ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของเด็กหญิงและสตรีพิการ”

บทสัมภาษณ์ : คุณเสาวลักษณ์ ทองก๊วย สตรีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิคนพิการ ออกอากาศ : วันอาทิตย์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒ รายการรวมใจเป็นหนึ่ง

         ผู้หญิงยังคงมีโอกาสจำกัดในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการตัดสินใจ พบว่า มีสัดส่วนผู้หญิงไม่เกินร้อยละ ๑๕ ทั้งการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เนื่องจาก แม้จะไม่มีการกีดกันทางกฎหมายในการลงสมัครเลือกตั้งและการดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เนื่องจากสังคมโดยรวมยังมีทัศนคติแบ่งแยกบทบาทหญิงชายที่ตายตัว ยังจำกัดบทบาทผู้หญิงเป็นเพียงแม่และเมีย ต้องเป็นผู้ตาม จึงยังไม่ยอมรับบทบาทผู้หญิงในการเป็นผู้นำ โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นซึ่งสามารถเลือกสมาชิกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นได้ ๒ คน แต่ส่วนใหญ่ผู้ชายมักจะได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่

          การขาดมาตรการเฉพาะสำหรับผู้หญิงในกลุ่มเปราะบางและมีความแตกต่างหรือความต้องการเฉพาะด้าน รวมถึง หญิงพิการ หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ หญิงมุสลิม เนื่องจากผู้หญิง ในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ บางกลุ่ม ที่ยังดำเนินชีวิตภายใต้ประเพณีที่เลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิง เช่น จำกัดสิทธิในการถือครองที่ดิน  ประเพณีและความเชื่อว่า ลูกสาวไม่มีสิทธิในการรับมรดกที่ดินของครอบครัว  ความเชื่อเรื่องการฉุดผู้หญิง เพื่อไปแต่งงานที่มีการปฏิบัติที่คุกคามต่อผู้หญิง หรือการบังคับเด็กหญิงให้แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ส่งผลให้ขาดโอกาสทางการศึกษา

          การละเลยไม่ให้ความคุ้มครองแก่หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงส่งผลต่อสุขภาวะของผู้หญิงและสมาชิกในครอบครัวตลอดจนสังคมโดยรวม ผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงในชุมชนส่วนใหญ่ ยังต้องยอมทนกับความรุนแรงเพราะเมื่อพยายามที่จะขอความช่วยเหลือจากกลไกท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ตำรวจ มักจะไม่ได้รับความคุ้มครองและอดทนอยู่กับความรุนแรง จากกรณีหญิงที่ทำให้สามีเสียชีวิตสืบเนื่องจากการกระทำความรุนแรงที่ได้รับหรือ จากการต่อสู้ป้องกันตัว สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงในครอบครัว  ก่อนที่ผู้หญิงจะกลายเป็นผู้ต้องหา ต่างก็ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากสามี สั่งสมความกลัวและได้รับผลกระทบจากการถูกกระทำมาเป็นเวลานาน เมื่อเกิดกรณีที่ทำให้สามีเสียชีวิต กลับต้องเผชิญกับข้อหาที่รุนแรง “เจตนาฆ่า” โดยกลไกในกระบวนการยุติธรรมขาดความละเอียดอ่อนและไม่ได้มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่ผู้หญิงถูกทำร้ายมาก่อน เด็ก ๆ ในครอบครัวต้องได้รับผลกระทบขาดคนดูแลเนื่องจากพ่อต้องเสียชีวิตส่วนแม่ต้องถูกดำเนินคดี

          หญิงที่ย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ และถูกล่อลวงทั้งไปถูกบังคับค้าบริการทางเพศ และไปถูกบังคับใช้แรงงานในต่างประเทศยังไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ หญิงผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ต้องถูกซ้ำเติมในดำเนินคดี เพราะกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ไม่มีกรอบระยะเวลา และยากลำบากต่อการติดตาม เมื่อคดีสิ้นสุดไม่มีหลักประกันว่าผู้เสียหายจะได้รับการชดเชยและเยียวยาตามคำพิพากษา ในกรณีที่ศาลตัดสินความผิดแล้ว แต่กลับเป็นภาระของผู้เสียหายที่ต้องติดตามทรัพย์สินของผู้กระทำผิด ซึ่งส่วนใหญ่มีการถ่ายโอนไปก่อนที่จะจบกระบวนการดำเนินคดี  โดยขาดกลไกในการติดตามสิทธิในเงินชดเชยความเสียหาย กรณีตัวอย่าง หญิงไทยกลับจากประเทศอิตาลี ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๔๙ มีการดำเนินคดีเอาผิดกับเอเยนต์ แม้ศาลจะตัดสินให้คนนำพาถูกจำคุก ๑๘ ปี และจ่ายค่าเงินชดเชย แต่ทางผู้เสียหายก็ต้องดิ้นรนติดตามบังคับคดี ส่วนผู้กระทำผิดได้รับการประกันตัวตั้งแต่ศาลยังไม่ตัดสินและหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ

 

รายการรวมใจเป็นหนึ่ง ออกอากาศทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 18.30-19.00 น. ทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 kHz

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก