้เป่านกหวีด ลองให้เล่นเป่าฟองสบู่ เป็นต้น หรือฝึกลิ้น เช่น ให้เลียอมยิ้ม เลียลูกอม รวมไปจนถึงการฝึกเล่นเสียงในแก้ว หรือในถ้วย ในส่วนของการสอนศัพท์ให้กับเด็กออทิสติก เราจะต้องสอนในสิ่งที่เขากำลังสนใจอยู่ โดยสังเกตว่าเขากำลังมองอะไรอยู่ จากนั้นเราก็ค่อยบอกว่าสิ่งที่เขามองอยู่เรียกว่าอะไร เป็นต้น หรือจะเป็นการฝึกฟัง เช่น เมื่อยินเสียงนก ก็ช่วยบอกให้เขาเงียบแล้วตั้งใจฟังเสียงนก การทำแบบนี้จะช่วยให้เขาฝึกที่จะจดจ่อฟังสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อฝึกให้มีเป้าหมายในการฟังที่ชัดเจนขึ้น หลังจากนั้นเมื่อเด็กรู้ศัพท์เยอะขึ้น ก็ฝึกให้เขาได้สื่อสารกับเรา และเมื่อเขารู้ว่าตัวเองสามารถที่จะสื่อสารต่าง ๆ หรือสามารถที่จะสื่อสารเพื่อขอสิ่งที่ต้องการได้ เขาก็จะใช้วิธีการสื่อสารมากขึ้นเอง

          การช่วยเหลือตนเอง หมายความว่า สอนให้เขารู้สึกทำกิจวัตรประจําวันด้วยตนเองให้ได้ เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่หากเราทำไปเรื่อย ๆ เขาก็จะสามารถที่จะทำเองได้ โดยที่เราไม่ต้องบอกไม่ต้องสอน ไม่ต้องทำให้ไปตลอด และเมื่อไรที่เขาสามารถทำเองได้ ก็อย่าลืมที่จะกล่าวชม หรือให้รางวัล เพื่อให้เขารู้สึกภูมิใจที่สามารถทำได้

 

รายการรวมใจเป็นหนึ่ง ออกอากาศทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 18.30-19.00 น. ทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 kHz

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก