ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

8 วิธี ลดคำพูดเสียดแทงจิตใจกับคนใกล้ตัว

แนะนำและติชมรายการได้ที่ รายการรวมใจเป็นหนึ่ง ถ.ศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐ รายการรวมใจเป็นหนึ่ง : ออกอากาศ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๒

          1.มองหาข้อดีของคู่สนทนา (Beginning with Positive Aspects) โดยการพยายามหาข้อดี จุดดี ด้านบวกของคู่สนทนา และหยิบยกมาเป็นจุดเริ่มต้นก่อน เช่น การแสดงความยินดี แสดงข้อดี    ของคู่สนทนาก่อน 

           2.ฟังอย่างตั้งใจ (Active listening) การสื่อสารที่ดีควรเป็นไปแบบสองทาง คือการฟังและการพูด แต่ในระยะแรกควรพยายามกระตุ้นให้คู่สนทนาพูดและแสดงออก สร้างบรรยากาศให้คู่สนทนารู้สึกว่า “คู่สนทนาสนใจ และอยากฟัง” และแสดงออกโดยสนใจฟัง จดจำรายละเอียด พยายามเข้าใจความคิดความรู้สึก สอบถามเมื่อสงสัย ให้คู่สนทนาขยายความ และถามความคิด ความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนั้นเป็นระยะ ๆ ในขณะฟังอย่าเพิ่งวางแผนว่าจะพูดอะไรต่อไป ให้สนใจจดจำข้อมูลที่คุ่สนทนาพูดให้ได้ และอ้างอิงถึงในทางบวก 

          3.หลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า “ทำไม” เพราะการใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า “ทำไม.....” มักสื่อสารความหมาย 2 แบบ คือ เธอแย่มาก ทำไมจึงทำเช่นนั้น และถ้ามีเหตุผลดี ๆ การกระทำเช่นนั้นก็อาจเป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วผลที่ตามมามักเป็นด้านลบ คือ คู่สนทนารู้สึกถูกตำหนิว่าตนเองไม่ดี และอาจพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตนเองมากขึ้น ดังนั้นคำถาม “ทำไม” จึงนำไปสู่การโต้เถียงกันในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงคำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ทำไม” เปลี่ยนเป็น “พอจะบอก/พอจะเล่าเกี่ยวกับ....ได้ไหม” “เพราะอะไรถึง.....” “เกิดอะไรขึ้นถึง....” เป็นต้น

          4.ใช้คำพูดที่ขึ้นต้น “ฉัน......” มากกว่า “เธอ.............” ( I - Message) เพราะประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “เธอ” หรือ “คุณ” (You-message) มักแฝงความรู้สึกด้านลบ คุกคาม และตำหนิ การสื่อสารที่ดีควรเปลี่ยนไปเป็นประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “ฉัน” หรือ “ผม” (I –message) ที่สร้างความรู้สึกนุ่มนวลกว่าแทน เช่น จากเดิม เราใช้ You - message คุยกับสามี/แฟนเราว่า “พ่อเห็นแก่ตัวมากเลย เอาแต่เล่นเกม ไม่คิดจะช่วยแม่เลี้ยงลูกเลย” ซึ่งดราม่ามาเต็ม  แต่ลองเปลี่ยนเป็น I –message ว่า “แม่จะรู้สึกดีและขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ ถ้าพ่อช่วยดูลูกให้แม่หน่อย” ดูละมุนขึ้นทันตา และแน่นอนว่าคุณสามีที่รักเต็มใจจะช่วยกับคำพูดประโยคหลังมากกว่าแน่นอนค่ะ 

           5.ถามความรู้สึก สะท้อนความรู้สึก โดยการสอบถามความรู้สึกและสะท้อนความรู้สึก       จะช่วยสร้างความรู้สึกการประคับประคองทางจิตใจ (emotional support) แสดงถึงความเข้าใจ สนใจในคู่สนทนา 

          6.ถามความคิดและสะท้อนความคิด เป็นเทคนิคแสดงความสนใจ พยายามเข้าใจ และให้เกียรติความคิดของคู่สนทนา ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการทำให้คู่สนทนารู้สึกว่าเราพยายามเข้าใจ (ความคิดและความรู้สึก) ของเขา ก่อให้เกิดเกิดความสัมพันธ์ที่ดี 

          7.ใช้ภาษากาย สีหน้า แววตา ท่าทาง ของเราจะสื่อให้คู่สนทนารู้สึกได้ดีกว่าคำพูด ทำให้เกิดความเป็นกันเอง อยากเข้าใจ อยากช่วยเหลือ ไม่ตัดสินคู่สนทนา ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “ใช้ภาษากายอย่างไรให้คุณได้เปรียบ เป็นผู้นำ และก้าวหน้าเร็ว”

          8.ตำหนิที่พฤติกรรมมากกว่าตัวบุคคล ถ้าจะตำหนิคู่สนทนาให้ระวังปฏิกิริยาต่อต้าน ไม่ยอมรับ ซึ่งเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และเมื่อเกิดความรู้สึกไม่ยอมรับ คู่สนทนาจะไม่สนใจฟัง ไม่เชื่อ ไม่เห็นด้วย การสนทนาต่อไปก็ไม่ราบรื่น ดังนั้น วิธีการที่ทำให้คู่สนทนายอมรับ และไม่เสียความรู้สึกด้านดีของตนเองเวลาถูกตำหนิ ก็คือ การตำหนิที่พฤติกรรม ไม่ใช่ตัวบุคคล เช่น จากที่ตำหนิลูกว่า “ตื่นสาย นอนกินบ้านกินเมือง คงไม่เจริญหรอกชาตินี้” เป็น “แม่ว่าการตื่นสายมันไม่ดีเลย” หรือ จากที่ตำหนิแฟนว่า “เธอไม่เคยสนใจฉันเลย สนใจแต่เพื่อน เป็นแฟนที่ไม่ได้เรื่องเลย” เป็น “เค้ารู้สึกไม่ค่อยดีเวลาที่ไม่ได้รับการใส่ใจ” เป็นต้น

ทั้ง 8 วิธีที่นำเสนอไปนั้น ไม่เฉพาะเจาะจงว่าจะใช้เฉพาะกับคนในครอบครัว หรือเฉพาะคนรักนะคะ คุณผู้อ่านสามารถนำไปใช้ในการสนทนาสื่อสารได้กับทุกคนเลย นอกจากนี้ สำหรับการสื่อสารกับคู่รักสามารถอ่านเคล็ดลับเพิ่มเติมได้ในบทความ “สื่อสารกับคนรักอย่างไรไม่ชวนทะเลาะ”  และสำหรับการสื่อสารในทุกสถานการณ์ให้ได้ผล สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “3 วิธีสื่อสารอย่างไรให้ได้ผล 100%”  หวังว่าเทคนิคที่นำมาฝากกันจะทำให้คุณผู้อ่านจะมีความรู้สึกที่ดีกับคู่สนทนา

 

 

รายการรวมใจเป็นหนึ่ง ออกอากาศทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 18.30-19.00 น. ทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 kHz

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก